ธนาคารกรุงไทยประกาศผลดำเนินงานปี 2564 มีกำไรสุทธิ 21,588 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เฉพาะไตรมาส 4/64 มีกำไรสุทธิ 4,944 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินเชื่อที่เติบโตถึง 12.6% ช่วยเพิ่มระดับของ Coverage Ratio ให้สูงขึ้นเป็น 168.8% เพิ่มขึ้นจาก 147.3% ณ สิ้นปี 2563 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกันธนาคารยังมีการบริหารจัดการและควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้ดีต่อเนื่อง โดยมี NPLs Ratio-Gross อยู่ที่ 3.50% ลดลงจาก 3.81% ณ สิ้นปีที่ผ่านมา โดยธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 32,524 ล้านบาท แม้ว่าจะลดลง 27.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังเป็นการตั้งสำรองในระดับที่สูง
ทั้งนี้ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองและภาษีเงินได้ เท่ากับ 63,055 ล้านบาท ลดลง 8.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในช่วงเดียวกันของปีก่อนธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยพิเศษเงินให้สินเชื่อจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันจำนอง หากไม่รวมรายได้ดอกเบี้ยพิเศษ กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองและภาษีเงินได้ลดลง 1.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการลดลงของแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย โดยมี NIM เท่ากับ 2.49%
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 4/64 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 4,944 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.2% จากรายได้รวมที่ขยายตัวได้ดี ทั้งจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 5.0% จากสินเชื่อที่เติบโตในระดับสูงโดยมุ่งเน้นสินเชื่อที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ NIM เท่ากับ 2.47% ประกอบกับรายได้จากการดำเนินงานอื่นที่ขยายตัว โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 5.6% จากการขาดทุนจากการด้อยค่าทรัพย์สินรอการขาย ทั้งนี้ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเท่ากับ 8,233 ล้านบาท ลดลง 11.0% โดยระดับของ Coverage Ratio ปรับสูงขึ้น
ณ สิ้นปี 2564 ธนาคาร (งบเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 327,685 ล้านบาท และมีเงินกองทุนทั้งสิ้นเท่ากับ 393,995 ล้านบาท คิดเป็น 16.54% และ19.88% ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงตามลำดับ
ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ปี 2564 ภาวะเศรษฐกิจเผชิญความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด แม้ว่าอุปสงค์ในประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคและการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง ธนาคารจึงให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง โดยบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิดและเพิ่มระดับของ Coverage Ratio ให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนในอนาคต
ขณะเดียวกันธนาคารยังให้ช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด ครอบคลุมลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจ ทั้งมาตรการระยะเร่งด่วน มาตรการเฉพาะกลุ่ม และมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน รวม 7 มาตรการ เพื่อให้สามารถประคองตัวและกลับมาเติบโตได้ในระยะข้างหน้า พร้อมเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด สนับสนุนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดผ่านโครงการต่างๆ
นอกจากนี้ธนาคารยังเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนมาตรการของรัฐในการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ ทั้งโครงการเราชนะ ม.33 เรารักกัน คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน และยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยธนาคารเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานการเงิน เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของลูกค้าทุกกลุ่มให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 Fitch Ratings ได้ประกาศปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารเพิ่มขึ้น 1 ระดับ ทั้งอันดับความน่าเชื่อสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว เป็น BBB+ และอันดับความน่าเชื่อถือภายในประเทศระยะยาว เป็น AAA(tha) ซึ่งเป็นระดับความน่าเชื่อถือในระดับสูง