ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินว่า การทยอยฟื้นตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนในทุกระดับ รวมถึงปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากการคาดการณ์ของผู้ประกอบการและสำนักวิจัย IHS Markit จะส่งผลให้ตลาดรถหรูของไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในปีนี้ โดยคาดว่ายอดจดทะเบียนใหม่ป้ายแดงของรถยนต์หรูของไทยในปีนี้จะกลับมาขยายตัวได้ที่ 14% จากปีที่ผ่านมา
EIC ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์หรูถือเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับรถยนต์ประเภทอื่น เห็นได้จากยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ป้ายแดงของประเภทรถหรูในปี 2020 ที่หดตัวเพียง -6.4% เทียบกับยอดจดทะเบียนรถยนต์ประเภทอื่นๆ ที่หดตัวสูงถึง -24.1% เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของเซกเมนต์รถหรูคือผู้บริโภคที่มีรายได้และกำลังซื้อสูงที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยกว่า
สอดคล้องกับข้อมูลปริมาณเงินฝากในระบบในปี 2020 ที่เพิ่มขึ้น 9.9% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากบัญชีที่มีเงินฝากมากกว่า 10 ล้านบาทเป็นหลัก (56.7%) สะท้อนถึงศักยภาพและกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายรถยนต์หรูในไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเรายังคงเห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินฝากในลักษณะดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ แม้ว่าในปี 2021 ตลาดรถยนต์หรูจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่ารถยนต์ทั่วไป แต่ก็มีสาเหตุหลักมาจากปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์หรูที่จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงจำนวนมากกว่าโดยเปรียบเทียบ ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบรถยนต์หรูได้ตามแผนที่วางไว้แม้ว่าจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องก็ตาม สะท้อนได้จากยอดจดทะเบียนใหม่ป้ายแดงประเภทรถยนต์หรูของไทยในปี 2021 ที่หดตัว -9.5% ขณะที่ยอดจดทะเบียนใหม่ป้ายแดงประเภทรถยนต์ทั่วไปหดตัว -4.4%
สำหรับปี 2022 นี้ EIC มองว่าภาพรวมการแข่งขันในตลาดรถยนต์หรูยังเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งพบว่ากลุ่มผู้เล่นที่เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของค่ายรถยนต์ (Official Dealer) จะมีข้อได้เปรียบมากกว่ากลุ่มผู้นำเข้าอิสระ (Grey Market) ทั้งความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นจากการที่รถยนต์หรูบางแบรนด์ได้เข้ามาจัดตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย รวมถึงปรับปรุงการให้บริการหลังการขายเพื่อตอบโจทย์การให้บริการผู้บริโภคมากขึ้นกว่าในอดีต ด้วยการขยายระยะเวลาของโปรแกรมการบำรุงรักษาให้ยาวนานขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ดี ปีนี้ยังมีประเด็นความท้าทายและความเสี่ยงของตลาดรถยนต์ทั่วไปและตลาดรถยนต์หรูที่ต้องจับตา ได้แก่
- ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตของรถยนต์หรูบางรุ่นที่จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์
- ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนที่อาจกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและภาพรวมการใช้จ่ายของผู้บริโภค
- แนวโน้มตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ในเรื่องรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ทำให้ค่ายรถยนต์หรูต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น หรือแม้แต่เทรนด์ Sharing Economy ที่อาจช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจ Car Sharing ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP