โอมิครอน ‘รุนแรงน้อยกว่า’ เดลตา แต่ไม่ได้หมายความว่า ‘ไม่รุนแรง’ โดยเฉพาะหากผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคอ้วน รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้จึงยังจำเป็นต้องฉีดวัคซีน 2 เข็มแรก หรือหากฉีดครบแล้วนาน 3-6 เดือนควรได้รับเข็มกระตุ้น
ข้อมูลจากการแถลงข่าวของกรมควบคุมโรค ผู้เสียชีวิตจากโควิดระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 18 กุมภาพันธ์ 2565 ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุจำนวน 666 ราย หรือคิดเป็น 82% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด เมื่อแยกตามประวัติการได้รับวัคซีนพบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน
- ยังไม่ได้รับวัคซีน 387 ราย (58.2%)
- ได้รับ 1 เข็ม 66 ราย (9.9%)
- ได้รับ 2 เข็ม 197 ราย (29.5%)
- ได้รับ 3 เข็มขึ้นไป 16 ราย (2.4%)
ดังนั้นในสถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งแพร่กระจายง่ายและยังมีความรุนแรงในกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดครบ 2 เข็มนาน 3-6 เดือน ควรติดต่อโรงพยาบาลหรือศูนย์ฉีดวัคซีนใกล้บ้านเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว เพราะถึงแม้จะป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ 100% แต่ยังลดความสูญเสียลงได้
ปัจจุบันคำแนะนำระยะเวลาระหว่างเข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้นของกระทรวงสาธารณสุข เป็นดังนี้
- 1 เดือน สำหรับผู้ที่ฉีดสูตร Sinovac/Sinopharm 2 เข็ม
- 3 เดือน สำหรับผู้ที่ฉีดสูตร AstraZeneca 2 เข็ม หรือสูตรไขว้ Sinovac/Sinopharm + AstraZeneca/Pfizer
- 3-6 เดือน สำหรับผู้ที่ฉีดสูตร AstraZeneca 2 เข็ม และต้องการฉีด AstraZeneca เป็นเข็มที่ 3
- 6 เดือน สำหรับผู้ที่ฉีดสูตร Pfizer 2 เข็ม หรือสูตรไขว้ AstraZeneca + Pfizer
ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร
อ้างอิง: