×

เกาะติดวิกฤตยูเครน vs. รัสเซีย สถานการณ์ล่าสุด (25 กุมภาพันธ์ 2565)

โดย THE STANDARD TEAM
25.02.2022
  • LOADING...
เกาะติดวิกฤตยูเครน vs. รัสเซีย

 


25 กุมภาพันธ์ 2565

 

รัสเซียเตือน หากฟินแลนด์หรือสวีเดนเข้าเป็นสมาชิก NATO จะถูกรัสเซียตอบโต้

 

 

วันนี้ (25 กุมภาพันธ์) มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย เตือนว่า การที่ฟินแลนด์หรือสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) จะจุดชนวนให้เกิดการโต้ตอบอย่างจริงจังจากรัสเซีย

 

ในระหว่างการแถลงข่าวในกรุงมอสโก เธอขู่ว่าหากประเทศกลุ่มนอร์ดิกทั้งสองพยายามเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO “จะมีผลที่ตามมาทางการทหารและการเมืองอย่างร้ายแรง ซึ่งจะทำให้ประเทศของเราใช้ขั้นตอนตอบโต้” สำนักข่าวรัสเซียรายงาน

 

“เราถือว่าความมุ่งมั่นของรัฐบาลฟินแลนด์ต่อนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายทหารเป็นปัจจัยสำคัญในการรับรองความมั่นคงและเสถียรภาพในยุโรปตอนเหนือ” ซาคาโรวากล่าว

 

แม้ว่าฟินแลนด์จะร่วมมือกับ NATO ในบางเรื่อง และกำลังเข้าร่วมการประชุมกับ NATO ในกรุงบรัสเซลส์ในวันนี้ แต่ก็ไม่ได้เข้าร่วมกับ NATO อย่างเป็นทางการ และเมื่อเดือนที่แล้ว ซานนา มาริน นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ กล่าวว่า ‘ไม่น่าเป็นไปได้อย่างมาก’ ที่ฟินแลนด์จะสมัครเป็นสมาชิก NATO ระหว่างที่เธอดำรงตำแหน่ง

 

ภาพ: Russian Foreign Ministry / Contributor / Getty Images

อ้างอิง:

 


 

รัสเซียจ่อจำกัดการเข้าถึง Facebook ระบุบัญชีสื่อรัสเซียถูกจำกัดการเข้าถึง ขณะ Meta แถลง เหตุมาจากการปฏิเสธคำขอให้หยุดการตรวจสอบและติดป้ายกำกับเนื้อหา

 

 

Meta บริษัทแม่ของ Facebook กล่าววันนี้ (25 กุมภาพันธ์) ว่ารัสเซียจะจำกัดการใช้บริการ Facebook หลังจากที่โซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่รายดังกล่าวขัดขืนคำสั่งของทางการรัสเซียที่ให้หยุดการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างอิสระและหยุดการติดป้ายกำกับเนื้อหาที่ถูกโพสต์โดย 4 สื่อของรัฐบาลรัสเซียบนแพลตฟอร์มของตน

 

“วันนี้ ทางการรัสเซียสั่งให้เราหยุดการตรวจสอบข้อเท็จจริงอิสระและการติดป้ายกำกับเนื้อหาที่โพสต์บน Facebook โดยองค์กรสื่อของรัฐของรัสเซีย 4 แห่ง” นิค เคล็กก์ จาก Meta กล่าวในแถลงการณ์ “เราปฏิเสธ ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงได้ประกาศว่าพวกเขาจะจำกัดการใช้บริการของเรา”

 

ถ้อยแถลงของเขามีขึ้นหลายชั่วโมงหลังจากที่หน่วยงาน Roskomnadzor ที่กำกับดูแลสื่อของรัสเซียกล่าวว่ากำลังจำกัดการเข้าถึง Facebook โดยกล่าวหาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เรื่องการเซ็นเซอร์สื่อรัสเซีย 4 แห่ง และละเมิดสิทธิ์ของพลเมืองรัสเซีย

 

โดยสำนักข่าว RT ของทางการรัสเซียรายงานว่า Facebook ได้จำกัดการเข้าถึงบัญชีทางการบนของสื่อ 4 แห่ง ซึ่ง AFP ระบุว่า ได้แก่ สถานีโทรทัศน์รัสเซีย Zvezda ที่เชื่อมโยงกับรัฐบาล, สำนักข่าวของรัฐ RIA Novosti และสื่อออนไลน์ Lenta.ru และ Gazeta.ru ทั้งนี้ Roskomnadzor ระบุว่า ได้ส่งคำขอไปยัง Meta เพื่อให้ยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าว และขอคำอธิบายถึงเหตุผลในการบังคับใช้ ซึ่ง Meta เพิกเฉยต่อคำขอนี้

 

RT ยังระบุว่า Facebook ได้เซ็นเซอร์สื่อรัสเซียไปแล้ว 23 ครั้ง ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2020

 

อย่างไรก็ดี Roskomnadzor ไม่ได้ระบุว่ามาตรการดังกล่าวในการจำกัดการเข้าถึง Facebook จะเป็นอย่างไร

 

ความเคลื่อนไหวของมอสโกมีขึ้นไม่กี่วันหลังจากรัสเซียบุกโจมตียูเครนเพื่อนบ้านครั้งใหญ่ นับเป็นวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปในรอบหลายทศวรรษ และเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นหลังการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อจำกัดเสรีภาพออนไลน์สำหรับชาวรัสเซียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

“ชาวรัสเซียทั่วๆ ไปใช้แอปพลิเคชันของเราในการแสดงออกและจัดระบบเพื่อการกระทำ” เคล็กก์กล่าวในแถลงการณ์ “เราต้องการทำให้เสียงของพวกเขาถูกได้ยินต่อไป”

 

ภาพ: KIRILL KUDRYAVTSEV / AFP

อ้างอิง:

 


ปูตินเรียกร้องกองทัพยูเครนล้มรัฐบาลตัวเอง ระบุยูเครนขาดการติดต่อหลังต้องการเจรจาที่วอร์ซอ

 

russia-ukraine-crisis-26022022-4

 

วันนี้ (25 กุมภาพันธ์) วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เรียกร้องให้กองทัพยูเครนโค่นล้มรัฐบาลของบรรดาผู้นำที่เขาเรียกว่าเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ และ ‘กลุ่มผู้ติดยาและนีโอนาซี’

 

ปูตินยังกล่าวหาอีกว่า ‘กลุ่มชาตินิยมยูเครน’ วางอาวุธหนักในพื้นที่อยู่อาศัยของเมืองใหญ่ๆ เพื่อยั่วยุกองทัพรัสเซีย ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่อาจเพิ่มความกลัวว่ารัสเซียกำลังสร้างข้ออ้างในการให้เหตุผลแก่การบาดเจ็บล้มตายของพลเรือน

 

ในการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ เขาเรียกร้องให้กองทัพยูเครน ‘นำอำนาจมาไว้ในมือของคุณเอง’ และไม่ยอมให้กลุ่มชาตินิยมในเคียฟใช้บรรดาครอบครัวของพวกเขาเป็นโล่มนุษย์

 

“ดูเหมือนว่าเราจะเห็นด้วยกับคุณง่ายกว่ากลุ่มติดยาและนีโอนาซี” ปูตินกล่าว โดยกล่าวถึงบรรดาผู้นำในเคียฟภายใต้ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนซึ่งมีเชื้อสายยิว

 

ปูตินซึ่งสั่งให้ทหารรัสเซียบุกยูเครนเมื่อวันพฤหัสบดี (24 กุมภาพันธ์) อ้างว่า ‘กลุ่มชาตินิยม’ ของยูเครนกำลังเตรียมที่จะส่งเครื่องยิงจรวดหลายเครื่องไปยังย่านที่อยู่อาศัยของเมืองต่างๆ ของยูเครน รวมทั้งเคียฟและเมืองคาร์คิฟทางตะวันออกเฉียงเหนือ

 

เขาบอกว่ากลุ่มผู้นำของยูเครน ‘ทำตัวเหมือนผู้ก่อการร้ายทั่วโลก พวกเขากำลังซ่อนตัวอยู่ข้างหลังผู้คนด้วยความหวังว่าจะกล่าวโทษรัสเซียสำหรับการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือน’

 

“เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นตามคำแนะนำของที่ปรึกษาต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ปรึกษาชาวอเมริกัน” ปูตินกล่าว

 

ส่วน ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกของปูติน กล่าวถึงการติดตั้งอาวุธที่มีการกล่าวหาว่า “เราถือว่าสถานการณ์เป็นอันตรายอย่างยิ่ง”

 

ปูตินและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียกล่าวว่า กองทหารของมอสโกมุ่งเป้าไปที่กลุ่มชาตินิยมสุดโต่งในยูเครนเท่านั้น

 

ปูตินยังชมเชยกองทัพรัสเซียโดยกล่าวว่า พวกเขาแสดง ‘ความกล้าหาญและเป็นมืออาชีพ’

 

“พวกเขากำลังประสบความสำเร็จในการแก้ไขงานที่สำคัญที่สุดในการรักษาความมั่นคงของประชาชนและปิตุภูมิของเรา” ปูตินกล่าว

 

ในการประชุมทางโทรศัพท์กับนักข่าว เพสคอฟระบุว่า ทางการยูเครนขาดการติดต่อไปหลังจากระบุว่าต้องการเจรจาในกรุงวอร์ซอของโปแลนด์ แทนที่จะเป็นกรุงมินสก์ของเบลารุสตามที่รัสเซียแนะนำก่อนหน้านี้

 

“หลังจากหยุดไปครู่หนึ่ง ชาวยูเครนบอกว่าพวกเขาต้องการไปวอร์ซอ” เพสคอฟกล่าว “และตอนนี้พวกเขาได้ขาดการติดต่อไปแล้ว”

 

สำนักข่าว RT ของรัสเซียรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกล่าวก่อนหน้านี้ว่าได้เตรียมคณะผู้แทนสำหรับการเจรจาสันติภาพกับเคียฟ ซึ่งประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก แห่งเบลารุส ตกลงที่จะเป็นเจ้าภาพในกรุงมินสก์ การสนทนาขึ้นอยู่กับ ‘พฤติกรรมที่รับผิดชอบของยูเครน’ มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกล่าวเตือน 

 

ขณะที่ RT ยังระบุด้วยว่าการย้ายการเจรจาไปยังกรุงวอร์ซอจะทำให้เกิดปัญหา เนื่องจากโปแลนด์ประกาศเมื่อวันศุกร์ (25 กุมภาพันธ์) ว่าจะปิดน่านฟ้าของตนสำหรับเที่ยวบินของรัสเซียทั้งหมด

 

ภาพ: Alexey Nikolsky / Sputnik / AFP

อ้างอิง:

 


ทำเนียบเครมลินเผย ปูตินพร้อมส่งผู้แทนเจรจากับยูเครนที่เบลารุส ส่วนที่ปรึกษา ปธน.ยูเครน ระบุ ยูเครนพร้อมเจรจารัสเซีย

 

 

ทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียเปิดเผยวันนี้ (25 กุมภาพันธ์) ว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย พร้อมที่จะส่งคณะผู้แทนไปยังเบลารุสเพื่อเจรจากับยูเครน ในขณะที่กองกำลังรัสเซียเข้าสู่กรุงเคียฟในวันที่สองของการบุกยูเครน

 

ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวว่า ผู้นำรัสเซีย ‘พร้อม’ ที่จะส่งผู้แทนระดับสูง ‘เพื่อเจรจากับคณะผู้แทนยูเครน’ ไปยังมินสก์ เมืองหลวงของเบลารุส ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นเจ้าภาพจัดการพูดคุยสันติภาพเกี่ยวกับวิกฤตยูเครนหลายครั้ง

 

เขากล่าวว่า อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ประธานาธิบดีแห่งเบลารุส ซึ่งเป็นพันธมิตรของปูติน บอกว่าเขาจะ ‘สร้างปัจจัยแวดล้อม’ สำหรับการประชุมดังกล่าว

 

อีกด้านหนึ่ง มิไคโล โปโดลยาค ที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครน ก็บอกว่ายูเครนต้องการสันติภาพและพร้อมเจรจากับรัสเซีย รวมถึงประเด็นสถานะเป็นกลางเกี่ยวกับ NATO

 

“ถ้าการเจรจาเป็นไปได้ก็ควรจะถูกจัดขึ้น ถ้าในรัสเซีย พวกเขาบอกว่าต้องการจัดการเจรจา รวมถึงเรื่องสถานะเป็นกลาง เราก็ไม่กลัวเรื่องนี้” เขากล่าวผ่านข้อความ “เราสามารถพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เช่นกัน”

 

“ความพร้อมสำหรับการเจรจาเป็นส่วนหนึ่งของการแสวงหาสันติภาพอย่างไม่ลดละ” เขาระบุ

 

อนึ่ง รัสเซียมีทหารหลายพันนายประจำการอยู่ในเบลารุส และยูเครนกล่าวว่ากำลังถูกโจมตีจากหลายฝ่าย รวมถึงจากเบลารุสด้วย โดยที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เรียกร้องให้มีการเจรจากับผู้นำรัสเซียซ้ำแล้วซ้ำเล่าในระหว่างการผลักดันทางการทูตเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ซึ่งชาติตะวันตกพยายามขัดขวางไม่ให้ปูตินเริ่มการโจมตี

 

หลายชั่วโมงก่อนที่ปูตินจะประกาศว่าเขากำลังส่งทหารไปยูเครน เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนกล่าวว่า เขาพยายามโทรหาปูติน แต่ ‘ไม่มีคำตอบ มีแต่ความเงียบ’ และเมื่อกองทหารรัสเซียเข้าประชิดกรุงเคียฟในวันนี้ เซเลนสกีก็ออกแถลงการณ์ฉบับใหม่เพื่อกระตุ้นให้มีการเจรจา

 

“ผมอยากจะกล่าวต่อประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซียอีกครั้ง การต่อสู้กำลังเกิดขึ้นทั่วยูเครน มานั่งลงที่โต๊ะเจรจาเพื่อหยุดยั้งการเสียชีวิตของผู้คน” เซเลนสกีระบุ

 

ภาพ: BERTRAND GUAY, VALERY SHARIFULIN / AFP / SPUTNIK (ภาพในอดีต)

อ้างอิง:

 


 

‘สีจิ้นผิง’ ต่อสายคุยกับ ‘ปูติน’ พร้อมระบุจีนหนุนรัสเซีย-ยูเครนแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจา ขณะปูตินยันพร้อมเจรจาระดับสูงกับยูเครน

 

 

วันนี้ (25 กุมภาพันธ์) สื่อของรัฐบาลจีนรายงานว่า สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวว่า เขาสนับสนุนการแก้ปัญหาวิกฤตยูเครนผ่านการเจรจา ระหว่างการพูดคุยทางโทรศัพท์กับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย หลังจากรัสเซียเปิดปฏิบัติการบุกยูเครน

 

ในการสรุปเนื้อหาของการพูดคุยที่เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐอย่าง CCTV สีชี้ให้เห็นว่า “สถานการณ์ในยูเครนตะวันออกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว… (และ) จีนสนับสนุนรัสเซียและยูเครนในการแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจา”

 

กองกำลังรัสเซียได้เปิดฉากการบุกโจมตียูเครนอย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มการโจมตีทางอากาศ และส่งกองกำลังเข้าไปในประเทศ หลังความพยายามทางการทูตนานหลายสัปดาห์ล้มเหลวในการขัดขวางไม่ให้ปูตินเริ่มปฏิบัติการทางทหาร

 

AFP รายงานว่า จีนได้ใช้แนวทางทางการทูตที่ระมัดระวังเกี่ยวกับวิกฤตนี้ และปฏิเสธที่จะเรียกสิ่งนี้ว่า ‘การรุกราน’ หรือประณามการกระทำของรัสเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ในสรุปเนื้อหาการพูดคุยดังกล่าว สีระบุว่าจีน ‘ตัดสินจุดยืนตามข้อเท็จจริง’

 

สีกล่าวในการหารือกับปูตินว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะ “ละทิ้งแนวคิดเรื่องสงครามเย็น ให้ความสำคัญและเคารพข้อกังวลด้านความมั่นคงที่สมเหตุสมผลของทุกประเทศ และสร้างกลไกความมั่นคงของยุโรปที่สมดุล มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนผ่านการเจรจา”

 

“จีนสนับสนุนรัสเซียและยูเครนในการแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจา จุดยืนพื้นฐานของจีนในการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกประเทศ และปฏิบัติตามวัตถุประสงค์และหลักการของกฎบัตรสหประชาชาตินั้นมั่นคง” สีระบุกับปูติน

 

และจากการสรุปเนื้อหาการพูดคุยโดยสื่อจีน ปูตินได้สรุปเหตุผลที่รัสเซียได้เริ่ม ‘ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ’ และบอกกับสีว่า องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) และสหรัฐอเมริกา “เพิกเฉยต่อข้อกังวลด้านความปลอดภัยอันสมเหตุสมผลของรัสเซียมานานแล้ว พวกเขาผิดสัญญาซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยังคงเดินหน้าเคลื่อนกำลังทหารไปทางตะวันออก ท้าทายประเด็นสำคัญที่สุดของรัสเซีย”

