วันนี้ (23 กุมภาพันธ์) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยผลการประชุมของ ศบค. ชุดใหญ่ ในช่วงเช้า โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธาน ว่าระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักรของโรคติดเชื้อโควิดยังคงเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีพื้นที่ควบคุม 44 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง 25 จังหวัด พื้นที่สีฟ้านำร่องท่องเที่ยว 8 จังหวัด จังหวัดอื่นที่ดำเนินการบางพื้นที่ 18 จังหวัด
ส่วนข้อมูลการใช้เตียงในผู้ป่วยโควิดทั่วประเทศ พบว่าสถานการณ์ในภาพรวมทั้ง 3 ระดับ (ป่วยน้อย, กลาง และ วิกฤต) ยังมีเตียงเพียงพอสำหรับดูแลผู้ป่วยรายใหม่ได้อยู่ พร้อมขอให้ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเลย เข้ารับการรักษาแบบ Home Isolation (HI) เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงหรืออาการหนักได้ใช้เตียงในการรักษาต่อไป
สำหรับรายงานการจ่ายค่าบริการโควิดในปี 2563 จ่ายแล้ว 3,841.15 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของกรมบัญชีกลาง ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่นเดียวกันกับปี 2564 จ่ายไปแล้ว 97,747.94 ล้าน ในส่วนของปี 2565 หลักประกันสุขภาพแห่งชาติจ่ายไปแล้ว 32,488.00 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างเสนอของบเพิ่มอีก 51,065.13 ล้านบาท
ส่วนยอดการจ่ายชดเชยค่าบริการโควิดปี 2563-2565 ประเภทโรงพยาบาลรัฐจำนวน 3,506 แห่ง ประมวลผลจ่าย 74,084 ล้านบาท ตรวจสอบผ่าน 70,994 ล้านบาท ตรวจสอบไม่ผ่าน 3,090 ล้านบาท ขณะที่โรงพยาบาลเอกชน 672 แห่ง ประมวลผลจ่าย 27,260 ล้านบาท ตรวจสอบผ่าน 27,160 ล้านบาท ตรวจสอบไม่ผ่าน 100 ล้านบาท รวมแล้วประเทศไทยจ่ายไปเกือบ 1 แสนล้านบาท
ขณะที่สัดส่วนเงินที่ใช้สำหรับ UCEP COVID แยกรายสีผู้ป่วย จำนวนบริการ 768,491 ครั้ง ข้อมูลระหว่างปี 2563-2564 โดยกลุ่มสีเขียว 88% กลุ่มสีเหลือง 11% และกลุ่มสีแดง 1%
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเรื่องมาตรการการเปิดเรียน On-site ในสถานศึกษา ให้มีการตรวจสอบ ดูแล ให้ครอบคลุมทุกโรงเรียน สถานการศึกษา ให้มีการดูแลจัดการอย่างดีที่สุด เพื่อให้มีการเรียนการสอน การเตรียมการสำหรับการสอบ การเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเทอมปีการศึกษาหน้า ควบคู่พร้อมกับการควบคุมโรค มีมาตรการด้านการสาธารณสุขที่เคร่งครัด รอบคอบ และมีแผนเผชิญเหตุที่เหมาะสมหากเกิดการระบาดในรั้วสถานศึกษา
และที่ประชุมยังได้เน้นย้ำให้ทุกพื้นที่ยกระดับประสิทธิภาพ HI และ Community Isolation (CI) รวมถึงคอลเซ็นเตอร์ และให้การแก้ไขปัญหาอย่างมีบูรณาการทั่วประเทศ ปรับรูปแบบ และดูแลให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งประชาสัมพันธ์สื่อสารให้ประชาชนทราบสถานที่บริการ HI/CI เพื่อเข้ารับบริการได้ โดยที่ประชุมได้หารือปรับมาตรการด้านต่างๆ เพื่อความเหมาะสม โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับสั่งการให้ทุกหน่วยงานรายงานถึงข้อจำกัด เพื่อนำมาแก้ไขปัญหา และปรับข้อกำหนดเพื่อการพัฒนาการให้บริการประชาชนตามมาตรการสาธารณสุขที่สอดคล้องกับบริบท และเปิดโอกาสให้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้นำเสนอการปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศแบบ Test & Go ให้ปรับมาตรการป้องกันโรคโดยไม่ต้องตรวจ RT-PCR จำนวน 2 ครั้ง แต่จะปรับให้ตรวจ RT-PCR วันแรกที่เข้าประเทศไทย และให้ไปตรวจแบบ ATK ครั้งถัดไป และแจ้งผลผ่านแอปพลิเคชันในวันที่ 5 ของการเดินทางเข้ามาอยู่ในประเทศไทย รวมถึงเสนอปรับลดประกันสุขภาพจากเดิมไม่น้อยกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นวงเงินคุ้มครองไม่น้อยกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มีนาคม 2565