×

รู้จัก ‘ฟลูโรนา’ (Flurona) เมื่อโควิดปะทะไข้หวัดใหญ่

09.01.2022
  • LOADING...
Flurona

สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวผู้ติดเชื้อโควิดพร้อมกับไข้หวัดใหญ่รายแรกที่อิสราเอล เป็นหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับวัคซีนซึ่งถูกตรวจเชื้อพบหลังเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ทำให้ประเด็นฟลูโรนา (Flurona) เป็นที่สนใจขึ้นมา ส่วนในประเทศไทย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้แจงเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ว่ายังไม่พบผู้ติดเชื้อดังกล่าว 

 

📌 ฟลูโรนาคืออะไร น่ากังวลแค่ไหน และป้องกันได้อย่างไร

 

  1. ‘ฟลูโรนา’ เป็นการผสมคำระหว่างชื่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus หรือ Flu) กับไวรัสโคโรนา (Coronavirus) ซึ่งเป็นชื่อกลุ่มไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด หมายถึงการติดเชื้อไวรัส 2 ชนิดนี้ในผู้ป่วยรายเดียวกัน ไม่ใช่ไวรัสชนิดใหม่หรือการผสมข้ามชนิดกันแต่อย่างใด ทั้งนี้น่าจะเป็นชื่อที่สื่อมวลชนตั้งขึ้น เพราะในทางการแพทย์ยังไม่เคยมีคำเรียกนี้มาก่อน

 

  1. ฟลูโรนามีรายงานเป็นข่าวครั้งแรกที่อิสราเอล แต่ก่อนหน้านี้ในวารสารวิชาการมีรายงานการติดเชื้อร่วมกัน (Coinfection) ระหว่างโควิดกับเชื้อโรคทางเดินหายใจอื่นตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาด เช่นที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อมีนาคม 2563 ผู้ป่วยโควิดถูกตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสอื่น 20.7% เช่น ไรโนไวรัส/เอนเทอโรไวรัส 6.9% ไวรัสอาร์เอสวี 5.2% 

 

  1. ส่วนโควิดกับไข้หวัดใหญ่อาจเป็นข่าวใหญ่ เพราะทั้งคู่มีความรุนแรงมากกว่าไวรัสทางเดินหายใจอื่น และเคยมีความกังวลว่าจะระบาดร่วมกัน มีรายงานผู้ป่วยในหลายประเทศ เช่น อิหร่าน จีน ตุรกี บราซิล ญี่ปุ่น เยอรมนี สเปน อิตาลี โดยข้อมูลที่วิเคราะห์จากงานวิจัยหลายชิ้นในปี 2563 พบอัตราการติดเชื้อ 2 ชนิดนี้ร่วมกันในเอเชีย 4.5% และในสหรัฐฯ 0.4%

 

  1. อาการของการติดเชื้อร่วมกันแยกไม่ได้จากการติดเชื้อโควิดหรือไข้หวัดใหญ่เพียงอย่างเดียว ได้แก่ ไข้ 89.4% ไอ 79.3% หายใจเหนื่อย 24.1% ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 20.7% ส่วนความรุนแรง งานวิจัยดังกล่าวรวบรวมกรณีผู้เสียชีวิต 2 รายจากผู้ป่วยทั้งหมด 29 ราย (6.9%) แต่เนื่องจากจำนวนกลุ่มตัวอย่างน้อย จึงไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด

 

  1. งานวิจัยอีกชิ้นวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ระหว่างกุมภาพันธ์ 2563 – มกราคม 2564 พบผู้ติดเชื้อโควิดร่วมกับไข้หวัดใหญ่ 1,794 ราย (0.3%) ความเสี่ยงต่อการนอนโรงพยาบาลไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่เมื่อต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลแล้วพบว่าการติดเชื้อร่วมกันจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลวและการใช้เครื่องช่วยหายใจ

 

  1. โควิดและไข้หวัดใหญ่เป็นไวรัสทางเดินหายใจจึงติดต่อผ่านการสูดหายใจเอาละอองสารคัดหลั่ง เช่น ละอองน้ำลาย/น้ำมูก/เสมหะเข้าไป และการนำมือที่ปนเปื้อนเชื้อแล้วไปสัมผัสตา/จมูก/ปากเหมือนกัน การสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ จึงสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสทั้ง 2 ชนิดได้ และทั้งคู่ยังมีวัคซีนป้องกันอาการรุนแรงด้วย

 

  1. ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงของไวรัสทั้ง 2 ชนิด ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญของกรมควบคุมโรคและหน่วยงานในต่างประเทศแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 1 เข็มพร้อมกับวัคซีนโควิดได้ โดยไม่จำเป็นต้องเว้นระยะห่าง 2-4 สัปดาห์เหมือนเมื่อก่อน เพราะปัจจุบันทราบแล้วว่าวัคซีนมีความปลอดภัย

 

โดยสรุป ‘ฟลูโรนา’ เป็นการติดเชื้อโควิดและไข้หวัดใหญ่พร้อมกัน ผู้ติดเชื้อที่อิสราเอลไม่ใช่กรณีแรก แต่มีรายงานมาตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาด ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการตรวจหาเชื้อโรคอื่นในผู้ป่วยโควิดหรือไม่ การติดเชื้อร่วมกันอาจเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง อย่างไรก็ตามวิธีการป้องกันการติดเชื้อทั้งคู่เหมือนกัน และที่สำคัญคือการฉีดวัคซีน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X