สำนักข่าว Reuters รายงานอ้างอิงแถลงการณ์ของ Tesla, Inc. ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (7 กุมภาพันธ์) ว่าบริษัทได้รับหมายเรียกจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) จากกรณีที่ อีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Tesla ได้ทวีตข้อความซึ่งมีผลต่อมูลค่าหุ้นบริษัทในตลาด
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นหนึ่งในความพยายามของ SEC ที่ต้องการตรวจสอบว่ามัสก์ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่จะปรับปรุงแก้ไขตามที่รับปากไว้ในปี 2019 หรือไม่ โดยมีขึ้นหลังจากที่ซีอีโอของ Tesla ได้ทวีตข้อความระดมความเห็นจากบรรดาผู้ติดตามว่าสมควรขายหุ้น 10 เปอร์เซ็นต์ของ Tesla ที่ถือครองอยู่เพื่อนำมาเสียภาษีหรือไม่ ทำให้เกิดการเทขายหุ้นของ Tesla ครั้งใหญ่จนราคาหุ้น Tesla ร่วงลงอย่างหนัก
ทั้งนี้ ในปี 2018 มัสก์เคยโดนสอบกรณีจงใจเปิดเผยข้อมูลภายในเพื่อปั่นราคาหุ้นของบริษัทในตลาด ทำให้เจ้าตัวโดนเรียกสอบ และยุติข้อขัดแย้งดังกล่าวด้วยการยินยอมให้ทีมนักกฎหมายของบริษัทคอยตรวจสอบข้อความของมัสก์ก่อนเปิดเผยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ว่ามีข้อมูลใดๆ ที่มีผลต่อการซื้อขายหรือกระทบต่อราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ ซึ่งครั้งนั้นมัสก์ยังต้องสละตำแหน่งประธานกรรมการของ Tesla เป็นเวลา 3 ปี และทั้งบริษัทและซีอีโอต่างก็ต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 20 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม มัสก์ยังคงใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในการเปิดเผยความเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งของตนเองและที่เกี่ยวข้องกับ Tesla จนสร้างความกังวลใจให้กับทาง SEC
สำหรับหมายเรียกโดย SEC นี้ ออกเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2021 หรือประมาณ 10 วันหลังจากที่มัสก์ทวีตข้อความถามผู้ติดตามบน Twitter ว่าตนเองควรขายหุ้น 10 เปอร์เซ็นต์เพื่อนำเงินไปจ่ายภาษีดีหรือไม่
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้กลายเป็นอีกหนึ่งกระแสกดดันที่ทาง Tesla ต้องเผชิญ หลังจากที่สัปดาห์ที่แล้วทางค่ายเพิ่งประกาศเรียกคืนรถยนต์เกือบ 54,000 คัน จากปัญหาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติที่อาจทำให้รถเบรกได้ไม่นิ่งสนิทจนอาจเป็นอันตรายกับผู้ขับขี่ได้ บวกกับกรณีที่ 6 พนักงานหญิง Tesla ลุกขึ้นฟ้องบริษัท ฐานสนับสนับสนุนส่งเสริมวัฒนธรรมการคุกคามทางเพศในโรงงานที่แคลิฟอร์เนียและสถานที่อื่นๆ ซึ่งรวมถึงการแตะเนื้อต้องตัวโดยไม่พึงประสงค์ การพูดจาแทะโลมดูหมิ่น และมีการตอบโต้ผู้ร้องเรียน โดยโจทก์บางคนบอกว่า แม้แต่ ‘มัสก์’ เองชอบทวีตยั่วยุส่งเสริมพฤติกรรมดังกล่าวในที่ทำงาน
นอกจากนี้ Tesla ยังได้เปิดเผยรายงานผลประกอบการต่อ SEC สหรัฐฯ ด้วยว่า บริษัทมีผลขาดทุนทางบัญชีจากการลงทุนใน Bitcoin ประจำปี 2021 ถึง 3 พันล้านบาท
โดย Tesla ได้อธิบายถึงผลการลงทุนดังกล่าวว่าจะกระทบต่อผลกำไรของบริษัท ซึ่งได้บันทึกผลการขาดทุนทางบัญชีจากการลงทุนใน Bitcoin ตามราคาตลาดกว่า 3 พันล้านบาทจากการถือเหรียญดังกล่าว หลังได้ขายทำกำไร (Realized Gain) ไปในช่วงต้นปี 2021 กว่า 4.4 พันล้านบาท
ทางคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชี (FASB) ได้กล่าวถึงมาตรฐานนโยบายทางบัญชีว่า ทุกบริษัทที่มีการเข้าลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลควรต้องรายงานมูลค่าการขาดทุนทางบัญชีของสินทรัพย์นั้นๆ แม้การขาดทุนหรือกำไรจะยังไม่ได้รับรู้ก็ตาม (Unrealized Loss / Profit)
ทั้งนี้ Tesla ได้นำเงินสดของบริษัทเข้าลงทุนใน Bitcoin นับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2021 โดยมีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจากข้อมูลรายงานต่อ SEC เผยว่า ในช่วงปิดปีที่ผ่านมา ทางบริษัทรายงานว่ามีการถือ Bitcoin ที่มูลค่ากว่า 6.5 หมื่นล้านบาท
ในปีที่ผ่านมา Tesla ได้สร้างเสียงฮือฮาในระดับโลก จากการประกาศนำเงินสดลงทุนใน Bitcoin กว่า 5 หมื่นล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นยังพร้อมเปิดรับการชำระสินค้าใน Tesla ด้วย Bitcoin เช่นเดียวกัน ก่อนจะประกาศถึงความกังวลในประเด็นเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการขุด Bitcoin ในเวลาต่อมา ก่อนที่ท้ายที่สุดมัสก์จะออกมายืนยันว่าจะประกาศรับชำระด้วยคริปโตแน่นอน หาก 50% ของการขุดเหรียญเหล่านั้นใช้พลังงานสะอาด
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP