×

ยูเครนต้านทานการบุกของรัสเซียยากแค่ไหน

25.02.2022
  • LOADING...
KEY MESSAGES ยูเครนต้านทานการบุกของรัสเซียยากแค่ไหน

ผ่านไปแล้วเกิน 24 ชั่วโมง หลังรัสเซียเปิดฉากปฏิบัติการทหารโจมตียูเครนจากหลายทิศทาง ซึ่งยูเครนเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในหลายสมรภูมิ รวมทั้งเสียโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลให้รัสเซียยึดครอง ขณะที่มีรายงานจากรัสเซียว่าทหารยูเครนถอยร่นและสละที่มั่นในหลายพื้นที่ทางภาคตะวันออก

 

นักวิเคราะห์มองว่าเป็นเรื่องยากมากที่ยูเครนจะสามารถต้านทานการบุกของรัสเซียได้ ไม่ว่าจะวัดด้วยจำนวนทหาร-อาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งความทันสมัยของฮาร์ดแวร์ต่างๆ และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ยูเครนแทบจะถูกล้อมโดยรัสเซีย โดย เบน แบร์รี จาก International Institute of Strategic Studies (IISS) มองว่า ยูเครนอยู่ในตำแหน่งที่ยากลำบากในการเป็นฝ่ายรับ

 

  • ด้วยพรมแดนติดกันเป็นระยะทางยาวหลายพันไมล์ หากเปรียบยูเครนเป็นหน้าปัดนาฬิกา รัสเซียสามารถบุกได้ที่ตำแหน่ง 10 นาฬิกาไปจนถึง 7 นาฬิกา จากแนวพรมแดนเบลารุสทางเหนือ ที่เป็นพันธมิตรเหนียวแน่นของรัสเซีย เรื่อยมาจนถึงไครเมียทางใต้ ซึ่งเป็นแหลมยุทธศาสตร์ที่รัสเซียผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตั้งแต่ปี 2014   

 

  • ดร.แจ็ก วัตลิง ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน Royal United Services ให้ความเห็นกับ BBC ว่า ยูเครนอยู่ในตำแหน่งที่ยากลำบากมาก ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝั่งตะวันตกประมาณการว่า รัสเซียมีทหาร 190,000 นายอยู่ในบริเวณชายแดนยูเครน ซึ่งมากกว่าทหารประจำการทั้งหมดของยูเครนที่มีอยู่ราว 125,600 นาย

 

  • วัตลิงมองด้วยว่า สิ่งที่ยูเครนเสียเปรียบรัสเซียอย่างแท้จริงอยู่ที่ขีดความสามารถในการครองอากาศ ยูเครนมีเครื่องบินรบในชายแดนเพียง 105 ลำ เทียบกับรัสเซียที่มีมากถึง 300 ลำ ซึ่งวัตลิงวิเคราะห์ว่าด้วยจำนวนที่ต่างกันมากจะทำให้รัสเซียครองน่านฟ้าได้อย่างรวดเร็ว

 

  • นอกจากอากาศยานแล้ว สิ่งสำคัญยังอยู่ที่ระบบป้องกันภัยทางอากาศ ซึ่งหากเปรียบกันแล้วจะเห็นว่า ยูเครนมีระบบป้องกันที่เก่ากว่า และมีข้อจำกัดมากกว่า ขณะที่รัสเซียมีระบบ S-400 ซึ่งสร้างความได้เปรียบเป็นอย่างมาก โดยวัตลิงยกตัวอย่างกรณีอิสราเอลที่สามารถป้องกันตนเองจากการถูกบุกหลายทิศทางได้ก็เพราะอิสราเอลมีความสามารถในการครองอากาศที่เหนือกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ยูเครนไม่มี

 

  • แบร์รีชี้ด้วยว่า รัสเซียมีระบบจรวดพิสัยไกลและขีปนาวุธแบบบูรณาการ ซึ่งทำให้รัสเซียสามารถโจมตีศูนย์บัญชาการและศูนย์ควบคุม รวมทั้งคลังแสง ฐานทัพอากาศและระบบป้องกันภัยทางอากาศของยูเครนจากระยะไกล ซึ่งเกิดขึ้นแล้วกับการที่รัสเซียบอมบ์เป้าหมายใกล้กรุงเคียฟด้วยจรวดร่อนหลายลูก  

 

  • แม้ว่าสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรจะส่งอุปกรณ์ทางทหารไปช่วยเหลือยูเครน แต่ส่วนใหญ่เป็นเพียงขีปนาวุธอากาศสู่อากาศแบบพิสัยใกล้ และอาวุธต่อต้านรถถัง ซึ่งยังไม่เพียงพอ เทียบกับรัสเซียที่มีระบบขีปนาวุธ Iskander ที่น่าเกรงขาม

 

  • วัตลิงเชื่อว่ากองกำลังยูเครนจะถูกขัดขวางไม่ให้สามารถจัดทัพหรือปรับตำแหน่งเพื่อรับมือการรุกคืบของร้สเซียจากทิศทางใดๆ ได้ นอกจากนี้อีกสิ่งที่น่ากังวลคือ หน่วยทหารยูเครนที่ได้รับการฝึกฝนมาดีที่สุด และมีอาวุธพร้อมมากที่สุดในประเทศก็ล้วนประจำการอยู่ในพื้นที่ตะวันออกของยูเครน ใกล้กับเส้นควบคุมในแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ ซึ่งรัสเซียอาจพยายามตัดกำลังด้วยการล้อมทหารเหล่านี้ไว้

 

  • แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า หากการสู้รบขยายไปสู่ตัวเมืองต่างๆ อาจทำให้กองทัพยูเครนมีโอกาสมากขึ้น เพราะในเมืองมีการเตรียมการป้องกันที่ดีกว่า ทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับฝ่ายบุก โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีการสู้รบในเมืองโมซุลของอิรัก

 

  • แบร์รีเชื่อว่า กองกำลังรัสเซียจะพยายามเลี่ยงเมืองต่างๆ ในตอนแรก แต่เป็นไปได้ยากที่รัสเซียจะเลี่ยงการต่อสู้ในเมืองได้ โดยเฉพาะในกรุงเคียฟ ที่มีความสำคัญในทางการเมือง

 

  • ขณะที่วัตลิงมองว่า หากยูเครนสามารถป้องกันเมืองต่างๆ ได้ พวกเขาก็อาจยื้อศึกครั้งนี้ได้ค่อนข้างนาน โดยอาวุธต่อสู้รถถังเบาที่อังกฤษให้มาอาจช่วยยูเครนในการสู้รบระยะประชิด ซึ่งทหารยูเครนสามารถเคลื่อนที่ไปรอบๆ โดยใช้ตึกกำบัง นอกจากนี้พลเรือนยูเครนจำนวนหนึ่งที่ได้รับอาวุธและการฝึกฝนยังช่วยเป็นกำลังเสริมได้อีกแรง ขณะที่รัสเซียไม่สามารถพึ่งพาเพียงการโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่ในการควบคุมเมืองต่างๆ ได้

 

  • อย่างไรก็ตาม วัตลิงเตือนว่า เวลานี้รัสเซียมีสายลับปฏิบัติภารกิจกระจายอยู่ในพื้นที่ ซึ่งอาจมีการแทรกซึมในเคียฟเพื่อสั่นคลอนและโค่นล้มรัฐบาล นอกจากนี้รัสเซียจะพยายามปิดล้อมเมืองต่างๆ และใช้ปืนใหญ่พิสัยไกลในการโจมตีกลุ่มต่อต้าน จากนั้นจะใช้กองกำลังพิเศษและสายลับในการปลิดชีพผู้นำพลเรือน

 

ภาพ: Sefa Karacan / Anadolu Agency / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X