×

สรุป 6 ประเด็นสำคัญการลงทุนเดือนมกราคม ตลาดหุ้นโลกร่วง 7% โบกมือลาหุ้น Growth ส่วนความเสี่ยงปีนี้อยู่ที่เงินเฟ้อและนโยบายการเงินทั่วโลก

30.01.2022
  • LOADING...
สรุป 6 ประเด็นสำคัญการลงทุนเดือนมกราคม ตลาดหุ้นโลกร่วง 7% โบกมือลาหุ้น Growth ส่วนความเสี่ยงปีนี้อยู่ที่เงินเฟ้อและนโยบายการเงินทั่วโลก

บรรยากาศการลงทุนในเดือนมกราคม 2022 โดยภาพรวมแล้วอาจจะพูดได้ว่าไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีนัก หลังจากที่สินทรัพย์การลงทุนแต่ละประเภทเผชิญกับแรงเทขายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และนี่คือ 6 บทสรุปสำคัญของเดือนแรกที่กำลังจะผ่านไป

 

1. ตลาดหุ้นโลกร่วง 7% โบกมือลาหุ้น Growth 

ดัชนี MSCI All Country World Index (MSCI ACWI) ซึ่งเป็นตัวแทนของดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก โดยคำนวณจากหุ้นกว่า 2,900 ตัว ซึ่งเป็นของบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางที่กระจายอยู่ในตลาดหุ้น 50 ตลาดทั่วโลก โดย ณ วันที่ 27 มกราคม ดัชนี MSCI ACWI ติดลบไป 7.66% สะท้อนให้เห็นถึงแรงขายที่ออกมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเดือนมกราคม 

 

ทั้งนี้ หากลองพิจารณาตลาดหุ้นสำคัญอย่างสหรัฐฯ ซึ่งมีดัชนีหลัก 3 ดัชนี คือ Dow Jones, S&P 500 และ Nasdaq โดยที่ดัชนี Nasdaq เป็นดัชนีที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดราว 15% ขณะที่ Dow Jones ลดลง 6.6% ในส่วนนี้พอจะสะท้อนภาพให้เห็นว่า แรงขายที่เกิดขึ้นในกลุ่มหุ้นเทคโนโลยี ซึ่งส่วนมากจะคำนวณอยู่ในดัชนี Nasdaq ดูเหมือนจะรุนแรงมากกว่ากลุ่มหุ้น Value Stock ที่คำนวณอยู่ในดัชนี Dow Jones เป็นส่วนใหญ่ 

 

ความแตกต่างที่เกิดขึ้นยังสะท้อนให้เห็นผ่านตลาดหุ้นในเอเชีย ซึ่งดัชนีหุ้นของประเทศที่ถูกขับเคลื่อนด้วยหุ้นเทคโนโลยีก่อนหน้านี้ เช่น เกาหลีใต้ (-12.2%) ญี่ปุ่น (-7.2%) จีน (-6.7%) และไต้หวัน (-3%) ต่างร่วงลงแรงกว่าดัชนีหุ้นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างอินโดนีเซีย (+0.4%) ฟิลิปปินส์ (+2.1%) รวมถึงไทย (-1.9%)

 

2. หุ้นไทยเดือนมกราคม ‘ดีครึ่งแรก-แย่ครึ่งหลัง’ 

ครึ่งเดือนแรกของเดือนมกราคม 2022 หลังจากที่ตลาดหุ้นไทยกลับมาเปิดทำการในวันที่ 4 มกราคม ดัชนี SET เพิ่มขึ้นจาก 1,657 จุดเมื่อปีก่อน ไปแตะระดับ 1,680 จุด โดยตลอด 9 วันทำการของครึ่งเดือนแรก ดัชนี SET เป็นปิดบวกได้ถึง 6 วัน แต่หลังจากเข้าสู่ครึ่งเดือนหลัง ภาพการลงทุนเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ดัชนี SET ปิดบวกได้เพียง 2 วัน จากทั้งหมด 9 วันทำการ (ถึงวันที่ 27 มกราคม 2022) พร้อมกับการร่วงลงไปแตะ 1,617 จุด หรือลดลง 3.75% จากจุดสูงสุดของปี โดยรวมแล้วดัชนี SET ติดลบอยู่ 1.4% 

 

การวิ่งขึ้นของหุ้นไทยในช่วงครึ่งแรกได้แรงหนุนจากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นฝ่ายซื้อสุทธิ 1.37 หมื่นล้านบาท สวนทางกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่เป็นฝ่ายขายสุทธิ 1.49 หมื่นล้านบาท หลังจากนั้นแม้ว่าแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติจะชะลอลง แต่โดยรวมยังคงเป็นการซื้อสุทธิอีก 940 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ วันที่ 27 มกราคม 2022 ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิ 1.47 หมื่นล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันเป็นกลุ่มที่ขายออกมารวม 2.57 หมื่นล้านบาท โดยจาก 18 วันทำการที่ผ่านมา นักลงทุนสถาบันขายสุทธิไปถึง 14 วัน 

 

กลุ่มหุ้นที่เผชิญแรงขายมากที่สุดในเดือนแรกนี้ คือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (-15.7%) รองลงมาคือ บรรจุภัณฑ์ (-7.5%) และบริการเฉพาะกิจ (-7.4%) ขณะที่กลุ่มหุ้นที่โดดเด่นขึ้นมาคือ ปิโตรเคมี (+3.8%) และธนาคารพาณิชย์ (3.1%) 

 

ในขณะที่ดัชนี mai เพิ่มขึ้น 5.6% ซึ่งต้องบอกว่าเป็นผลหลักจากหุ้นพีเอสจี คอร์ปอเรชั่น (PSG) ที่เพิ่มขึ้น 101.7% โดยปัจจุบัน PSG มีมูลค่าถึง 7.6 หมื่นล้านบาท 

 

3. เงินเฟ้อร้อนแรงกว่าที่คิด น้ำมันยังคงแพงสุดในรอบเกือบ 8 ปี 

เรื่องของเงินเฟ้อยังเป็นประเด็นสำคัญที่กดดันบรรยากาศการลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นแตะ 7% มากที่สุดนับแต่เดือนมิถุนายน ปี 1982 แรงกดดันจากเงินเฟ้อทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จำเป็นจะต้องพิจารณาเรื่องของการขึ้นดอกเบี้ยอย่างจริงจัง และอาจจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยที่ ‘เร็วและแรง’ กว่าที่ตลาดเคยคาดการณ์กันไว้

 

จากถ้อยแถลงของ Fed เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะมีขึ้นในเดือนมีนาคมนี้อย่างที่หลายฝ่ายประเมินกันไว้ แต่อัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นอาจจะไม่ใช่แค่ 0.25% แต่ไปถึง 0.5% 

 

Financial Times มองว่าการจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อในครั้งนี้อาจจะไม่สามารถใช้แนวทางตามตำราดั้งเดิมได้ เพราะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในรอบนี้เป็นผลจากเรื่องของข้อจำกัดด้านอุปทาน (Supply Constraints) นั่นหมายความว่าธนาคารกลางอาจต้องลดอุปสงค์ในตลาดลง ซึ่งในส่วนนี้อาจจะหมายถึงการผลักให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นไปเกิน 10% หากยังไม่สามารถที่จะจัดการให้เศรษฐกิจโลกกลับมาเปิดดำเนินการได้มากขึ้น

 

เงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้นส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากราคาน้ำมันดิบโลก (อิงจาก WTI) ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ที่เพิ่มขึ้น 67.2% มาแตะระดับ 87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบเกือบ 8 ปี ราคาน้ำมันที่ยืนอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องผลักให้ต้นทุนสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ผลักให้ราคาน้ำมันยังเพิ่มขึ้น เกิดจากความกังวลในเรื่องของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้

 

4. ทองคำแค่ทรงตัวบริเวณ 1,800 ดอลลาร์ 

โดยทฤษฎีแล้วทองคำคือสินทรัพย์ที่ใช้ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ราคาทองคำก็ควรจะปรับเพิ่มขึ้นตาม อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำในช่วง 1 ปีที่ผ่านมายังคงทรงตัวอยู่บริเวณ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากที่เคยพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2020 

 

Prashant Jain ซีอีโอ ของ HDFC Mutual Fund เชื่อว่า แม้เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นในขณะนี้ แต่ราคาทองคำก็อาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เหตุผลสำคัญเป็นเพราะว่าเรากำลังจะเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลลบต่อราคาทองคำ เพราะเงินลงทุนจะถูกดึงกลับไปสู่ตราสารหนี้ 

 

5. คริปโตเคอร์เรนซีมูลค่าหาย 1 ล้านล้านดอลลาร์ 

ในขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคริปโตเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่ถูกเทขายออกมาอย่างหนัก จนมูลค่าของตลาดรวม (Market Cap) ของคริปโตหายไปกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมูลค่าที่หายไปนี้ส่วนสำคัญมาจากการลดลงของมูลค่าของ Bitcoin ที่ลดลงไป 6 แสนล้านดอลลาร์ ในระหว่างที่ราคาลดลงมาต่ำกว่า 36,000 ดอลลาร์ 

 

ก่อนหน้านี้มีมุมมองที่ว่า Bitcoin คือ Digital Gold และคาดการณ์กันว่าเมื่อเกิดความกังวลในเรื่องของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น เงินลงทุนมีโอกาสที่จะไหลเข้า Bitcoin เพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ตรงข้าม 

 

Peter Schiff ซีอีโอของ Euro Pacific Capital Inc. เคยกล่าวไว้ว่า “ไม่มีใครซื้อทองคำเพื่อต้องการจะรวยขึ้น แต่พวกเขาซื้อทองคำเพื่อจะรักษาความรวยเอาไว้ ทองคำสะท้อนเรื่องของความอนุรักษนิยม เรื่องของการรักษามูลค่าในระยะยาว และป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ แต่กับ Bitcoin ยังไม่ใช่สิ่งเหล่านี้” 

 

ในช่วงที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างดัชนี Nasdaq และราคา Bitcoin สำหรับช่วง 100 วัน มีความสัมพันธ์กันมากถึง 40% ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างทองคำและ Bitcoin อยู่ที่เพียง 0.8% เรียกได้ว่าราคาไปในทิศทางเดียวกันแค่เพียงเล็กน้อยมาก

 

6. โควิดครบรอบ 2 ปี 

 

จากต้นปี 2020 ที่โควิดเริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลก ปัจจุบันก็ผ่านมาครบ 2 ปี โควิดยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยกดดันต่อบรรยากาศการลงทุนในหลายๆ ด้าน สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นล่าสุดคือ การระบาดของโควิดระลอกใหม่อย่างสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งกลับมากระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทั่วโลก และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่กระตุ้นให้เงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น 

 

การแพร่ระบาดของโอมิครอนส่งผลให้หลายประเทศในโลกต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มยุโรป ซึ่งก่อนหน้านี้ดูเหมือนจะเดินหน้าเปิดประเทศได้แล้ว แต่หลายประเทศ อาทิ เนเธอร์แลนด์ ที่กลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้น ขณะที่หลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ ก็กลับมาเพิ่มมาตรการสำหรับการเดินทางระหว่างกันมากขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำลง ส่งผลให้นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมองว่าผลกระทบจากโอมิครอนที่เกิดขึ้นจะค่อนข้างจำกัด และเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าการแพร่ระบาดที่ผ่านมา

 

ความเสี่ยงและโอกาสของการลงทุนในปี 2022 

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ มองว่า ความเสี่ยงสำคัญของการลงทุนในระยะถัดจากนี้คือเรื่องของเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวชี้นำนโยบายของธนาคารสำคัญๆ ทั่วโลก ซึ่งในส่วนนี้คงต้องจับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่จะทยอยประกาศออกมาหลังจากนี้ 

 

เงินเฟ้อในรอบนี้เกิดจากเรื่องของความไม่สมดุลระหว่างซัพพลายและดีมานด์ ซึ่งในฝั่งของดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเปิด ขณะที่การแพร่ระบาดของโอมิครอนกระทบต่อซัพพลายทั่วโลก

 

“ส่วนตัวมองว่าหากโอมิครอนเริ่มบรรเทา จะทำให้ปัญหา Supply Shortage รุนแรงน้อยลงมาก ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะเริ่มบรรเทาลง ส่วนหนึ่งเราจะเห็นการเติบโตของเงินเฟ้อที่ไม่สูงเท่ากับที่ผ่านมา เนื่องจากฐานเงินเฟ้อเริ่มขยับขึ้นมาสูงตั้งแต่ต้นปีก่อน” 

 

สิ่งที่อาจจะทำให้นักลงทุนเริ่มเบาใจได้อย่างหนึ่งคือ ตลาดในขณะนี้ซึมซับข่าวร้ายเข้าไปค่อนข้างเร็ว ดูจากบรรยากาศการลงทุนหลังจากถ้อยแถลงของ Fed ล่าสุด ซึ่งตลาดตอบรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างทันที และหากท่าทีของ Fed เริ่มผ่อนคลายลงหลังจากนี้ จะทำให้ตลาดฟื้นตัวได้เร็ว 

 

ในแง่โอกาสของการลงทุน เชื่อว่าเงินทุนมีโอกาสจะไหลเข้าไปยังตลาดที่มีโอกาสจะเติบโตได้ต่อในปี 2023 เทียบกับ 2022 ขณะเดียวกันก็เป็นตลาดที่ยังมีแนวโน้มจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป 

 

ซึ่งในส่วนนี้จะมีเพียงไม่กี่ประเทศที่เข้าเงื่อนไขนี้ คือ จีน และกลุ่มประเทศอาเซียน-5 ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และไทย 

 

“6 ประเทศนี้มีแนวโน้มที่ GDP ในปี 2023 จะเติบโตได้ดีกว่าปี 2022 ขณะที่นโยบายการเงินยังห่างไกลจากการเข้มงวด ขณะที่จีนดูจะผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้นด้วย” 

 

ขณะที่หุ้นในกลุ่ม Growth ซึ่งเคยเป็นผู้นำตลาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้ถูกปรับลดมุมมองเชิงบวกลงมาค่อนข้างมาก 

 

“ในระยะสั้น สิ่งที่ทุกคนอยากเห็นจะเป็นเรื่องความชัดเจนในเรื่องของงบดุลของ Fed เพราะถ้อยแถลงล่าสุดยังไม่ชัดเจนนัก ประเด็นนี้จะทำให้เกิด Overhang ในตลาดต่อไป” 

 

 

ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising