หลังจากทั้งวันนี้ปรากฏความตึงเครียดจากการที่รัสเซียประกาศรับรองเอกราชของ 2 แคว้นในภูมิภาคดอนบาส พื้นที่ขัดแย้งทางตะวันออกของยูเครน ได้แก่ โดเนตสก์ ที่ประกาศตนเป็นสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ (Donetsk People’s Republic: DPR) และลูฮันสก์ ซึ่งประกาศตนเป็นสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ (Luhansk People’s Republic: LPR) ความเคลื่อนไหวล่าสุดของวิกฤตการณ์ยูเครนตั้งแต่ช่วงเย็นถึงค่ำมีดังนี้
🇺🇦 ยูเครน
- ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี พูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้นำโลกหลายคนหลังรับทราบข่าวดังกล่าวในความพยายามเพื่อหาการสนับสนุน และระบุว่าอาจจะมีการตัดสินใจทันทีหลังการพูดคุยกับ อลาร์ คาริส ประธานาธิบดีเอสโตเนีย ว่าจะตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัสเซียหรือไม่
- มีการออกถ้อยแถลงของ ดิมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกาว่า เขากำลังทำงานกับมิตรประเทศชาติตะวันตกหลายชาติ “เพื่อกำหนดมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงต่อรัสเซีย”
- รัฐมนตรีกลาโหมของยูเครนโพสต์ข้อความบนเว็บไซต์ของกระทรวง ระบุให้ทหารยูเครนเตรียมพร้อมสำหรับการทำสงคราม “จะมีความลำบาก จะมีความสูญเสีย เราจะต้องทนต่อความเจ็บปวด เอาชนะความกลัวและความสิ้นหวัง” แต่เขายังให้คำมั่นถึงชัยชนะที่แน่นอนเมื่อเผชิญกับภัยคุกคามของรัสเซีย เขายังกล่าวหาว่ารัสเซียได้ดำเนินการอีกก้าวหนึ่งเพื่อฟื้นฟู ‘สหภาพโซเวียต’ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ฝั่งรัสเซียปฏิเสธ
- นอกจากนี้ยูเครนยังมีการเรียกตัวนักการทูตระดับสูงรายหนึ่งกลับจากรัสเซียเพื่อการปรึกษาหารือด้วย
🇷🇺 รัสเซีย
- แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเรียกร้องให้ประเทศอื่นๆ ‘ปฏิบัติตาม’ ในการยอมรับเอกราชของสองแคว้นในภูมิภาคดอนบาสดังกล่าว โดยระบุว่า การยอมรับที่เกิดขึ้นจากรัสเซียนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นขั้นตอนเดียวที่เป็นไปได้ และบอกว่า การตัดสินใจของรัสเซียดังกล่าว “ถูกกำหนดขึ้นโดยการพิจารณาด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก” และ “มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นหลักประกันชีวิตอันสงบสุข” ในสองแคว้นดังกล่าว นอกจากนี้ยังระบุว่า ยูเครนไม่เคยตั้งใจที่จะเคารพต่อข้อตกลงมินสก์ และได้ถอนตัวจากข้อตกลงนี้ไปนานแล้ว ตลอดจนบ่อนทำลายการดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าวอย่างเปิดเผย
- ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย ระบุว่า หากยูเครนตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัสเซียจะกลายเป็น “สถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะทำให้ทุกอย่างยากขึ้น”
- ขณะที่รัฐสภารัสเซียโหวตให้ความเห็นชอบในข้อตกลงมิตรภาพ ความร่วมมือ และความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างรัสเซียกับสองแคว้นที่เป็นพื้นที่ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออก โดยตามข้อตกลงนี้รัสเซียจะสามารถส่งทหารตั้งฐานทัพและร่วมกันในการปกป้องดินแดนที่เรียกว่าสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ (DNR) และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ (LNR) ได้ ทั้งนี้ สภาล่างอนุมัติข้อตกลงนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ และการโหวตจบลงด้วยการยืนขึ้นปรบมือของบรรดาสมาชิกสภาล่าง ส่วนสภาสูงก็ให้ความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์เช่นกัน ประธานสภาล่างของรัสเซียระบุว่า “นี่เป็นวิธีเดียวที่จะปกป้องผู้คน หยุดสงครามที่ผู้คนในสังคมเดียวกันเข่นฆ่ากันเอง ป้องกันภัยพิบัติด้านมนุษยธรรม และนำมาซึ่งสันติสุข”
- อันเดรย์ รูเดนโก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียระบุว่า ข้อตกลงระหว่างรัสเซียกับสองพื้นที่ที่เรียกตนเองเป็นสาธารณรัฐดังกล่าวนั้นรวมถึงบทบัญญัติของ ‘ความช่วยเหลือทางทหาร’ แต่เสริมว่า ควรหลีกเลี่ยง ‘การคาดการณ์’ เกี่ยวกับการส่งกำลังทหาร โดยระบุว่า “ตอนนี้ยังไม่มีใครวางแผนที่จะส่งอะไรไปที่ไหนเลย หากมีภัยคุกคาม เราจะให้ความช่วยเหลือตามสนธิสัญญาที่ให้ความเห็นชอบ”
🌎 ฝ่ายอื่นๆ
- สหราชอาณาจักร: ได้ให้คำมั่นว่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อรัสเซียอย่างหนักด้วยการคว่ำบาตรแบบเฉพาะเจาะจง และให้คำมั่นว่าจะมีมาตรการที่เข้มงวดยิ่งขึ้นในกรณีที่เกิดการบุกยูเครนเต็มรูปแบบ นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรยังเรียกเอกอัครราชทูตรัสเซียเข้าไปพูดคุย และต่อมาในช่วงค่ำตามเวลาไทย บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ระบุว่า เตรียมจะมีการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรธนาคารรัสเซีย 5 แห่ง และมหาเศรษฐีอีก 3 ราย รวมถึงยังมีมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมที่พร้อมใช้งาน และหลังจากสหพันธ์ฟุตบอลแห่งชาติยุโรป (ยูฟ่า) ออกมาบอกว่า กำลังจับตาสถานการณ์ภายในยูเครน จอห์นสันก็ออกมาบอกว่า รัสเซียจะไม่มีสิทธิ์ในการเป็นเมืองเจ้าภาพของฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก นัดชิงชนะเลิศที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในเดือนพฤษภาคมนี้ หากบุกยูเครน
- ตุรกี: เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ซึ่งเป็นประเทศที่มีสายสัมพันธ์ฉันมิตรกับทั้งรัสเซียและยูเครนระบุว่า การตัดสินใจของรัสเซียเป็นสิ่งที่ ‘ยอมรับไม่ได้’ และ “ขอเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการด้วยสามัญสำนึกและปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ” ตุรกีนั้นมีความพยายามที่จะเป็นเจ้าภาพให้ผู้นำของทั้งสองประเทศเข้าร่วมการประชุมสุดยอด 3 ทางที่ตุรกี เพื่อบรรเทาความตึงเครียด
- เยอรมนี: โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ออกมาระบุว่า ได้ระงับโครงการท่อก๊าซธรรมชาติใต้ทะเลบอลติก ‘Nord Stream 2’ ที่เชื่อมระหว่างชายฝั่งของรัสเซียกับชายฝั่งทะเลบอลติกทางด้านเหนือของเยอรมนี พร้อมเตือนรัสเซียว่า การหยุดโครงการดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งในขั้นตอนอันเป็นรูปธรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นเท่านั้น และการคว่ำบาตรอื่นเพิ่มเติมอาจจะตามมา ชอลซ์ยังแสดงความมั่นใจว่าสหภาพยุโรปจะเห็นชอบกับมาตรการคว่ำบาตรที่ใหญ่และรุนแรงที่เจาะจงไปยังรัสเซีย
- ออสเตรีย: กระทรวงการต่างประเทศออสเตรียแถลงว่า มีการเรียกทูตรัสเซียประจำออสเตรียเข้าพบกับกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรีย และเสริมว่า ความเคลื่อนไหวของรัสเซียเป็น “การละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนอย่างร้ายแรง ซึ่งออสเตรียประณามอย่างรุนแรง”
- อิตาลี: นายกรัฐมนตรีอิตาลี ระบุว่า การยอมรับเอกราชของสองพื้นที่ในยูเครนตะวันออก “เป็นการละเมิดอธิปไตยในระบอบประชาธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนที่ยอมรับไม่ได้” เขายังระบุว่า ได้ติดต่อกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาทางแก้ไขวิกฤตและหลีกเลี่ยงสงครามในใจกลางยุโรป และแม้จะย้ำว่า เส้นทางของการเจรจายังมีความจำเป็น แต่ก็กำลังมีการกำหนดการคว่ำบาตรโดยสหภาพยุโรปอยู่
- สหรัฐอเมริกา: เจน ซากี โฆษกทำเนียขาว เผยว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยินดีต่อการตัดสินใจระงับโครงการท่อก๊าซธรรมชาติใต้ทะเลบอลติก ‘Nord Stream 2’ ของเยอรมนี โดยไบเดนได้ทำให้ชัดเจนว่าหากรัสเซียบุกยูเครน สหรัฐฯ จะดำเนินการร่วมกับเยอรมนี เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการ Nord Stream 2 จะไม่เดินหน้า นอกจากนี้ยังจะเปิดเผยมาตรการของสหรัฐฯ เองต่อไปด้วย
- สหภาพยุโรป (EU): มีการเสนอมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย โดยต้องการกำหนดเป้าหมายไปที่ธนาคารที่ให้เงินทุนแก่การดำเนินงานของรัสเซียในพื้นที่แบ่งแยกดินแดนของยูเครน การคว่ำบาตรยังจะรวมถึงการขึ้นบัญชีดำเจ้าหน้าที่และสร้างผลกระทบต่อการค้าในพื้นที่แบ่งแยกดินแดนดังกล่าว ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวต้องได้รับการอนุมัติจากทั้ง 27 ประเทศสมาชิก EU ก่อน นอกจากนี้ EU ยังเตรียมการและพร้อมที่จะใช้มาตรการเพิ่มเติมในขั้นต่อไปหากจำเป็น โดยพิจารณาถึงความคืบหน้าเพิ่มเติม
- องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO): NATO ประกาศว่าจะมีการประชุมพิเศษกับผู้แทนของยูเครนในวันนี้ และจะมีการแถลงข่าวอีกครั้งในเวลา 23.00 น. ตามเวลาในไทย
- องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE): สภาถาวรแห่ง OSCE จะจัดการประชุมพิเศษในเวลา 21.00 น. วันนี้ (22 กุมภาพันธ์) ตามเวลาในไทย โดยโปแลนด์ในฐานะประธานระบุว่า การประชุมนี้มีเป้าหมายเพื่อ “จัดการกับการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและหลักการพื้นฐานของ OSCE” รวมถึงมีแถลงการณ์ด้วยว่า “การตัดสินใจของประธานาธิบดีปูตินที่จะยอมรับส่วนต่างๆ ของภูมิภาคโดเนตสก์และลูฮันสก์เป็นอิสระนั้นเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน” ทั้งนี้ OSCE มีสมาชิก 57 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งยูเครน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา และการประชุมวันนี้จะเป็นการประชุมแบบปิดต่อสื่อมวลชน
- สหประชาชาติ: อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า การตัดสินใจของรัสเซียเป็น “การละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตยของยูเครน และไม่สอดคล้องกับหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ” และมีการรายงานว่า มีการย้ายพนักงานของสหประชาชาติในยูเครนที่ไม่ได้อยู่ในความจำเป็นบางส่วนและสมาชิกครอบครัวของพวกเขาเป็นการชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่โฆษกของสหประชาชาติยืนยันว่าจะยังคงมีการปฏิบัติงานในยูเครนอย่างเต็มที่
ภาพ: xbrchx / GettyImages
อ้างอิง: