ผลวิจัยศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ชี้ผู้ที่เคยได้รับวัคซีน Sinovac หรือ AstraZeneca 2 เข็ม ควรฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีน Pfizer จะมีภูมิคุ้มกันสูงทั้งต่อสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอน
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 เพจศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เผยแพร่ผลการวิจัยเบื้องต้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอนจากการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ในผู้ที่เคยได้รับวัคซีน Sinovac หรือ AstraZeneca โดย รศ.พญ.ณสิกาญจน์ อังคเศกวินัย คณะผู้วิจัยศูนย์วิจัยคลินิกฯ ร่วมกับ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา คณะผู้วิจัย สวทช.
โดยภูมิคุ้มกันที่ศึกษาเป็นชนิด PVNT50 (Psedovirus Neutralization Antibody Titer) หมายถึงระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถยับยั้งไวรัสจำลองได้ 50% ที่ 2 สัปดาห์หลังฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีน AstraZeneca หรือ Pfizer ขนาดเต็มโดส หรือ Pfizer ขนาดครึ่งโดสเข้าชั้นกล้ามเนื้อ พบว่า
กลุ่มที่ได้รับวัคซีน Sinovac 2 เข็ม
- เมื่อกระตุ้นด้วยวัคซีน Pfizer ให้ภูมิคุ้มกันดีมาก ไม่ว่าจะเป็นแบบครึ่งโดสหรือเต็มโดส สามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่ยับยั้งทั้งสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอนได้ดี โดยระดับภูมิต่อโอมิครอนจะต่ำกว่าระดับภูมิต่อเดลตาประมาณ 1 เท่า
- ส่วนการกระตุ้นด้วยวัคซีน AstraZeneca สร้างภูมิคุ้มกันต่อเดลตาได้ดี แต่ต่อโอมิครอนได้ระดับต่ำกว่าประมาณ 2-3 เท่า
- แนะนำผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac 2 เข็มควรฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีน Pfizer จะมีภูมิคุ้มกันสูงทั้งต่อเดลตาและโอมิครอน
กลุ่มที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม
- เมื่อกระตุ้นด้วยวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มที่ 3 สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ระดับหนึ่ง แต่อาจป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนได้ไม่ดี
- ส่วนการกระตุ้นด้วยวัคซีน Pfizer สร้างภูมิคุ้มกันต่อเดลตาได้ดีทั้งแบบครึ่งโดสและเต็มโดส แต่สำหรับโอมิครอน ระดับภูมิจากการฉีดแบบครึ่งโดสต่ำกว่าแบบเต็มโดสประมาณ 1 เท่า
- แนะนำผู้ที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca 2 เข็มควรฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีน Pfizer จะมีภูมิคุ้มกันที่สูงสุดทั้งต่อเดลตาและโอมิครอน