 

นอกจากนี้ ปูตินยังบอกกับสีทางโทรศัพท์ว่ารัสเซียพร้อมที่จะจัดการเจรจา ‘ระดับสูง’ กับยูเครน

 

สีกล่าวว่า “จีนเต็มใจที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายในประชาคมระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนแนวคิดด้านความมั่นคงร่วมกันที่มีความครอบคลุม ร่วมมือซึ่งกันและกัน และยั่งยืน ตลอดจนปกป้องระบบระหว่างประเทศอย่างมั่นคงโดยมีสหประชาชาติเป็นแกนหลัก” สถานีโทรทัศน์ CCTV ระบุ

 

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนยังรายงานเมื่อวานนี้ (24 กุมภาพันธ์) ว่า หวังอี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนก็ได้พูดคุยกับ เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียเช่นกัน โดยลาฟรอฟได้อธิบายสรุปพัฒนาการของสถานการณ์ในยูเครนและจุดยืนของรัสเซีย โดยซินหัวรายงานว่า ลาฟรอฟกล่าวว่าสหรัฐอเมริกาและ NATO ได้ละเมิดคำมั่นสัญญา, ขยายตัวไปทางตะวันออกอย่างต่อเนื่อง, ปฏิเสธที่จะดำเนินการตามข้อตกลงมินสก์ฉบับใหม่ และฝ่าฝืนมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 2202

 

“รัสเซียถูกบังคับให้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของตนเอง” ลาฟรอฟกล่าวเสริม ตามรายงานของซินหัว

 

นอกจากประเด็นการ ‘ละทิ้งแนวคิดเรื่องสงครามเย็น’ และการ ‘สร้างกลไกความมั่นคงของยุโรปที่สมดุล มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนผ่านการเจรจา’ ที่หวังได้กล่าวกับลาฟรอฟวานนี้ ในทำนองเดียวกับที่สีกล่าวกับปูตินในวันนี้แล้ว หวังกล่าวว่าจีนเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกประเทศมาโดยตลอด และจีนตระหนักดีถึงบริบททางประวัติศาสตร์ที่พิเศษและซับซ้อนของปัญหายูเครน และเข้าใจข้อกังวลด้านความมั่นคงอันถูกต้องตามกฎหมายของรัสเซียด้วย

 

ภาพ: Mikhail Metzel / Contributor / GettyImages (ภาพเมื่อครั้งปูตินประชุมทวิภาคีกับสีจิ้นผิง เมื่อเดือนธันวาคม 2564)

อ้างอิง:

 


 

FIA ประกาศยกเลิกศึก F1 รัสเซียน กรังด์ปรีซ์ 2022 หลังรัสเซียตัดสินใจส่งกำลังบุกยูเครน

 

 

วันนี้ (25 กุมภาพันธ์) สหพันธ์รถยนต์ระหว่างประเทศ หรือ FIA ได้ทำการประชุมร่วมกับศึกฟอร์มูลาวัน และทีมต่างๆ และได้ตัดสินใจ ประกาศยกเลิกการแข่งขันรัสเซียน กรังด์ปรีซ์ 2022 จากการที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ตัดสินส่งกองกำลังบุกเข้ายูเครนเมื่อวันพฤหัส (24 กุมภาพันธ์) ที่ผ่านมา

 

โดยแถลงการณ์ของศึกฟอร์มูลาวัน ระบุว่า “ได้ทำการตกลงกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และมองว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะจัดการแข่งขันรัสเซียน กรังด์ปรีซ์ ในสถานการณ์แบบนี้

 

“จากการที่ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในยูเครน ด้วยความเสียใจและตกใจ เราหวังว่าจะเกิดสันติภาพอย่างรวดเร็ว”

 

สำหรับการแข่งขัน รัสเซียน กรังด์ปรีซ์ ปีนี้มีกำหนดการแข่งขันในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่เมืองโซชิ รัสเซีย แต่ล่าสุดทางฝ่ายจัดการแข่งขันได้ประกาศยกเลิกอย่างเป็นทางการแล้ว

 

อ้างอิง:

 


 

สหประชาชาติประณามการจับกุมชาวรัสเซียผู้ประท้วงต้านการบุกยูเครน เรียกร้องปล่อยตัวทันที

 

 

วันนี้ (25 กุมภาพันธ์) สหประชาชาติประณามการจับกุมประชาชนในรัสเซียที่ประท้วงการบุกยูเครน ซึ่งสหประชาชาติเรียกสิ่งนี้ว่า ‘การจับกุมโดยพลการ’ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวทันที

 

“การจับกุมบุคคลจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือการชุมนุมโดยสงบ ถือเป็นการลิดรอนเสรีภาพโดยพลการ” ราวินา ชัมดาซานิ โฆษกสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงเจนีวา

 

เธอระบุว่า ทางสำนักงานเข้าใจว่า “มีรายงานว่ามีผู้ประท้วงมากกว่า 1,800 คนถูกจับกุม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าขณะนี้มีผู้ได้รับการปล่อยตัวแล้วหรือไม่”

 

ความคิดเห็นของเธอมีขึ้นหนึ่งวันหลังจาก วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ปล่อยให้มีการบุกภาคพื้นดินอย่างเต็มรูปแบบและการโจมตีทางอากาศต่อยูเครน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคนอย่างรวดเร็ว และทำให้ผู้คนต้องพลัดถิ่นอย่างน้อย 100,000 คน ทำให้มีผู้ออกมาประท้วงในเมืองต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งในรัสเซีย

 

ผู้ตรวจสอบอิสระกล่าวว่า ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ประท้วงใน 51 เมืองทั่วรัสเซีย ซึ่งถือเป็นการปราบปรามผู้ที่ไม่เห็นด้วย หลังทางการเตือนประชาชนไม่ให้เดินขบวน

 

“เราขอเรียกร้องให้ทางการตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการเนื่องจากการใช้สิทธิเหล่านี้ทันที” ชัมดาซานิกล่าว

 

มิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกมาเตือนเมื่อวานนี้ (25 กุมภาพันธ์) ว่า การรุกรานของรัสเซีย “ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน และเสี่ยงต่อชีวิตของพลเรือนนับไม่ถ้วน”

 

“มันต้องถูกทำให้หยุดลงทันที” เธอกล่าว

 

เธอกล่าวว่าสำนักงานของเธอจะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตือนว่า “สงครามข้อมูลก็กำลังดำเนินไปเช่นกัน”

 

“ในเวลานี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่เรายังคงติดตามอย่างใกล้ชิด และพยายามตรวจสอบรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือน ความเสียหายต่อวัตถุพลเรือน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และผลกระทบอื่นๆ ต่อสิทธิมนุษยชนในหมู่ประชาชนทั่วไป”

 

ภาพ: ALEXANDER NEMENOV / AFP

อ้างอิง: AFP

 


 

รัสเซียยันพร้อมเจรจายูเครน ย้ำไม่ได้บุกยึด แต่ ‘ปลดกำลังทหาร’ อ้างความชอบธรรมแบบเดียวกับตะวันตกแทรกแซงยูโกสลาเวีย

 

 

17.30 น. เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย แถลงต่อสื่อมวลชนที่กรุงมอสโก ในวันนี้ (25 กุมภาพันธ์) โดยยืนยันท่าทีของรัสเซีย ว่ายังพร้อมเจรจากับรัฐบาลยูเครน หากกองทัพยูเครนยอมจำนน ขณะที่กองทัพรัสเซียเคลื่อนเข้าสู่พื้นที่ตอนเหนือของกรุงเคียฟ
 
 
 
“เราพร้อมสำหรับการเจรจาตอนไหนก็ได้ ตราบใดที่กองทัพยูเครนตอบรับข้อเรียกร้องของเราให้วางอาวุธ” เขากล่าว
 
 
 
ลาฟรอฟเน้นย้ำคำกล่าวของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ว่ารัสเซียไม่ต้องการยึดยูเครน แต่สิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นการปลดกำลังทหารมากกว่า และเมื่อผู้สื่อข่าวถามเขาว่า “ต้องการโค่นล้มประเทศประชาธิปไตยใช่หรือไม่?” ลาฟรอฟกล่าวเป็นนัยว่า “ยูเครนนั้นไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตย” พร้อมทั้งชี้ถึงการปฏิบัติของรัฐบาลยูเครนที่มีต่อประชากรที่พูดภาษารัสเซีย
 
 
 
นอกจากนี้ ลาฟรอฟปฏิเสธข้อกล่าวหาของฝ่ายยูเครน ที่อ้างว่ากองทัพรัสเซียได้โจมตีพลเรือนและโครงสร้างพื้นฐาน แม้จะปรากฏภาพหลักฐานความเสียหายรุนแรงในพื้นที่ชุมชน
 
 
 
ขณะที่เขายังปฏิเสธที่จะตอบคำถามจากผู้สื่อข่าว BBC ซึ่งถามเขาเรื่องความชอบธรรมในการบุกประเทศเพื่อนบ้าน โดยลาฟรอฟอ้างถึงการกระทำของชาติตะวันตกที่แทรกแซงอดีตประเทศยูโกสลาเวีย อิรัก และลิเบีย โดยใช้คำว่า ‘ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย’ บังหน้า ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
 
 
 
ภาพ: Photo by Mikhail Metzel / TASS via Getty Images

 


 

แสงสว่างในวันที่มืดมิด เมื่อประชาคมโลกส่งพลังใจให้ยูเครน

 

russia-ukraine-crisis-25022022-13

 

ทางการในหลายประเทศเปิดไฟส่องสว่างตามสถานที่สำคัญเป็นสีธงชาติยูเครน เพื่อส่งกำลังใจให้แก่ชาวยูเครนทุกคนที่กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ภายหลังผู้นำรัสเซียมีคำสั่งปฏิบัติการพิเศษทางทหาร ตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยสถานการณ์ปัจจุบันส่อเค้าขยายพื้นที่ความขัดแย้งเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น ประชาคมโลกต่างประณามการกระทำดังกล่าวและเรียกร้องให้รัสเซียยุติการใช้ความรุนแรงโดยเร็วที่สุด

 

russia-ukraine-crisis-25022022-13

กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี

 

russia-ukraine-crisis-25022022-13

กรุงโรม อิตาลี

 

russia-ukraine-crisis-25022022-13

ลิเวอร์พูล สหราชอาณาจักร

 

russia-ukraine-crisis-25022022-13

เมลเบิร์น ออสเตรเลีย

 

russia-ukraine-crisis-25022022-13

กรุงสกอเปีย มาซิโดเนียเหนือ

 

russia-ukraine-crisis-25022022-13

กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม

 

russia-ukraine-crisis-25022022-13

กรุงซาราเยโว บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา

 

ภาพ: Hannibal Hanschke / Getty Images / Filippo Monteforte / AFP / Justin Tallis / AFP / Asanya Brendon Ratnayake / AFP / Robert Atanasovski / AFP / Thierry Monasse / Getty Images / Elvis Barukcic / AFP

อ้างอิง: 

 


 

เจ้าหน้าที่ยูเครนยืนยัน กองกำลังของรัสเซียอยู่ในกรุงเคียฟแล้ว

 

 

เจ้าหน้าที่ยูเครนยืนยันผ่านทวิตเตอร์ว่า กองกำลังของรัสเซียอยู่ในกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนแล้ว

 

กระทรวงกลาโหมของยูเครนกล่าวว่า ‘ศัตรู’ อยู่ในเขตโอโบลอน ห่างจากรัฐสภาในกรุงเคียฟไปทางเหนือประมาณ 9 กม. (5.5 ไมล์) ในใจกลางเมือง

 

พวกเขาได้สนับสนุนให้ชาวบ้านทำระเบิดขวดที่เรียกว่า ‘โมโลตอฟ ค็อกเทล’ เพื่อตอบโต้ ในขณะเดียวกันก็แนะนำให้คนอื่นๆ หาที่หลบภัย

 

“ผู้พักอาศัยอย่างสันติ – ระวัง ห้ามออกจากบ้าน!”

 

ผู้สื่อข่าวของ BBC ในกรุงเคียฟรายงานก่อนหน้านี้ว่าได้ยินเสียงปืน แม้ว่าพวกเขาจะเสริมด้วยว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะรู้ว่าเสียงนี้เป็นตัวบ่งชี้ถึงอะไร ณ จุดนี้ อนึ่ง ผู้สื่อข่าวของ BBC ยังรายงานว่าได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้นด้วย

 

ภาพ: NurPhoto / Contributor / GettyImages

อ้างอิง:

 


ชาวยูเครนในไทยจัดกิจกรรมต้านสงครามหน้าสถานทูตรัสเซีย

 

ชาวยูเครนในไทยจัดกิจกรรมต้านสงครามหน้าสถานทูตรัสเซีย

 

วันนี้ (25 กุมภาพันธ์) มีการชุมนุมด้านหน้าสถานทูตสหพันธรัฐรัสเซีย ประจำประเทศไทย เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านกรณีประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำของรัสเซีย เปิดปฏิบัติการบุกโจมตีประเทศยูเครน จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งทหารและพลเรือน และกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนชาวยูเครน

 

กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้เป็นชาวยูเครนที่พำนักอยู่ในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยืนยันว่ายูเครนเป็นประเทศเอกราชที่รัสเซียต้องไม่ใช้กำลังเข้ามาก้าวล่วงแบบที่เป็นอยู่ และสถานการณ์การสู้รบในปัจจุบันเองก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงชายแดนรัสเซีย แต่ยังขยายวงกว้างถึงหลายพื้นที่ในประเทศ รวมถึงเมืองหลวงอย่างกรุงเคียฟ ซึ่งกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน

 

โดยระหว่างที่มีการจัดกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น (Local Staff) ของสถานทูตสหพันธรัฐรัสเซียออกมาเจรจากับผู้ร่วมกิจกรรม พร้อมทั้งเสนอให้ส่งผู้แทนกลุ่มจำนวน 1 คนเข้าเจรจาภายในสถานทูต แต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันให้ผู้แทนเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของสถานทูตออกมาเจรจาในพื้นที่ชุมนุม 

 

กระทั่งถึงเวลา 15.00 น. ยังไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวจากสถานทูต ท่ามกลางการสังเกตการณ์และการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้นของเจ้าหน้าที่จากสถานีตำรวจนครบาล (สน.) บางรัก และกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงยืนยันเรียกร้องด้านหน้าสถานทูตสหพันธรัฐรัสเซียต่อไป

 

 


 

ยุติสงคราม! โลกฟุตบอลขอยืนข้างชาวยูเครน หลังรัสเซียประกาศสงคราม

 

ยุติสงคราม! โลกฟุตบอลขอยืนข้างชาวยูเครน หลังรัสเซียประกาศสงคราม

 

ภายหลังจากกองกำลังทหารรัสเซียได้เริ่มปฏิบัติการบุกประเทศยูเครนเมื่อเช้าของวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น จนส่งผลให้เกิดความเสียหายรุนแรง รวมถึงมีทหารและประชาชนเสียชีวิตจากปฏิบัติการดังกล่าว ทำให้ทั่วโลกต่างเรียกร้องให้มีการยุติสงครามครั้งนี้ รวมถึงในโลกกีฬาอย่างเกมฟุตบอล

 

สโมสรบาร์เซโลนามีการชูป้ายที่มีข้อความว่า ‘STOP WAR’ หรือยุติสงคราม ก่อนเกมที่จะพบกับนาโปลี ที่สนามดิเอโก อาร์มันโด มาราโดนา เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่นเดียวกับ รัสลัน มาลินอฟสกี นักเตะทีมชาติยูเครนของสโมสรอตาลันตาที่ทำได้ 2 ประตูในเกมยูฟ่ายูโรปาลีก ที่เอาชนะโอลิมเปียกอสได้ 3-0 ก็ถอดเสื้อแข่งเพื่อให้เห็นข้อความบนเสื้อยืดสีขาวด้านในว่า ‘No War in Ukraine’

 

ด้านแฟนฟุตบอลสโมสรเรอัล เบติส ซึ่งพบกับเซนิต เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ซึ่งเป็นทีมเดียวจากรัสเซียที่ลงสนามเมื่อคืนนี้ได้ให้กำลังใจแก่ชาวยูเครนในสนาม ซึ่งผลปรากฏว่าเซนิตพ่ายเรอัล เบติส ตกรอบด้วยผลต่างประตูได้เสีย 2-3 โดย VAR ปฏิเสธจะให้ประตูในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ

 

เช่นเดียวกับแฟนฟุตบอลสโมสรโบโดกลิมต์ ในประเทศนอร์เวย์ ที่ชูธงชาติยูเครนเพื่อเป็นการแสดงจุดยืนต่อต้านการก่อสงครามในครั้งนี้ของรัสเซีย และนักฟุตบอลทีมสลาเวีย ปราก สวมเสื้อทีมชาติยูเครนในช่วงก่อนเริ่มการแข่งขันฟุตบอลยูฟ่ายูโรปาลีก นัดที่พบกับเฟเนร์บาห์เชเมื่อคืนนี้

 

 

 


 

สงครามรัสเซีย-ยูเครน: สงครามสั่งสอนฉบับปูตินที่หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ?

 

สงครามรัสเซีย-ยูเครน: สงครามสั่งสอนฉบับปูตินที่หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ?

 

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียเพื่อสนับสนุนแคว้นดอนบาสนั้นกลายเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งถือว่าเกิดขึ้นเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เป็นลักษณะการชิงทำสงครามก่อนเพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดสงครามใหญ่ขึ้น (Pre-emtive Strike) เราได้เห็นภาพการโจมตีด้วยจรวดร่อนต่อสิ่งก่อสร้างทางยุทธศาสตร์ทั่วประเทศ มีการใช้กำลังทหารราบ รถถัง กองเรือทะเลดำ และเครื่องบินรบในรูปแบบต่างๆ เข้าสู่ยูเครนจากทั้งทิศตะวันออกจากพรมแดนและดอนบาส ทิศใต้จากไครเมีย และทิศเหนือจากเบลารุส

 

จากแผนการโจมตีที่ฝ่ายตะวันตกคาดการณ์ไว้แบ่งออกเป็นหลายระยะ โดยเฉพาะแผนที่หน่วยสืบราชการลับ MI6 ที่ถูกเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้นระบุชี้ชัดค่อนข้างใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า ในเฟสแรกรัสเซียจะบุกยึดเมืองสำคัญในภาคตะวันออกของยูเครนก่อน คาร์คิฟ ซาโปริจเจีย ดนิโปร มาริอูโปล จากฝั่งตะวันออก และจากฝั่งเหนือด้านพรมแดนเบลารุสที่เข้ายึดเมืองพริเพียตที่ตั้งซากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ก่อนที่จะมุ่งลงกรุงเคียฟ 

 

ส่วนเฟสสองจะเป็นการเคลื่อนกองทัพจากพรมแดนด้านใต้จากไครเมียเข้าเคียร์โซน นิโคลาเยฟ เพื่อเข้ายึดเมืองท่าโอเดสซาเพื่อปิดล้อมยูเครนไม่ให้เข้าถึงทะเลดำ ในขณะเดียวกันกองทัพรัสเซียที่มาจากหลายเส้นทางที่มาสมทบกับดนิโปรก็จะรุกคืบมุ่งหน้าทางตอนกลางและตะวันตกของยูเครนต่อไป

 

สงครามครั้งนี้ถือว่าเกินขอบเขตที่ประกาศไว้มาก คือก้าวข้ามไปไกลกว่าดอนบาส ปฏิบัติการทางทหารบางอย่างก็ตีความได้ว่าเกินกว่าการประกาศ เช่น กระทรวงกลาโหมรัสเซียเคยประกาศว่าจะไม่ใช้การโจมตีทาง (ทางอากาศ) ต่อบรรดาเมืองต่างๆ ของยูเครน แต่ข้อเท็จจริงคือมีการยิงขีปนาวุธเพื่อโจมตีระบบการป้องกันภัยทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายยูเครน ซึ่งที่สุดแล้วก็เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของชาวบ้านยูเครนอยู่ดี 

 

สงครามในครั้งนี้มีลักษณะที่ปนกันไม่ว่าจะเป็นสงครามสั่งสอนหรือสงครามล้างแค้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าโจทย์สำคัญในเรื่องนี้ของปูตินคือ NATO ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา NATO แผลงฤทธิ์จนทำให้รัสเซียหัวเสียสองครั้งใหญ่ๆ ครั้งแรกคือในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 ต่อเนื่องต้นทศวรรษที่ 2000 กรณีของสงครามในยูโกสลาเวียที่ต่อมาจะกลายเป็นเซอร์เบีย และจะมีปัญหากลุ่มแบ่งแยกดินแดนโคโซโว NATO ทำสงครามต่อต้านยูโกสลาเวีย-เซอร์เบีย ในข้ออ้างเพื่อยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ส่วนรัสเซียให้การสนับสนุนฝ่ายเซอร์เบียในฐานะที่เป็นชนชาติสลาฟเหมือนกัน และเคยค้ำชูอุดหนุนมาแต่กาลเก่า

 

กลุ่มประเทศตะวันตกในนาม NATO ได้บ่อนทำลายยูโกสลาเวียแยกประเทศเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยจนเล็กเหลือแค่เซอร์เบีย ยังไม่วายที่โคโซโวที่มีสถานะเป็นจังหวัดปกครองตนเองเชื้อสายแอลเบเนียนั้นได้ขอแยกตัวจากเซอร์เบียด้วย รัสเซียพยายามคัดค้านเพราะจะทำให้เซอร์เบียพันธมิตรตนอ่อนแอลงไป และยังทำให้บูรณภาพดินแดนของเซอร์เบียถูกละเมิด แต่ก็ไม่เป็นผลเนื่องจากในกรณีนี้ NATO ให้น้ำหนักของหลักการ ‘Self-determination’ นำหน้า ‘Territorial Integrity’ 

 

ผ่านมา 20 ปี รัสเซียที่ได้แต่เก็บความช้ำใจนั้นมาลงที่ยูเครนที่ฝักใฝ่ตะวันตก โดยทำการย้อนเกล็ด NATO ด้วยการให้คุณค่าของ ‘Self-determination’ นำหน้า ‘Territorial Integrity’ แบบเดียวกันในกรณีของไครเมียและดอนบาส 

 

นอกจากนี้ยังเป็นการย้อนรอยสงครามสั่งสอนจอร์เจียในปี 2008 หลังประธานาธิบดีมิคาอิล ซากาชวิลี ผู้นำจอร์เจียในขณะนั้น ประกาศจะเข้าร่วม NATO เพื่อสั่งสอนและป้องปรามไม่ให้จอร์เจียเข้าร่วมกับ NATO มิฉะนั้นหลังบ้านรัสเซียในทางทิศใต้ก็จะมีพรมแดนที่ประชิดกับ NATO อีกแห่ง ในกรณีนี้รัสเซียก็ใช้การปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบต่อจอร์เจีย มีการส่งกองทัพเข้าโจมตีและยึดครองเมืองสำคัญในฝั่งจอร์เจีย แต่เป็นระยะเวลาอันสั้นเพียง 5 วันก่อนที่จะถอนกำลังออก ผลที่ตามมาของการที่กองทัพจอร์เจียพ่ายแพ้ต่อรัสเซียคือ การที่มติมหาชนในจอร์เจียเดิมที่มีกระแสชาตินิยมต้านรัสเซียร่วมกับรัฐบาลซากาชวิลีในขณะนั้น กลับตาลปัตรเป็นความไม่พอใจที่รัฐบาลไม่สามารถปกป้องอำนาจอธิปไตยได้ ในที่สุดรัฐบาลนั้นก็ไม่ได้ไปต่อในสมัยเลือกตั้งถัดมา จบอนาคตทางการเมืองต้องบินออกนอกประเทศและกลับจอร์เจียไม่ได้จนถึงทุกวันนี้

 

รัสเซียคงมีรูปแบบสงครามนี้ในใจ แต่ก็มีปัจจัยที่ต่างจากสงครามสั่งสอนจอร์เจียในครั้งนั้นคือพื้นที่ยูเครนใหญ่กว่ามาก กว่าจะเข้าปฏิบัติการทางทหารครบจุดคงต้องใช้เวลานานกว่า อีกแง่หนึ่งคือคนยูเครนมินิสัยใจคอที่ไม่ต่างจากคนรัสเซีย คือมีเลือดนักสู้ ยอมสู้ตาย 

 

อีกปัจจัยที่สำคัญ คือมติมหาชนชาวรัสเซียนั้นมีจำนวนมากที่ต่อต้านสงครามยูเครน เนื่องจากชาวรัสเซียมีความผูกพันกันมายาวนาน ไม่คิดว่าชาวยูเครนจะเป็นคนต่างชาติต่างภาษา คนรัสเซียจำนวนไม่น้อยที่แต่งงานกับคนยูเครนและมีญาติอยู่ที่ยูเครน โดยมองว่าการทำสงครามครั้งนี้ตรงกับสำนวน ‘หยิกเล็บเจ็บเนื้อ’ กล่าวคือ ทำร้ายคนใกล้ชิด คนบ้านเดียวกันเอง เกิดผลกระทบต่อตัวผู้กระทำหรือคนในพวกเดียวกันด้วย ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะทำสงครามนี้ ซึ่งสะท้อนผ่านการเดินขบวนประท้วงที่เกิดขึ้นทั่ว 44 เมืองของรัสเซียอย่าง มอสโก เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เยคาเตรินบุร์ก เปียร์ม ฯลฯ คนรัสเซียหลายคนเกิดคำถามว่า “เมืองท่าโอเดสซา เมืองอิวานโน-ฟรังคิฟสก์ เมืองลวีฟ ฯลฯ ที่อยู่ในฝั่งตะวันตกของยูเครนมันเป็นดอนบาสตรงไหน”

 

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมการประท้วงได้ อันเนื่องมาจากข่าวกรองหน่วยงานความมั่นคงแข็งแกร่ง รวมไปถึงรัสเซียเองมีอัตราการจ้างงานในหน่วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างตำรวจอยู่ค่อนข้างมาก เราจึงจะเห็นภาพบ่อยครั้งว่าถ้าม็อบมา 1,000 คน จะมีตำรวจมาคุมเกือบ 2,000 คน ถ้าม็อบมา 2,000 คน เราจะเห็นตำรวจมาคุม 3,000 คน เป็นต้น (เป็นสิ่งที่ผู้เขียนประสบมากับสายตาตนเอง สมัยเรียนอยู่ที่รัสเซีย)

 

นอกจากต้นทุนด้านงบประมาณกลาโหม ค่ารถถัง เครื่องบิน ค่าใช้จ่ายกำลังพล รวมไปถึงชีวิตของทหารหาญที่สังเวยให้กับสงครามนี้ ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มูลค่าตลาดหุ้นรัสเซียหายไปกว่า 1 ใน 3 รวมทั้งมูลค่าของสกุลเงินรูเบิลตกลงมากที่สุดในรอบปี ซ้ำเติมความมั่งคั่งที่ย่ำแย่ลงของชาวรัสเซีย ต้นทุนด้านจิตวิทยาการเมืองในหมู่ชาวรัสเซียเองก็เสียไปเช่นกัน ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า คนรัสเซียจำนวนไม่น้อยมีความเห็นอกเห็นใจต่อคนยูเครน และไม่พอใจที่ปูตินทำสิ่งนั้นต่อพี่น้องของเขาเอง

 

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สำหรับปูตินแล้วไม่มีต้นทุนอะไรแพงไปกว่าการที่มีคนหลังบ้านอย่างยูเครนเปิดประตูให้คนนอกเอาจรวดมาตั้งประชิดหลังบ้าน

 

ดูท่าแล้วความหวังเดิมของรัสเซียที่จะเปลี่ยนคณะผู้บริหารประเทศยูเครนจากภายในด้วยการสนับสนุนในทางลับอย่างสันติวิธีต่อฝ่ายค้านกลุ่มต่างๆ ให้ขึ้นมามีอำนาจแทนรัฐบาลชุดปัจจุบันนั้นอาจผลักดันให้สมบูรณ์เป็นจริงขึ้นได้ด้วยวิธีการใช้กำลังทหารเสียแล้ว เมื่อพิจารณาจากข้อมูลล่าสุดของ MI6 ของสหราชอาณาจักรที่เริ่มเปิดเผย ‘ตัวเต็ง’ ผู้นำยูเครนที่รัสเซียปลื้มออกมาแล้ว หนึ่งในนั้นคือ เยฟกินี มูราเยฟ (Yevgeny Murayev) รวมไปถึงแผนการลอบสังหารประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนผู้ฝักใฝ่ตะวันตกนั้นก็อาจจะมีความเป็นไปได้

 

ทั้งนี้เป็นไปเพื่อการสร้าง ‘หลักประกันความมั่นคง’ (Security Guarantee) ของตัวเองโดยฝ่ายเดียว หลังจากที่รัสเซียถูกปฏิเสธข้อเสนอนี้มาโดยตลอดจากโลกตะวันตก 

 

ท้ายที่สุดแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือผลลัพธ์จากการดำเนินนโยบายต่างประเทศของยูเครนเองเช่นกันที่ติดกับดักในเกมการเมืองของมหาอำนาจ

 

อย่างไรก็ตามสงครามก็คือสงคราม มีแต่จะทำให้เสียหายกันทุกฝ่าย

ขอภาวนาให้เกิดสันติภาพโดยเร็วที่สุด!

 

ภาพ: Plavi011 / Shutterstock

อ้างอิง:

 


 

รัสเซียบุกยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล สำคัญต่อแผนบุกยูเครนอย่างไร?

 

รัสเซียบุกยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล สำคัญต่อแผนบุกยูเครนอย่างไร?

 

  • การปะทะกันระหว่างกองทัพยูเครนกับกองทัพรัสเซีย ที่พยายามบุกเข้ายึดพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเมื่อวานนี้ (24 กุมภาพันธ์) กลายเป็นที่จับตามองจากทั่วโลก เนื่องจากถือเป็นเขตภัยพิบัติรุนแรงจากเหตุระเบิดของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เมื่อ 36 ปีที่แล้ว ซึ่งยังคงมีกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลจนถึงทุกวันนี้

 

  • มิไคโล โปโดลยาค ที่ปรึกษาทำเนียบประธานาธิบดียูเครน ระบุว่า ฝ่ายรัสเซียสามารถยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลได้ แต่ยังมีคำถามที่หลายฝ่ายสงสัย คือทำไมรัสเซียต้องเลือกบุกยึดโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ในขณะที่ยูเครนเองก็พยายามป้องกันสุดชีวิต? 

 

  • ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ให้คำตอบที่ชัดเจนในการทวีตเมื่อวานนี้ว่า “กองกำลังป้องกันของเรากำลังสละชีวิตเพื่อไม่ให้โศกนาฏกรรมในปี 1986 เกิดขึ้นซ้ำ” ซึ่งหมายถึงความพยายามป้องกันการโจมตีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสีไปทั่วยุโรป โดยรัฐบาลเคียฟเตือนผลกระทบจากการจู่โจมโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลอย่างไร้เหตุผลของรัสเซียว่าเป็นหนึ่งในภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อยุโรปในยุคปัจจุบัน

 

  • สำหรับรัสเซีย คำตอบเดียวที่ชัดเจนในการเสี่ยงนำกำลังทัพบุกเข้ายึดเขตภัยพิบัติแห่งนี้คือเรื่อง ‘ภูมิศาสตร์’ เนื่องจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลนั้นตั้งอยู่บนเส้นทางที่ใกล้ที่สุดในการเดินทัพข้ามชายแดนจากเบลารุสทางตอนเหนือเพื่อมุ่งหน้าไปยังกรุงเคียฟ โดยมีระยะทางห่างกันเพียงประมาณ 108 กิโลเมตร ซึ่งนักวิเคราะห์จากชาติตะวันตกมองว่า การเข้ายึดเชอร์โนบิลเป็นหนทางที่รวดเร็วที่สุดหากต้องการบุกโจมตีกรุงเคียฟ

 

  • แจ็ค คีน อดีตเสนาธิการกองทัพสหรัฐฯ ชี้ว่า เชอร์โนบิลนั้นไม่มีความสำคัญทางทหารใดๆ แต่ตั้งอยู่บนเส้นทางใกล้ที่สุดจากเบลารุสไปยังเคียฟ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของกลยุทธ์การ ‘ตัดศีรษะ’ รัฐบาลยูเครน โดยคีนเรียกเส้นทางเชอร์โนบิลว่าเป็น 1 ใน 4 ขวาน หรือ 4 เส้นทางของกองทัพรัสเซียที่ใช้ในการบุกยูเครน ขณะที่การจู่โจมจากหลายทิศทางของรัสเซียถือเป็นการโจมตีครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดกับประเทศยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

 

  • สำหรับเหตุภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลนั้นเกิดจากไฟไหม้และการระเบิดของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ในระหว่างการทดสอบความปลอดภัย ซึ่งส่งผลให้ฝุ่นกัมมันตรังสีแพร่กระจายไปทั่วยุโรป และไปไกลถึงพื้นที่ฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ โดยภัยพิบัตินี้ยังถูกมองว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991

 

  • กัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลออกมามีทั้งสตรอนเทียม (Strontium) ซีเซียม (Caesium) และพลูโทเนียม (Plutonium) ส่วนใหญ่ส่งผลกระทบต่อยูเครนและเบลารุสที่อยู่ใกล้เคียง ตลอดจนพื้นที่บางส่วนของรัสเซียและยุโรป จำนวนผู้เสียชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อมคาดว่ามีสูงตั้งแต่หลักหลายพันคนไปจนถึงกว่า 93,000 คน ที่เสียชีวิตเพราะโรคมะเร็งในหลายประเทศทั่วโลก

 

  • หลังเกิดภัยพิบัติราว 6 เดือน ยูเครนได้สร้างโลงหิน (Sarcophagus) เพื่อหุ้มเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 และกักเก็บวัตถุกัมมันตรังสีที่อยู่ภายใน รวมถึงปกป้องสิ่งแวดล้อมโดยรอบจากกัมมันตรังสี จากนั้นในเดือนพฤศจิกายนปี 2016 ได้มีการสร้างที่กักเก็บใหม่เป็นโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ครอบเตาปฏิกรณ์และโลงหินดังกล่าว

 

  • อย่างไรก็ตาม หนึ่งในเจ้าหน้าที่อาวุโสของยูเครนให้สัมภาษณ์กับ Reuters เชื่อว่าการบุกเข้ายึดโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลของรัสเซียนั้นเป็นส่วนหนึ่งในแผนที่กองทัพรัสเซียวางไว้แล้ว

 

  • ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า รัสเซียไม่ได้ยึดโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเพื่อต้องการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันยูเครนยังมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 4 แห่ง ที่ยังคงใช้งานอยู่และมีความเสี่ยงมากกว่าเชอร์โนบิล เนื่องจากไม่ได้อยู่ในเขตยกเว้น (Exclusion Zone) เหมือนเชอร์โนบิล อีกทั้งยังมีระดับกัมมันตภาพรังสีที่สูงกว่ามาก ทำให้หากเกิดการสู้รบบริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหล่านี้ อาจก่อให้เกิดความเสียหายที่ใหญ่หลวง

 

ภาพ: Photo by SERGEI SUPINSKY / AFP

อ้างอิง:

 


ประธานาธิบดียูเครน แถลงยืนยันการถูกโจมตีก่อนรุ่งสาง กล่าวหารัสเซียโจมตีไม่แยกแยะพื้นที่ ชี้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียไม่เพียงพอ

 

 

วันนี้ (25 กุมภาพันธ์) สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานหลังช่วงเวลา 12.30 น. ที่ผ่านมา (ตามเวลาในไทย) ว่า โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนได้กล่าวกับประชาชนในการแถลงผ่านวิดีโอ โดยระบุว่าในที่สุดรัสเซียก็ต้องคุยกับยูเครนเพื่อยุติสงคราม

 

“รัสเซียจะต้องคุยกับเราไม่ช้าก็เร็ว เกี่ยวกับวิธีการยุติความเป็นปรปักษ์และหยุดการรุกรานครั้งนี้” เขากล่าว “ยิ่งการสนทนาเริ่มต้นเร็วเท่าไร ความสูญเสียของรัสเซียก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น”

 

เขากล่าวเสริมว่า จนกว่าการโจมตีจะหยุดลง “เราจะปกป้องประเทศของเราจนกว่าจะถึงเวลานั้น”

 

เซเลนสกียังยืนยันรายงานการโจมตีด้วยขีปนาวุธหลายครั้งก่อนรุ่งสางวันนี้ โดยเขากล่าวว่าการโจมตีเริ่มขึ้นเวลา 04.00 น. ของวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น เขายังกล่าวหารัสเซียว่าการโจมตีของรัสเซียไม่ได้แยกแยะพื้นที่ปฏิบัติการ ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัสเซียได้ระบุไว้ว่าไม่ได้มุ่งโจมตีพลเรือน เขายังระบุว่าชาวยูเครนแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญ และ “กองกำลังทั้งหมดของเรากำลังทำทุกสิ่งที่เป็นไปได้” เพื่อปกป้องผู้คน

 

เซเลนสกียังกล่าวเสริมว่า โลกยังคงเฝ้าสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนจากระยะไกล ในขณะที่การคว่ำบาตรครั้งใหม่ไม่ได้โน้มน้าวให้รัสเซียถอนตัวจากการโจมตี

 

“เช้านี้เรากำลังปกป้องรัฐของเราเพียงลำพัง เช่นเดียวกับเมื่อวานนี้ กองกำลังที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกกำลังเฝ้าดูอยู่แต่ไกล

“รัสเซียถูกโน้มน้าวจากการคว่ำบาตรเมื่อวานนี้หรือไม่ เราได้ยินจากท้องฟ้าและเห็นจากผืนดินของเราว่าไม่เพียงพอ”

 

เซเลนสกียังเรียกร้องให้ชาวรัสเซียประท้วงต่อต้านการโจมตียูเครนของปูตินด้วย โดยในส่วนนี้เขาเปลี่ยนไปใช้ภาษารัสเซียแทน

 

“ถึงพลเมืองของสหพันธรัฐรัสเซียที่ออกมาเพื่อประท้วง พวกเราเห็นคุณ และนี่หมายความว่าคุณได้ยินพวกเรา นี่หมายความว่าคุณเชื่อพวกเรา ต่อสู้เพื่อพวกเรา ต่อสู้กับสงคราม” เซเลนสกีกล่าว

 

และเมื่อคืนที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น เซเลนสกีเตือนเรื่องการโจมตีที่เข้มข้นขึ้นในกรุงเคียฟ เขาบอกว่าเขาไม่มีความตั้งใจจะออกจากกรุงเคียฟ เขารู้ว่าเขากำลังตกเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งของรัสเซียในขณะนี้ และระบุว่ายูเครนถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพังเพื่อปกป้องรัฐของตนเอง

 

“พวกเขาต้องการทำลายยูเครนทางการเมืองโดยการถอดประมุขของรัฐ” เซเลนสกีกล่าวเมื่อคืนที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่า ได้ยินเสียงระเบิดในกรุงเคียฟก่อนรุ่งสาง และ ดิมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนออกมาวิจารณ์ถึงเรื่องดังกล่าว โดยทวีตข้อความว่า “จรวดรัสเซียที่น่าสยดสยองโจมตีกรุงเคียฟ

 

“ครั้งสุดท้ายที่เมืองหลวงของเรามีประสบการณ์เช่นนี้คือในปี 1941 เมื่อเคียฟถูกโจมตีโดยนาซีเยอรมนี”

 


 

เสียงทัดทานจากชาวรัสเซียและประชาคมโลก ต่อคำสั่งปฏิบัติการทางทหารของปูติน

 

russia-ukraine-crisis-25022022-11

 

แม้ดูเหมือนว่ารัสเซียจะสามารถควบคุมสถานการณ์และถือไพ่เหนือกว่าในวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนระลอกใหม่นี้ได้ แต่ก็มีเสียงทัดทานทั้งจากพลเมืองชาวรัสเซียเองและประชาคมโลกจำนวนไม่น้อยที่คัดค้านคำสั่งปฏิบัติการพิเศษทางทหารและการตัดสินใจของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน มีการชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นตามเมืองสำคัญๆ หลายแห่งทั่วโลก เพื่อเรียกร้องให้รัสเซียเลี่ยงการใช้กำลังความรุนแรงและเคารพอำนาจอธิปไตยของยูเครน หวั่นสถานการณ์บานปลาย การสูญเสียและความเสียหายขยายตัวเป็นวงกว้าง

 

russia-ukraine-crisis-25022022-11

เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัสเซีย

 

russia-ukraine-crisis-25022022-11

กรุงมอสโก รัสเซีย

 

russia-ukraine-crisis-25022022-11

russia-ukraine-crisis-25022022-11

กรุงวอร์ซอ โปแลนด์

 

russia-ukraine-crisis-25022022-11

กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

 

russia-ukraine-crisis-25022022-11

กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก

 

russia-ukraine-crisis-25022022-11

กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

 

ภาพ: Anton Vaganov / Reuters / Kirill Kudryavtsev / AFP / Wojtek Radwanski / AFP / Hesther Ng / SOPA Images / LightRocket via Getty Images /Michal Cizek / AFP / Kent Nishimura / Los Angeles Times via Getty Images

อ้างอิง: 

 


‘มาครง’ ต่อสายหา ‘ปูติน’ เรียกร้องยุติปฏิบัติการทางทหารทันที พร้อมระบุ การรักษาโอกาสเจรจากับปูตินเป็นประโยชน์

 

 

เอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า การรักษาโอกาสในการเจรจากับวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ให้คงอยู่ต่อไปนั้นเป็นประโยชน์ หลังจากที่เขาเริ่มการบุกยูเครน

 

มาครงกล่าวหลังการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรปว่า ในขณะที่ประณาม หรือในขณะคว่ำบาตรนั้น ยังคงมีประโยชน์ “ที่จะปล่อยให้เส้นทางนี้เปิดกว้าง เพื่อในวันที่เงื่อนไขสามารถบรรลุได้ เราก็จะสามารถยุติการสู้รบได้”

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น มาครงเป็นผู้นำชาติตะวันตกเพียงคนเดียวที่พูดคุยกับปูติน หลังจากที่กองทัพรัสเซียเข้าโจมตียูเครน โดยทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวว่าปูตินได้พูดคุยกับผู้นำฝรั่งเศสอย่างตรงไปตรงมา

 

ขณะที่ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าวว่า มาครงโทรศัพท์หาปูตินเพื่อเรียกร้องให้ยุติการโจมตีทางทหารของรัสเซียในยูเครน

 

“หลังจากที่ได้พูดคุยกับประธานาธิบดียูเครน และในการประสานงานกับเขา ประธานาธิบดี (มาครง) ได้โทรหาวลาดิเมียร์ ปูติน เพื่อเรียกร้องให้หยุดปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียทันที โดยแสดงความเห็นว่ารัสเซียเสี่ยงต่อการคว่ำบาตรครั้งใหญ่” ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสระบุ

 

ภาพ: GONZALO FUENTES, MIKHAIL KLIMENTYEV / POOL / SPUTNIK / AFP

อ้างอิง: AFP

 


บาดแผล คราบน้ำตา และร่องรอยความบอบช้ำจากปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน

 

 

ประมวลภาพบาดแผล คราบน้ำตา และร่องรอยความบอบช้ำของประชาชนชาวยูเครน ที่ได้รับผลกระทบหลังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย มีคำสั่งให้ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน (24 กุมภาพันธ์) พื้นที่ที่ตนเคยประกาศรับรองเอกราชให้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา 

 

หลายฝ่ายคาดหวังว่าปฏิบัติการดังกล่าวจะอยู่ในวงจำกัดจริงๆ ตามที่รัสเซียกล่าวอ้าง ไม่ยกระดับหรือขยายขอบเขตของพื้นที่ความขัดแย้ง พร้อมเรียกร้องให้รัสเซียยุติการใช้กำลังความรุนแรงและเคารพอำนาจอธิปไตยของยูเครนโดยเร็ว เนื่องจากสิ่งที่รัสเซียกระทำขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน 

 

เบื้องต้นสำนักข่าว CNA รายงานว่า ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวยกย่องและแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 137 ราย และผู้บาดเจ็บอีกอย่างน้อย 316 ราย หลังจากวันแรกของปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียในยูเครน

 

 

ภาพ: Aris Messinis / AFP / Alexander Ryumin / TASS via Getty Images /Attila Husejnow / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

อ้างอิง: 

 


EU ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียชุดใหญ่ ลงโทษกรณีบุกยูเครน

 

คว่ำบาตรรัสเซีย

 

สหภาพยุโรป (EU) ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียชุดใหญ่ เพื่อตอบโต้กรณีรัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารบุกยูเครนเมื่อวานนี้ (24 กุมภาพันธ์) ซึ่งมาตรการลงโทษครอบคลุมภาคการเงิน พลังงาน การคมนาคมขนส่ง และวีซ่าสำหรับชนชั้นนำของรัสเซีย 

 

อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวภายหลังการประชุมในกรุงบรัสเซลส์ ซึ่งที่ตั้งสำนักงานใหญ่ EU ว่า มาตรการคว่ำบาตรใหม่นี้จะทำให้รัสเซียไม่สามารถซื้อเทคโนโลยีเพื่ออัปเกรดโรงกลั่นน้ำมัน รวมถึงซื้ออะไหล่สำหรับเครื่องบินได้

 

“ชุดมาตรการแซงก์ชันครั้งใหญ่ที่ได้รับการอนุมัติในค่ำคืนนี้แสดงให้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวของ EU” ฟอน แดร์ ไลเอิน ทวีตในทวิตเตอร์

 

ด้านประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ระบุว่า จะมีการมอบเงินช่วยเหลือจำนวน 336 ล้านดอลลาร์แก่ยูเครน รวมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์ทางทหารด้วย

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการคว่ำบาตรนี้ไม่ได้ครอบคลุมการนำเข้าก๊าซรัสเซียไปยัง EU ซึ่งคำถามนี้ ฟอน แดร์ ไลเอิน กล่าวว่า EU กำลังมองหาวิธีให้ยุโรปเลิกพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย

 

ภาพ: Dursun Aydemir / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง: 

 

 


คณะมนตรีความมั่นคงฯ เตรียมโหวตประณามรัสเซีย คาดรัสเซียยกวีโต้คัดค้านมติ

 

 

เวลา 09.20 น. วันนี้ (25 กุมภาพันธ์) คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ทั้ง 15 ประเทศ เตรียมลงมติโหวตประณามรัสเซีย สำหรับการปฏิบัติการพิเศษทางทหารที่เกิดขึ้นในยูเครน คาดรัสเซียในฐานะ 1 ใน 5 ประเทศสมาชิกถาวรของ UNSC และประธานที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงฯ ประจำเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะยกวีโต้ (Veto) คัดค้านมติดังกล่าว

 

ภาพ: Selcuk Acar / NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง: CNN, Reuters

 


ผู้แทนไทยแถลงจุดยืนต่อวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ในที่ประชุมสหประชาชาติ

 

 

ดร.สุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรของไทย ประจำสหประชาชาติ แถลงจุดยืนต่อวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ในที่ประชุมสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า 

 

  1. ไทยติดตามสถานการณ์ในยูเครนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการยกระดับความตึงเครียดที่คุกคามสันติภาพและความมั่นของระหว่างประเทศ

 

  1. ไทยสนับสนุนความพยายามในการแสวงหาทางออกที่สันติ ผ่านกรอบเจรจาที่สอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศที่ยึดมั่นในหลักอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน

 

  1. ไทยยังสนับสนุนจุดยืนของเลขาธิการสหประชาชาติที่เรียกร้องให้หาทางออกโดยสันติที่สอดคล้องกับข้อตกลงมินสก์ รวมถึงความพยายามของสหประชาชาติและกลไกระดับภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) และกรอบการเจรจานอร์มังดี เพื่อคลี่คลายความตึงเครียดและแสวงหาทางออกที่ยั่งยืน 

 

  1. ไทยยังแสดงความกังวลต่อผลลัพธ์ด้านมนุษยธรรมที่อาจจะเกิดขึ้นตามมากับประชาชนในพื้นที่ เราจึงร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยับยั้งชั่งใจถึงขีดสุด เลี่ยงการกระทำใดๆ ที่อาจยั่วยุหรือกระตุ้นให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น งดเว้นการใช้กำลัง และประกันความปลอดภัยให้แก่พลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ 

 

ภาพ: Permanent Mission of Thailand to the United Nations

อ้างอิง: Statement by Dr. Suriya Chindawongse, Permanent Representatives of Thailand to the United Nations 

 


กลาโหมสหรัฐฯสั่งเคลื่อนกำลังพลอีก 7,000 นายไปยังยุโรปหลังรัสเซียสั่งปฏิบัติการทางทหาร

 

 

วานนี้ (24 กุมภาพันธ์) ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีคำสั่งเคลื่อนกำลังพลอีก 7,000 นายไปยังยุโรป หลังรัสเซียสั่งเปิดฉากปฏิบัติการพิเศษทางทหารในแคว้นดอนบาสที่ตนเคยประกาศรับรองเอกราชให้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

 

ทางด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน เน้นย้ำจะปกป้องทุกตารางนิ้วของดินแดนพันธมิตร NATO ด้วยอำนาจทางทหารของสหรัฐฯ อย่างเต็มกำลัง และมีเรื่องที่น่ายินดีที่บรรดาชาติสมาชิก NATO ต่างเห็นพ้องและเป็นหนึ่งเดียวกันมากยิ่งขึ้น โดยได้ลงนามในคำสั่งส่งกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ไปยังบรรดาชาติพันธมิตร NATO บางประเทศเพิ่มเติมแล้ว เช่น ในกลุ่มประเทศบอลติกอย่างเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย รวมถึงโปแลนด์และโรมาเนียด้วย อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะส่งกำลังทหารไปยังเยอรมนีเพิ่มเติม

 

ผู้นำสหรัฐฯ ยังเน้นย้ำเพิ่มเติมอีกว่า กองทัพสหรัฐฯ ยังคงอยู่นอกยูเครน และจะไม่เข้าไปยังพื้นที่ของยูเครน โดยจะกระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ โดยรอบ

 

เจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงกลาโหมระบุ ปฏิบัติการทางทหารดังกล่าวของรัสเซียในยูเครนนับเป็นหนึ่งในการโจมตีทางทหทารครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X