เราอยู่ร่วมกับวิกฤตโควิดมา 2 ปี และปัจจุบันกำลังจะเข้าปีที่ 3 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของโควิดเป็นปัจจัยให้การปรับโครงสร้างกิจการเป็นประเด็นที่หลายบริษัทได้คำนึงถึง เพราะหลังผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปแล้ว การเตรียมพร้อมโครงสร้างบริษัทเพื่อรอวันที่เศรษฐกิจกลับมาแข็งแรงย่อมส่งผลลัพธ์ที่ดีต่อผลการดำเนินงานของบริษัท
อย่างไรก็ตามสาเหตุของการปรับโครงสร้างกิจการนั้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะมาจากภาระทางภาษีและกฎหมาย หรือโอกาสทางธุรกิจ เช่น การต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดราคาโอน (Transfer Pricing) ที่ทำให้บริษัทในกลุ่มที่มีการซื้อขายระหว่างกันจะต้องกำหนดกำไรจากการขาย การหานักลงทุนร่วมเพื่อมาเพิ่มศักยภาพและสภาพคล่องด้านการเงินของบริษัท การเสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering: IPO) และการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น
ดังนั้นเมื่อการปรับโครงสร้างกิจการมีบทบาทสำคัญในแง่ของการเตรียมพร้อมรับเศรษฐกิจที่จะกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง ซึ่งผู้ประกอบการบางครั้งก็ยังสับสนว่าจะเริ่มจากส่วนไหน ผู้เขียนจึงขอแนะนำสิ่งที่ต้องดำเนินการเบื้องต้น ดังนี้
สำรวจโครงสร้างของบริษัท ผู้ประกอบการต้องสำรวจโครงสร้างบริษัทว่ามีรอยรั่ว หรือปัญหาใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจหรือไม่ เช่น มีต้นทุนที่ซ้ำซ้อนเกิดขึ้นในกลุ่ม เนื่องจากมีการซื้อขายวัตถุดิบระหว่างกันในกลุ่มบริษัทหรือไม่ เพราะบ่อยครั้งที่เราจะพบว่าในกลุ่มบริษัท โดยเฉพาะสายการผลิต มักจะมีการแชร์ต้นทุนร่วมกันเนื่องจากหาวัตถุดิบจากคู่ค้าไม่ทัน ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องมีการขายวัตถุดิบออกไปในราคาตลาด เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายการกำหนดราคาโอน และก่อให้เกิดกำไรจากการขาย ซึ่งไม่มีความจำเป็นในแง่ของการบริหารในเครือ ดังนั้นหลายบริษัทอาจพิจารณารวมบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจเหมือนกัน เพื่อให้ต้นทุนของบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจเหมือนกันอยู่ที่เดียวกันและเห็นผลการดำเนินงานที่แท้จริง เป็นต้น
อีกตัวอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยครั้งคือ ในกรณีของกลุ่มบริษัทที่อยู่ระหว่างการเตรียมตัวที่จะ IPO สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องตัดสินใจเป็นอย่างแรกคือ บริษัทใดในเครือที่จะต้องแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทดังกล่าวต้องดำเนินการให้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยในส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทในเครือ หากมีการถือหุ้นไขว้ระหว่างกันอาจต้องพิจารณาโอนหุ้นดังกล่าวออก เนื่องจากการถือหุ้นไขว้ระหว่างบริษัทในเครือ หรือระหว่างบริษัทจดทะเบียนกับบริษัทย่อย เป็นหนึ่งในคุณสมบัติต้องห้ามของ ก.ล.ต. เป็นต้น
วิธีการปรับโครงสร้างกิจการ การปรับโครงสร้างกิจการภายใต้กฎหมายไทยมี 4 วิธี ซึ่งการเลือกใช้วิธีใด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละบริษัท ดังนี้
- การโอนหุ้น เป็นวิธีที่มีขั้นตอนน้อยที่สุด แต่การปรับโครงสร้างด้วยวิธีนี้มีสิ่งที่ต้องพิจารณา คือกรณีผู้โอนเป็นนิติบุคคลราคาที่กำหนดใช้ในการโอนหุ้นควรเป็นไปตามราคาตลาดตามประมวลรัษฎากร และมีภาระภาษีกรณีมีกำไรจากเงินลงทุน (Capital Gains Tax) รวมถึงภาระหน้าที่ทางกฎหมายและภาษีอื่นของผู้ขายหุ้นด้วย ไม่ว่าผู้ขายจะเป็นนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน เช่น การโอนขายหุ้นของบุคคลธรรมดาจะต้องนำกำไรจากการขายหุ้นเฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน มารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งปัจจุบันเรียกเก็บในอัตราก้าวหน้า (Progressive Tax Rate) ร้อยละ 5-35 ของเงินได้สุทธิ ส่วนการโอนขายหุ้นของนิติบุคคล จะต้องนำกำไรจากการขายหุ้นดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายได้ ซึ่งปัจจุบันอัตราเรียกเก็บมาตรฐานคือร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ การปรับโครงสร้างด้วยวิธีนี้มักนิยมใช้ในกลุ่มบริษัทที่ไม่ได้มีรายการระหว่างกันเป็นจำนวนมาก และต้องการวางแผนรูปแบบการรับเงินปันผลจากบริษัทในเครือเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น
- การโอนกิจการทั้งหมด เป็นวิธีการรวมบริษัทที่ทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิและภาระหน้าที่ของบริษัทผู้โอนจะโอนไปยังบริษัทผู้รับโอน และบริษัทผู้โอนก็ต้องดำเนินการเลิกกิจการภายในปีบัญชีที่มีการโอนกิจการเกิดขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะได้รับยกเว้นภาษีทั้งหมด อย่างไรก็ตามยังคงมีค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 2 ของกรมที่ดินเนื่องจากการโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะไม่ได้รับยกเว้นในกรณีนี้ ดังนั้นหากเป็นธุรกิจที่มีการถือครองที่ดินเป็นจำนวนมากอาจไม่เหมาะกับวิธีการนี้
- การควบรวมกิจการ เป็นวิธีการรวมบริษัทที่ทรัพย์สิน หนี้สิน ส่วนผู้ถือหุ้น และภาระหน้าที่ของทั้งสองบริษัทจะรวมกันกลายเป็นบริษัทใหม่ และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยจะได้รับยกเว้นภาษีทั้งหมด ซึ่งรวมถึงค่าธรรมเนียมในการโอนที่ดินด้วย ดังนั้นธุรกิจที่มีการถือครองที่ดินเป็นจำนวนมากอาจพิจารณาวิธีการนี้ การควบรวมกิจการและการโอนกิจการทั้งหมดเป็นวิธีการที่แก้ปัญหาเรื่องการกำหนดราคาโอนมากที่สุด เพราะเป็นการรวมบริษัทที่มีต้นทุนคล้ายกันมาไว้ที่บริษัทเดียว
- การโอนกิจการบางส่วน เป็นวิธีการโอนหน่วยธุรกิจบางส่วนของบริษัทผู้โอน ไปยังบริษัทผู้โอน โดยที่บริษัทผู้โอนจะต้องหยุดการประกอบกิจการที่โอนด้วย ทั้งนี้การโอนกิจการบางส่วนโดยทั่วไปแล้วจะเกิดจากบริษัทที่ต้องการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท หรือต้องการขายธุรกิจบางส่วนออกไป ทั้งนี้เงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในรูปแบบนี้มีเงื่อนไขและรายละเอียดที่ต้องศึกษา และภาษีที่ได้รับยกเว้นจะมีเพียงภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์เท่านั้น
นอกเหนือจากการสำรวจโครงสร้างและวิธีการปรับโครงสร้างแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมด้วย เช่น
- ใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจของบริษัท บ่อยครั้งใบอนุญาตดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการโอนไปยังบริษัทผู้รับโอนได้หากใช้วิธีการโอนกิจการทั้งหมด และจำเป็นต้องขอใบอนุญาตใบใหม่ ซึ่งอาจใช้เวลานานและไม่สามารถออกได้ทันเวลา ดังนั้นในสถานการณ์นี้การใช้วิธีการควบรวมกิจการอาจเป็นวิธีหนึ่งที่นำมาใช้พิจารณาหากใบอนุญาตดังกล่าวสามารถโอนมายังบริษัทใหม่ได้
- การโอนย้ายพนักงานหรือการเลิกจ้างพนักงาน ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญ และจำเป็นต้องพิจารณาว่าพนักงานที่จะถูกโยกย้ายจะยังคงต้องได้รับสวัสดิการและผลประโยชน์เท่าเดิมด้วย มิฉะนั้นอาจมีการถูกร้องเรียนตามกฎหมายแรงงานย่อมก่อให้เกิดปัญหาที่ตามมาระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง
สุดท้ายนี้ หากท่านผู้อ่านได้พิจารณาข้อแนะนำข้างต้นแล้วมีความสนใจและต้องการจะปรับโครงสร้างกิจการ ผู้เขียนแนะนำว่าการปรับโครงสร้างกิจการจะต้องมีการวางแผนและควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้ครอบคลุมทั้งด้านกฎหมาย ภาษีและบัญชี เนื่องจากการปรับโครงสร้างกิจการมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานในบริษัท
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP