ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยคงคุ้นชินกับภาพควัน ฝุ่น PM2.5 ที่ลอยปกคลุมเหนือน่านฟ้าเมืองไทย จนอาจลืมคิดหรือตั้งคำถามว่า ‘ฝุ่นพิษ’ เหล่านี้ที่เราเผลอสูดลงปอดในทุกๆ วัน กำลังบั่นทอนปัญหาสุขภาพระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ในกรุงเทพฯ ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ แม้ในปี 2564 จะถูกพูดถึงน้อยลงเนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด
แต่ถึงอย่างนั้นในปี 2564 กรุงเทพฯ ก็ยังติดอันดับที่ 11 ของโลกจากรายงานคุณภาพอากาศและจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษทั่วโลกของเว็บไซต์ IQAir
อย่างไรก็ดี Rocket Media Lab รวบรวมข้อมูล งานวิจัย รวมถึงบทสัมภาษณ์ไว้ได้อย่างน่าสนใจในประเด็นเกี่ยวกับ ‘ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ในกรุงเทพฯ’ ที่นำเสนอข้อมูลสะท้อนปัญหาแบบหลากมิติ ตั้งแต่การอ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project ที่แสดงให้เห็นว่าชาวกรุงเทพฯ อยู่กับคุณภาพอากาศดีๆ ทั้งหมดกี่วัน ไปจนถึงการหยิบจับข้อมูลเรื่อง ‘ฝุ่น PM2.5’ ไปเปรียบเทียบเป็นปริมาณบุหรี่จากเว็บ CMU CCDC จนเกิดเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
ปัญหา ‘PM2.5’ และ ‘กรุงเทพฯ’ ปี 2564
Rocket Media Lab เปิดเผยข้อมูลที่อ้างอิงมาจากสถิติบนเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project และอ้างอิงค่าระดับคุณภาพอากาศของค่า PM2.5 จากข้อเสนอของกรีนพีซ พบว่าในปีที่ 2564 กรุงเทพฯ มีคุณภาพที่แยกเป็นจำนวนวันได้ ดังนี้
- คุณภาพดี (ค่าฝุ่น 0-50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)) 90 วัน
- คุณภาพปานกลาง (ค่าฝุ่น 51-100 มคก./ลบ.ม.) 202 วัน
- มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มคนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ (ค่าฝุ่น 101-150 มคก./ลบ.ม.) 61 วัน
- มีผลกระทบต่อสุขภาพ (ค่าฝุ่น 151-200 มคก./ลบ.ม.) 12 วัน
นอกจากนี้ยังพบว่าเมื่อจำแนกเป็น ‘รายเดือน’ ที่กรุงเทพฯ มีสภาพอากาศเลวร้ายเต็มไปด้วยฝุ่นพิษมากที่สุดในปี 2021 ยังคงเป็นเดือน ‘มกราคม’ เช่นเดียวกันกับในปี 2563 โดยวันที่มีค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุดแห่งปี คือวันที่ 23 มกราคม 2564 อยู่ในระดับสีแดง สูงถึง 187 มคก./ลบ.ม. ในขณะที่ปี 2020 สูงสุดเพียง 181 มคก./ลบ.ม.
และตลอดทั้งเดือนมกราคม 2564 ไม่มีวันไหนที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเขียวเลย ส่วนวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง 11 วัน, วันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีส้ม 13 วัน และวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ฝุ่น PM2.5 สูงกว่า 150 มคก./ลบ.ม. ในแถบสีแดง 7 วัน
กางสถิติ 3 เดือนที่ค่าฝุ่น ‘ดี’ และ ‘เลวร้าย’ ที่สุด
ในปี 2564 มีเพียง 3 เดือนเท่านั้นที่มีวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ฝุ่น PM2.5 สูงกว่า 150 มคก./ลบ.ม. ในแถบสีแดง ซึ่งมีอากาศเลวร้ายเต็มไปด้วยฝุ่นพิษมากที่สุด และไม่มีวันที่มีคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์สีเขียวเลย ประกอบด้วย
- มกราคม: ไม่มีวันไหนที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเขียวเลย ส่วนวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง 11 วัน, วันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มคนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 13 วัน และมีวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ฝุ่นสูงกว่า 150 มคก./ลบ.ม. หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพ 7 วัน
- กุมภาพันธ์: วันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง 4 วัน, วันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มคนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 21 วัน และวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ยสูงกว่า 150 มคก./ลบ.ม. ซึ่งหมายถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ 3 วัน
- ธันวาคม: วันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง 14 วัน, วันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มคนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 15 วัน และวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงกว่า 150 มคก./ลบ.ม. หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพ 2 วัน
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่ามลพิษทางอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ จะแย่ไปเสียหมด เพราะเดือนที่มีจำนวนวันที่อากาศดีที่สุดในปี 2564 ของกรุงเทพฯ ประกอบไปด้วย
- กรกฎาคม: มีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ในเกณฑ์คุณภาพดีมากถึง 22 วัน และวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สีเหลือง 9 วัน
- กันยายน: มีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ในเกณฑ์คุณภาพดี 17 วัน และวันที่อากาศอยู่ในแถบสีเหลือง 13 วัน
- มิถุนายน: มีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ในเกณฑ์คุณภาพดี 14 วัน และวันที่อากาศอยู่ในแถบสีเหลือง 16 วัน
ถ้าค่าฝุ่น PM2.5 (22 มคก./ลบ.ม.) = บุหรี่ 1 มวน ปี 2564 คนกรุงเทพฯ สูบบุหรี่ไปกี่มวน?
Rocket Media Lab หยิบยกงานวิจัยของ Dr. Richard A. Muller นักวิจัยชาวอเมริกัน จากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งคำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ หรือ PM2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ พบว่า ค่าฝุ่น PM2.5 จำนวน 22 มคก./ลบ.ม. เทียบได้กับการสูบบุหรี่ 1 มวน
เมื่อนำค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในแต่ละวันของปี 2564 มาคำนวณเปรียบเทียบตามเกณฑ์ของ Dr. Richard A. Muller จะพบว่า เดือนกุมภาพันธ์ คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 163.68 มวน เฉลี่ยวันละ 5.84 มวน (ลดลงจากปี 2563 ที่ 166.90 มวน) ขณะที่เดือนมกราคม คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 170.95 มวน เฉลี่ยวันละ 5.51 มวน (เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ 164.60 มวน) ตามมาด้วยเดือนธันวาคม 148.86 มวน (เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ 146.71 มวน)
หรือในเดือนที่มีอากาศดีจำนวนมากที่สุดแห่งปี 2564 อย่างเดือนกรกฎาคม เมื่อคำนวณเปรียบเทียบดูแล้ว คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 64.86 มวน เฉลี่ยวันละ 2.09 มวน (ลดลงจากปี 2563 ที่ 73.41 มวน) และในเดือนกันยายน 64.32 มวน (ลดลงจากปี 2563 ที่ 69.80 มวน) และเดือนมิถุนายน 73.41 มวน เฉลี่ยวันละ 2.14 มวน (เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ 66.70 มวน)
โดยรวมแล้วในปี 2564 คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ทั้งหมด 1261.05 มวน ลดลง 9 มวน จากปี 2563 ที่ 1,270.07 มวน ซึ่งอาจจะพูดได้ว่าปี 2564 อากาศดีกว่าปี 2563 เพียงเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการชี้ว่าควันพิษจากบุหรี่นั้นมีสารพิษมากกว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก
ข้อสังเกตเรื่องการเปรียบเทียบค่าฝุ่น PM2.5 และระดับคุณภาพอากาศของไทย
ในรายงานนี้อ้างอิงระดับความเป็นอันตรายต่อสุขภาพตามข้อเสนอของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เสนอให้ใช้ดัชนีคุณภาพอากาศ PM2.5 (PM2.5 Air Quality Index) โดยมีเกณฑ์ดังนี้ 0-50 คุณภาพอากาศดี, 51-100 คุณภาพปานกลาง, 101-150 มีผลต่อสุขภาพของกลุ่มคนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ, 151-200 มีผลกระทบต่อสุขภาพ, 201-300 มีผลกระทบต่อสุขภาพมาก, 301 อันตราย
โดยปกติแล้วการบอกระดับคุณภาพอากาศด้วยแถบสีและเกณฑ์การอธิบายว่าอากาศมีคุณภาพอย่างไร มักจะถูกใช้เทียบกับค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ซึ่งรวมความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ คือ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5), ฝุ่นละองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10), ก๊าซโอโซน (O3), ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2)
การใช้ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เพื่อแสดงระดับคุณภาพอากาศนั้น จะมีเกณฑ์แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น ตามแนวทางของ WHO มีการปรับแก้ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงว่าไม่ควรเกิน 15 มคก./ลบ.ม. (จากเดิม 25 มคก./ลบ.ม.) ถ้ามากกว่านั้นถือว่าระดับ PM2.5 ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ในขณะที่ประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 50 มคก./ลบ.ม. โดยที่ประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย กำหนดไว้ที่ 35 มคก./ลบ.ม. และสิงคโปร์กำหนดไว้ที่ 37.5 มคก./ลบ.ม.
โดยในประเทศไทยเอง จากข้อมูลของกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กำหนดเกณฑ์ไว้ว่า ค่า AQI 0-25 เทียบเท่ากับค่า PM2.5 0-25, ค่า AQI 26-50 เทียบเท่ากับค่า PM2.5 26-37, ค่า AQI 51-100 เทียบเท่ากับค่า PM2.5 38-50, ค่า AQI 101-200 เทียบเท่ากับค่า PM2.5 51-90 และค่า AQI มากกว่า 200 เทียบเท่ากับค่า PM2.5 91 ขึ้นไป นั่นก็เท่ากับว่า ในไทยค่า AQI 101 ขึ้นไป หรือ PM2.5 51 ขึ้นไป จึงถือได้ว่าเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และ AQI มากกว่า 200 หรือ PM2.5 91 ขึ้นไป จึงถือว่า ‘มีผลกระทบต่อสุขภาพ’
และจากข้อมูลข้างต้นได้นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์กันว่า การกำหนดค่าของไทยนั้นนอกจากจะไม่สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกแล้ว ยังเป็นการกำหนดค่าที่สูงกว่าในหลายๆ ประเทศ ทำให้แม้ค่าฝุ่น PM2.5 จะสูง แต่การให้ความหมายถึงระดับคุณภาพอากาศยังไม่ถือว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
เปิดแผนการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5
ปัญหาฝุ่น PM2.5 ถูกจัดให้เป็นวาระปัญหาระดับชาติและในระดับเขตการปกครองในพื้นที่นั้นๆ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ ‘การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง’ เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ โดยมีแนวทางดังนี้
- พัฒนาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ
- ทบทวนปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์
- ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีในการติดตามตรวจสอบ การวิเคราะห์ และนวัตกรรม เพื่อลดมลพิษทางอากาศ
- แก้ปัญหามลพิษข้ามชายแดน
- จัดทำบัญชีระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด
- พัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบเฝ้าระวังเป็นหนึ่งเดียว
- พัฒนาระบบคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาแผนปฏิบัติราชการรายปี พ.ศ. 2564 ของกรมควบคุมมลพิษจะพบว่า ในเรื่องการจัดการคุณภาพอากาศและเสียง ใช้งบประมาณ 20,992 ล้านบาท และหากพิจารณาเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 ซึ่งมีการกล่าวถึงในเอกสารดังกล่าวว่า
“แก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ‘การแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง’ และเผยแพร่ข้อมูลคุณภาพอากาศผ่านช่องทางต่างๆ”
โดยมีแผนงาน/โครงการสำคัญ คือ
- กำหนดมาตรฐานการควบคุมการระบายมลพิษทางอากาศของปริมาณรวมและเชิงพื้นที่
- เร่งรัดการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่ยังเป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่
- สร้างความเข้มแข็งในชุมชนในการติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังป้องกันและแก้ปัญหามลพิษในพื้นที่ของตน
- กำหนดมาตรการควบคุมปริมาณการจราจรหรือยานพาหนะในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น
- พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านคุณภาพอากาศและเสียง
- มีระบบการแจ้งเตือนปัญหามลพิษทางอากาศที่สามารถเข้าถึงและทันเหตุการณ์
ในส่วนระดับพื้นที่นั้น เมื่อพิจารณากรุงเทพฯ จะพบว่ารับผิดชอบโดยสำนักสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2563 สำนักสิ่งแวดล้อมได้รับงบประมาณในด้านการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศและเสียง 66,538,352 บาท และหากพิจารณาเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 ซึ่งมีการกล่าวถึงในแผนปฏิบัติการประจำปี 2564 ว่า
“ปัญหาสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ ปัจจุบันมีแนวโน้มสถานการณ์แตกต่างไปจากเดิม จะเห็นได้จากในปี 2562 กรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจาก การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากรถยนต์ ประกอบกับสภาพอากาศปิด ความกดอากาศสูง ทำให้ระดับมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก เกิดการสะสมตัวในบรรยากาศมากขึ้น โดยกรุงเทพฯ ต้องเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการระดมทุกภาคส่วนต่างๆ ฉีดพ่นน้ำเพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาว”
โดยมีแผนงาน/โครงการสำคัญ คือ
- ตรวจจับรถยนต์ควันดำในพื้นที่กรุงเทพฯ
- การตรวจวัดรถสองแถว (ในซอย) ควันดำร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
- ตรวจวัดมลพิษจากรถราชการในสังกัดกรุงเทพฯ
- รณรงค์ขอความร่วมมือเจ้าของรถหรือผู้ขับขี่รถหมั่นบำรุงรักษาเครื่องยนต์ เพื่อลดมลพิษ
- ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมฝุ่นละอองและเสียง
นอกจากนี้ยังพบการทำงานของกรุงเทพฯ ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในด้านอื่นๆ เช่น โครงการการทำความสะอาดเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองสะสมในอากาศและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีการฉีดล้างผิวจราจร ทางเท้า สะพานลอยคนข้าม, เช็ดทำความสะอาดป้ายรถประจำทาง ที่พักผู้โดยสาร จุดสัมผัสร่วมต่างๆ บริเวณพื้นที่สาธารณะ, ฉีดล้างลดฝุ่นไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น
รวมไปถึงโครงการ ‘แผนประชาสัมพันธ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร’ ซึ่งอยู่ในแผนงบประมาณปี 2565 โดยการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ทั้งข่าว อินโฟกราฟิก บทความ สารคดี ฯลฯ เผยแพร่ผ่านสื่อสารมวลชนและสื่ออื่นๆ เพื่อให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจนโยบายการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของกรุงเทพฯ ลดความไม่พอใจต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของกรุงเทพฯ
สำรวจการเคลื่อนไหวด้านกฎหมายและภาคประชาชน
ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ‘การแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง’ มีการกล่าวถึงการพิจารณาในด้านกฎหมายว่า ‘กำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศเฉลี่ยรายปีให้เป็นไปตามเป้าหมายระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก, ปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 รวมทั้งศึกษาความเหมาะสม เรื่องกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) รวมถึงการพิจารณาความเหมาะสมในการจัดระเบียบการเผาภาคการเกษตร’
ในประเด็นเรื่องกฎหมายอากาศสะอาด จากการรวบรวมข้อมูลของ iLaw (1, 2) พบว่าในช่วงปี 2563-2564 มีร่างกฎหมายเกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหามลพิษและเกี่ยวข้องกับอากาศสะอาด รวม 5 ฉบับ ได้แก่
- ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. …. เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย
- ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. เสนอโดยหอการค้าไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ, สมาคมการค้า, สภาอุตสาหกรรมจังหวัด, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และเครือข่ายภาคประชาสังคม
- ร่าง พ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. …. เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล
- ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …. เริ่มโดยเครือข่ายอากาศสะอาด
- ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. …. เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐ
โดยร่างกฎหมายสามฉบับแรกถูกปัดตกไปแล้ว ส่วนร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …. จะยื่นรายชื่อประชาชน 24,000 คนต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 21 มกราคมนี้ และร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. …. ที่เสนอโดย ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่ทางเว็บไซต์