×

เศรษฐกิจยูโรโซนโตชะลอตัวอย่างหนัก สารพัดปัจจัยลบรุมเร้า ทั้งพิษโอมิครอน-ราคาพลังงานพุ่ง

01.02.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจยูโรโซน

อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของ 19 ชาติสมาชิกผู้ใช้เงินยูโร หรือ ‘ยูโรโซน’ ส่งสัญญาณชะลอตัวอย่างรุนแรงในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 ที่ผ่านมา อันเป็นผลจากปัจจัยลบรุมเร้า ทั้งปัญหาการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ปัญหาขาดแคลนในระบบห่วงโซ่การผลิต และปัญหาราคาพลังงานพุ่งบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค

 

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติยุโรป เผยรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศสมาชิกยูโรโซน พบว่า มีการขยายตัวเพียง 0.3% ในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา โดยชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 3 ก่อนหน้า ที่มีการขยายตัว 2.3% ซึ่งทิศทางของ GDP ดังกล่าวสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ก่อนหน้านี้

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจรายปีแล้วพบว่า GDP ของยูโรโซนตลอดทั้งปี 2021 ขยายตัวเติบโตที่ 4.6% ซึ่งตรงกับที่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งคาดการณ์กันไว้ 

 

สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้ GDP ของยูโรโซนชะลอตัวอย่างรุนแรงเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนี ยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของยูโรโซน ที่มีการเติบโตในไตรมาส 4 เพียง 0.7% เท่านั้น ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนน่าจะแผ่วลงในฤดูใบไม้ผลิ จากนั้นเศรษฐกิจยูโรโซนก็น่าจะฟื้นตัวและพลิกกับมาเติบโตขึ้นได้อีกครั้ง

 

ภาคธุรกิจที่อ่อนไหวต่อการระบาดของโควิด อย่างภาคการท่องเที่ยวและสันทนาการได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด เพราะมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดที่นำออกมาใช้ ทำให้การใช้จ่ายในภาคธุรกิจดังกล่าวลดลงอย่างชัดเจน

 

นอกจากนี้ แนวโน้มการเติบโตของ GDP ยูโรโซนยังเผชิญปัจจัยลบจากปัญหาราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น บวกกับภาวะขาดแคลนในห่วงโซ่อุปทานที่ส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งขยับปรับตัวทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 5% ในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กระทบต่ออำนาจการจับจ่ายของผู้บริโภค ยังไม่นับรวมปัจจัยกดดันการเติบโตจากภายนอกอย่าง ปัญหาขัดแย้งตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน 

 

นักวิเคราะห์และนักลงทุนต่างจับตามองความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่จะมีการประชุมในวันพฤหัสบดีนี้ (3 กุมภาพันธ์) ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการหารือแนวทางเพื่อผ่อนคลายความกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ โดยนักวิเคราะห์มองว่า  ECB มีแนวโน้มจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิม แต่น่าจะส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้า

 

ขณะเดียวกัน เหล่านักลงทุน และตลาดการเงินโลกต่างจับตาการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้ด้วยเช่นกัน โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า BOE จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2004 เพราะมีเป้าหมายต้องการนำพาเศรษฐกิจอังกฤษให้สลัดหลุดพ้นจากอัตราเงินเฟ้อสูงที่ขยับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ 

 

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางอังกฤษได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 0.25% จากระดับต่ำสูดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.1% หลังข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรขยับพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 30 ปีในเดือนธันวาคม 

 

สำหรับสาเหตุที่ดันให้ตัวเลขเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรขยับตัวพุ่งขึ้นทุบสถิติ เป็นผลจากราคาพลังงานที่แพงขึ้น อุปสงค์ภายในประเทศฟื้นตัว และผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทาน

 

แม้ว่าสถานการณ์โดยรวมของสหราชอาณาจักรจะมีเสถียรภาพมากขึ้น และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจคุกคามต่อแนวโน้มการเติบโต แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า BOE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยโดยรวมของอังกฤษเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.5%

 

เจมส์ สมิธ นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วของ ING กล่าวว่า การตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างไม่คาดคิดในเดือนธันวาคม ชี้ให้เห็นว่าธนาคาร โดยเฉพาะ ประธาน แอนดรูว์ เบลีย์ ยังกังวลอย่างชัดเจนเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้น และความเสี่ยงต่อการปรับขึ้นค่าแรง พร้อมแนะว่าสถานการณ์โอมิครอนที่คลี่คลายในทางบวก จะหนุนให้ BOE ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 0.25% มาอยู่ที่ 0.5%

 

ด้าน ซันเจย์ ราชา (Sanjay Raja) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารดอยซ์แบงก์ คาดว่า BOE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เช่นกัน และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาพลังงาน น่าจะส่งผลกระทบกับอุปสงค์ในอนาคต สภาวะทางการเงินที่ตึงตัวทั่วโลกยับยั้งการเติบโตทั่วโลก ดังนั้นจึงส่งผลต่อความต้องการภายนอกของสหราชอาณาจักร และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยผลักดันต้นทุนการกู้ยืมสำหรับครัวเรือนและบริษัท ซึ่งจะทำให้การเติบโตของ GDP ลดลง

 

อ้างอิง:


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X