สำนักข่าว Aljazeera รายงานว่า แรงงานจากประเทศในแถบเอเชียกลาง ได้แก่ อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน และคีร์กีซสถาน หลายล้านชีวิตที่เข้ามาขายแรงงานในรัสเซียกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย ยูเครน และชาติตะวันตก ที่ส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียร่วงลงไปแล้ว 8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ นับจากเดือนธันวาคม โดยเงินรูเบิลจะอ่อนค่ามากถึง 15% หากนับย้อนไปถึงเดือนตุลาคม
นอกจากปัญหาเรื่องค่าเงินซึ่งทำให้แรงงานเหล่านี้สามารถส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวในประเทศบ้านเกิดได้ลดลงแล้ว พวกเขายังต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องค่าครองชีพและราคาสินค้าต่างๆ ในรัสเซียที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความตึงเครียดของเหตุการณ์ในยูเครน
“ผมเคยส่งเงินกลับไปให้ภรรยาที่ทาจิกิสถานได้เดือนละ 500 ดอลลาร์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ค่าผ่อนบ้าน และค่าเล่าเรียนของลูก แต่ปัจจุบันเงินจำนวนดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 450 ดอลลาร์ และมีแนวโน้มที่จะย่ำแย่ลงไปอีกหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย มันอาจแย่จนทำให้ผมต้องตัดสินใจกลับไปหางานทำในบ้านเกิดอีกครั้ง” Faridun Abdulloev แรงงานชาวทาจิกในมอสโกให้สัมภาษณ์กับ Aljazeera
ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยของรัสเซียระบุว่า ปัจจุบันมีแรงงานจากกลุ่มประเทศในเอเชียกลางกว่า 5 ล้านคน ที่อพยพเข้ามาทำงานในรัสเซีย แบ่งเป็นแรงงานจากอุซเบกิสถาน 3 ล้านคน ทาจิกิสถาน 1.6 ล้านคน และคีร์กีซสถาน 6.2 แสนคน
ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า 1 ใน 10 ของประชากรของ 3 ประเทศข้างต้นทำงานอยู่ในรัสเซีย โดย 30% ของ GDP ทาจิกิสถานเกิดจากการโอนเงินกลับเข้ามาในประเทศของแรงงานที่เข้าไปทำงานในรัสเซีย ใกล้เคียงกับคีร์กีซสถานที่ 28% ของ GDP พึ่งพารายได้ของแรงงานในรัสเซีย เมื่อรายได้ของแรงงานเหล่านี้หดตัวลง ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ในช่วงปี 2014 ที่รัสเซียผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศแล้วถูกชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ปริมาณธุรกรรมโอนเงินจากรัสเซียกลับสู่อุซเบกิสถานและคีร์กีซสถานก็มีการปรับลดลงถึง 30% และ 25% ตามลำดับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ไปด้วย
“เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในเอเชียกลางพึ่งพารายได้ของแรงงานที่เข้าไปทำงานในรัสเซียค่อนข้างมาก หากแรงงานเหล่านี้สามารถส่งเงินกลับประเทศได้ลดลงก็จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ฐานะการคลัง ก่อให้เกิดแรงกดดันทางสังคมตามมา” Tigran Poghosyan ผู้แทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในคีร์กีซสถานกล่าว
อย่างไรก็ดี แรงงานจากเอเชียกลางบางส่วนยังเชื่อว่ารัฐบาลรัสเซียภายใต้การบริหารของปูตินจะออกมาตรการดูแลแรงงานจากเอเชียกลางไม่ให้ได้รับผลกระทบที่รุนแรงเกินไป เนื่องจากเศรษฐกิจรัสเซียเองก็พึ่งพาแรงงานกลุ่มนี้ในการขับเคลื่อนสูงเช่นกัน จึงไม่สามารถปล่อยให้เกิดการอพยพกลับประเทศครั้งใหญ่ได้
Caress Schenk อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ของ Nazarbayev University ในกรุงอัสตานาของคาซัคสถาน เชื่อว่าในกรณีเลวร้ายที่เหตุการณ์ลุกลามบานปลายจนเกิดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจในรัสเซีย แรงงานอพยพที่อยู่ในรัสเซียกลุ่มนี้คงจะเลือกย้ายไปทำงานในประเทศอื่นๆ เช่น คาซัคสถาน ตุรกี เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในระยะหลังแทน
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP