Seven & i Holdings กลุ่มค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น กำลังเผชิญกับแรงกดดันในการยกเครื่องธุรกิจ โดยกองทุนนักลงทุนสถาบันของสหรัฐฯ เรียกร้องให้มุ่งเน้นไปที่ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ที่ทำกำไรได้ และแยกธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้าที่มีผลงานไม่ค่อยดีนักออกมา
“เราเชื่อว่า Seven & i จะต้องดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างที่กล้าหาญ และดำเนินการอย่างเร่งด่วน” ValueAct Capital ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ Seven & i มาตั้งแต่ปี 2020 มีสัดส่วนการถือหุ้น 4.4% และเป็นนักลงทุนสถาบันที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจาก Nomura Asset Management กล่าวในจดหมายเปิดผนึก “บริษัทไม่มีจุดสนใจในเชิงกลยุทธ์และมีประสิทธิภาพต่ำกว่าศักยภาพอย่างมาก” โดยเฉพาะกับธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven
ความต้องการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ Toshiba ถูกบังคับให้แบ่งตัวเองออกเป็น 3 บริษัทในปีที่แล้ว ซึ่งนักลงทุนให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจและสินทรัพย์ที่มีความหลากหลายน้อยกว่าการนำธุรกิจมารวมภายใต้บริษัทเดียว ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงและลดประสิทธิภาพของเงินทุน
หลังจากมีจดหมายดังกล่าวออกมา รายงานจาก Nikkei Asia ระบุว่า Seven & i พุ่งขึ้นกว่า 3% เป็น 5,461 เยนในเช้าวันพุธ (26 มกราคม) ซึ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2016 นั่นแปลว่านักลงทุนเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว
ValueAct ขอให้คณะกรรมการของ Seven & i จัดตั้ง ‘คณะกรรมการพิจารณาเชิงกลยุทธ์’ และติดต่อนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ที่สุดของบริษัทเพื่อรับฟังความคิดเห็นของพวกเขา นอกจากนี้ยังขอให้ Seven & i ตอบรับคำขอด้วยการประกาศต่อสาธารณะในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ หลังจากการประชุมคณะกรรมการตามกำหนดครั้งต่อไป
Seven & i มีกำไรจากการดำเนินงาน 3.029 แสนล้านเยน หรือ 8.72 หมื่นล้านบาท ในช่วง 9 เดือนนับจากเดือนมีนาคมปีที่แล้ว โดย 3.019 แสนล้านเยน หรือ 8.7 หมื่นล้านบาท มาจากการดำเนินงานของธุรกิจร้านสะดวกซื้อในประเทศและต่างประเทศ
ธุรกิจร้านซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Ito-Yokado มีกำไรจากการดำเนินงาน 1.01 หมื่นล้านเยนในช่วงเวลาเดียวกัน ในขณะที่ห้างสรรพสินค้าทั้ง Sogo และ Seibu ขาดทุนจากการดำเนินงาน 10.2 พันล้านเยน แม้ว่าจะมีการปิดร้านและการลดจำนวนบุคลากรก็ตาม
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP