วันนี้ (21 มกราคม) ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้ามาตรการสนับสนุนและบรรเทาภาระแก่พี่น้องประชาชน โดยการลดหย่อนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนและจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการเพื่อช่วยบรรเทาภาระของพี่น้องประชาชน ช่วยสร้างโอกาสและหลักประกันความมั่นคงในที่อยู่อาศัย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 กระทรวงมหาดไทยได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยจำนวน 4 ฉบับ ซึ่งกำหนดให้ลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์ และการลดค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อบรรเทาภาระแก่พี่น้องประชาชนผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และเป็นการส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด
กรณีแรก เพื่อลดภาระให้กับประชาชนที่ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยออกประกาศ 2 ฉบับ มีผลเป็นการลดค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดินกรณีอาคารที่อยู่อาศัย (บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และบ้านแถว) หรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว และห้องชุดในอาคารชุดซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด โดยราคาซื้อขายและประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท วงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท และมีการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน โดยในส่วนนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม – 31 ธันวาคม 2565
สำหรับมาตรการนี้จะช่วยบรรเทาภาระให้ผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในระดับราคาที่ไม่สูงมาก รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ในสถานการณ์โควิด โดยกระทรวงการคลังได้ประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ มูลค่าประมาณ 2.91 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มการบริโภคในประเทศได้ 7.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มการลงทุนประมาณ 1.35 แสนล้านบาท และส่งผลให้ GDP เพิ่มขึ้น 0.58 %
ส่วนกรณีที่ 2 เป็นมาตรการลดค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งส่วนนี้กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศ 2 ฉบับ มีผลเป็นการลดค่าจดทะเบียนโอนและจดจำนองในอัตราเดียวกันกับกรณีแรก คือ เหลือ 0.01% สำหรับกรณีที่มีการโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างลูกหนี้ ซึ่งรวมถึงผู้ค้ำประกันกับสถาบันการเงิน หรือกับบริษัทที่มิใช่สถาบันการเงิน เช่น บริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคล บริษัทสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ บริษัทสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด ธุรกิจให้เช่าซื้อ ให้เช่าแบบลีสซิ่ง เป็นต้น
สำหรับกรณีลดค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2565 – 31 ธันวาคม 2569 เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งกระทรวงการคลังได้ประเมินว่าการดำเนินการมาตรการดังกล่าวจะช่วยเหลือให้ลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือจนมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และสามารถฟื้นฟูฐานะและกิจการ สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ ส่วนเจ้าหนี้และระบบสถาบันการเงินในภาพรวมมีต้นทุนลดลงและสามารถให้สินเชื่อแก่ประชาชนและธุรกิจต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น
ธนกรกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการแบ่งเบาภาระผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) เป็นการชั่วคราว โดยคาดว่าการผ่อนคลายมาตรการในครั้งนี้จะช่วยดึงเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีความสำคัญและมีธุรกิจเกี่ยวเนื่อง คิดเป็นกว่า 9.8% ของ GDP และมีการจ้างงานรวมกว่า 2.8 ล้านคน โดยนายกฯ สั่งการอย่างใกล้ชิดเพื่อกำหนดมาตรการดังกล่าว เชื่อมั่นว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระแก่พี่น้องประชาชนผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยของตนเอง แต่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด รวมถึงเป็นการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และสามารถฟื้นฟูฐานะและกิจการจนสามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ รวมทั้งสร้างโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัย
นอกจากนี้คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด สร้างประโยชน์แก่สาธารณะ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