ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ประกาศจะพิจารณาคว่ำบาตรโดยตรงต่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ถ้าหากกองทัพรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครน พร้อมเตือนความเคลื่อนไหวของรัสเซียในพื้นที่ชายแดนยูเครนว่าจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อทั่วโลก
ท่าทีของไบเดนมีขึ้นระหว่างการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเมื่อวานนี้ (25 มกราคม) โดยไบเดนถูกถามว่า เขาจะพิจารณาคว่ำบาตรโดยตรงต่อปูตินหรือไม่ หากรัสเซียรุกรานยูเครน ซึ่งไบเดนตอบรับว่า ‘ใช่’ และยืนยันว่าจะมีการพิจารณาในเรื่องนี้
การที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรโดยตรงต่อผู้นำต่างชาตินั้นเกิดขึ้นได้ยาก แต่ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งที่ผ่านมามีผู้นำหลายประเทศที่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรโดยตรง เช่น นิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีของเวเนซุเอลา, บาชาร์ อัล-อัสซาด ประธานาธิบดีของซีเรีย และพลเอกมูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำเผด็จการของลิเบีย
สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่กองทัพรัสเซียเคลื่อนกำลังทหารกว่า 100,000 นาย ไปยังพื้นที่ชายแดนติดกับยูเครน ซึ่งสร้างความกังวลแก่สหรัฐฯ และชาติตะวันตก
โดยไบเดนยืนยันว่าสหรัฐฯ ไม่มีแผนส่งกำลังทหารไปยังยูเครนด้วยตนเอง เนื่องจากยูเครนไม่ใช่สมาชิกของ NATO แต่เตือนว่าความเคลื่อนไหวของรัสเซียในพื้นที่ชายแดนยูเครนนั้น อาจหมายถึงผลกระทบที่ตามมาอย่างใหญ่หลวงต่อทั่วโลก และอาจเป็นการรุกรานครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้สั่งการให้กำลังทหารที่ประจำการในยุโรปราว 8,500 นายเตรียมความพร้อมแล้ว และเมื่อวานนี้เครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯ ได้นำยุทโธปกรณ์ทางทหารส่งไปถึงกรุงเคียฟเป็นครั้งที่ 3 เพื่อช่วยเสริมศักยภาพในการป้องกันตนเองของยูเครน
ทางด้านรัสเซียได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ ที่พยายามขยายความตึงเครียดจากประเด็นนี้ และยืนกรานปฏิเสธแผนรุกรานยูเครน พร้อมทั้งตอบโต้ท่าทีของไบเดน โดยกล่าวหาสหรัฐฯ และ NATO ที่จัดส่งอาวุธและที่ปรึกษาทางการทหารให้แก่ยูเครน
ขณะที่คณะผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติของมอสโก ออกแถลงการณ์โดยตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่กองทัพเรือสหรัฐฯ มีความเคลื่อนไหวใกล้ชายฝั่งรัสเซีย
สถานการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้นทำให้ผู้นำชาติตะวันตก โดยเฉพาะผู้นำสหภาพยุโรป หรือ EU ต่างยกระดับเตรียมความพร้อมทางทหารในการรับมือกับความเคลื่อนไหวของรัสเซีย หากมีการเปิดฉากบุกยูเครน พร้อมทั้งเตรียมแผนป้องกันวิกฤตขาดแคลนพลังงาน เนื่องจากรัสเซียนั้นเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติให้กับ EU คิดเป็นสัดส่วนกว่า 1 ใน 3
ซึ่งทางรัฐบาลวอชิงตันเปิดเผยว่ากำลังเร่งเจรจากับประเทศและบริษัทผู้ผลิตก๊าซและน้ำมันรายใหญ่ทั่วโลก ทั้งในเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ เพื่อหาทางเพิ่มกำลังการจัดส่งก๊าซไปยังยุโรป ป้องกันภาวะขาดแคลนพลังงานในกรณีที่รัสเซียเปิดฉากบุกยูเครน
ภาพ: Photo by SAUL LOEB / AFP
อ้างอิง: