สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เดินทางถึงกรุงเนปิดอว์ของเมียนมาช่วงเช้าวันนี้ (7 มกราคม) เพื่อเข้าร่วมการประชุมกับผู้นำรัฐบาลทหาร โดยถือเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่เดินทางไปเยือนเมียนมา นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
การเยือนเมียนมาของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ซึ่งมีกำหนดระยะเวลา 2 วัน มีขึ้นท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการประท้วงจากกลุ่มต่อต้านรัฐประหารในหลายพื้นที่ทั่วเมียนมา ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงหวั่นวิตกว่าอาจเป็นการรับรองความชอบธรรมให้รัฐบาลทหารมากยิ่งขึ้น
ขณะที่สำนักข่าว Reuters รายงานว่าการประท้วงในบางพื้นที่ เช่น ที่เมืองเดปายิน ในเขตสะกาย ห่างจากกรุงเนปิดอว์ไปทางเหนือราว 300 กิโลเมตร มีกลุ่มผู้ประท้วงจุดไฟเผารูปของผู้นำกัมพูชาและตะโกนต่อต้านการเยือนในครั้งนี้ ซึ่งนอกจากนี้ยังมีรายงานการประท้วงในหลายเขต เช่น มัณฑะเลย์ ตะนาวศรี และโมนยวา
ก่อนหน้านี้โฆษกคณะกรรมการนัดหยุดงานเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยเขตทวาย ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว Radio Free Asia (RFA) ว่า การเยือนของฮุน เซน จะเป็นการรับรองความชอบธรรมแก่รัฐบาลเผด็จการที่ล้มเหลวในการเดินหน้าแก้ไขวิกฤตทางการเมือง
“เขาเป็นเผด็จการของกัมพูชา มันเป็นไปไม่ได้เลยที่คนอย่างเขาจะมาช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยกิจการบ้านเมืองของเรา” โฆษก RFA กล่าว
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีฮุน เซน เดินทางไปเยือนเมียนมาตามคำเชิญของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐประหาร โดยเขาได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติจากรัฐบาลทหารเมียนมา โดยมี วันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาให้การต้อนรับ ซึ่งฮุน เซน ได้นำหน้ากากอนามัย 2 ล้านชิ้น พร้อมด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์มอบให้แก่รัฐบาลเมียนมา
ขณะที่ปีนี้กัมพูชาได้รับหน้าที่ประธานอาเซียน โดยเป็นการรับไม้ต่อจากบรูไนที่เป็นประธานในปีที่แล้ว ซึ่งมีหนึ่งในภารกิจสำคัญคือการเป็นผู้นำผลักดันความพยายามทางการทูตเพื่อแก้ไขวิกฤตในเมียนมา
ซึ่งในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนประจำปีครั้งล่าสุด อาเซียนได้ปฏิเสธการอนุญาตให้พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้าร่วมการประชุม เนื่องจากเขาล้มเหลวในการปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพเพื่อแก้ไขวิกฤตทางการเมืองและยุติการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มต่อต้าน
อย่างไรก็ตาม เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยระดับภูมิภาคของ Amnesty International กล่าวว่า “การทูตที่หลอกลวงของฮุน เซนนั้นอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
“หากฮุน เซนต้องการช่วยจริงๆ เขาควรยกเลิกการเดินทางครั้งนี้ และนำอาเซียนไปสู่การดำเนินการอย่างแข็งขัน เพื่อแก้ไขสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายของเมียนมา แทนที่จะปล่อยปละละเลยด้วยท่าทีที่เปล่าประโยชน์ ซึ่งอาจส่งผลได้มากกว่าภาพถ่ายแสดงความยินดีด้วยตนเองเพียงเล็กน้อย”
ปัจจุบันพบว่ามีประชาชนเมียนมาถูกสังหารไปเกือบ 1,500 คน และถูกจับกุมเกือบ 11,500 คน นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร ซึ่งชาวเมียนมาทั่วประเทศยังคงมีความพยายามประท้วงและเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหาร
อย่างไรก็ตาม กำหนดการสำคัญของนายกรัฐมนตรีฮุน เซนในการเยือนรอบนี้คือการพบปะพูดคุยกับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งสื่อหลายสำนักรายงานว่าเขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบ ออง ซาน ซูจี อดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือนที่ยังอยู่ระหว่างถูกกักตัวและดำเนินคดี
ภาพ: Photo by Facebook Fanpage : Samdech Hun Sen, Cambodian Prime Minister
อ้างอิง: