×

‘สรรพากร’ เคลียร์ปมคำนวณภาษีคริปโต คิดเฉพาะกำไร ขาดทุนไม่นับ เตรียมออกแนวปฏิบัติที่ชัดเจนภายในเดือนนี้

06.01.2022
  • LOADING...
สรรพากร

สมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ชี้แจงในรายการ Morning Wealth ของ THE STANDARD WEALTH ในช่วงเช้าที่ผ่านมา ถึงกรณีที่กรมสรรพากรได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่มีกำไรจากการเทรดคริปโตเคอร์เรนซีต้องกรอกรายได้ในส่วนดังกล่าวในการยื่นแบบภาษีเงินได้ประจำปี โดยระบุว่า

 

พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 กำหนดเอาไว้ชัดเจนให้ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนคริปโตเคอร์เรนซีเฉพาะในส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินลงทุน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร ขณะเดียวกันยังกำหนดให้ ‘ผู้จ่ายเงินได้’ พึงประเมินดังกล่าวมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ของเงินได้ตามมาตรา 50 (2) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้นเมื่อมีกฎหมายจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องปฏิบัติตาม

 

ส่วนสาเหตุที่กรมสรรพากรออกมาประชาสัมพันธ์จริงจังขึ้นในช่วงนี้ เกิดจากการที่ปี 2564 การเทรดคริปโตเคอร์เรนซีได้รับความสนใจมากขึ้น จึงมีความห่วงใย เกรงว่าบางคนอาจไม่ทราบว่ากำไรจากการขายจะต้องนำมายื่นเสียภาษีประจำปีด้วย จึงมีการประชาสัมพันธ์เพื่อลดภาระในเรื่องของค่าปรับหรือภาษีจ่ายเพิ่มเติมให้กับผู้มีเงินได้ เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาที่เปิดให้ยื่นภาษีได้จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม หรือ 8 เมษายนในกรณีที่ยื่นแบบออนไลน์ 

 

โฆษกกรมสรรพากรยังตอบคำถามถึงแนวทางการคำนวณกำไรจากการเทรดคริปโตเคอร์เรนซีที่สร้างความสับสนให้หลายคนในเวลานี้ว่า กฎหมายระบุให้การคิดกำไรจากการเทรดคริปโตเคอร์เรนซีจะต้องคิดตามธุรกรรมหรือ Transaction เป็นรายครั้ง ซึ่งในส่วนนี้เชื่อว่าผู้ลงทุนน่าจะทราบว่ามีกำไรจากการเทรดเท่าไรในปีที่ผ่านมา โดยในกรณีที่ไม่ได้จดหรือทำรายการไว้อาจต้องอ้างอิงย้อนหลังจาก Statement ของเงินเข้า-ออกในบัญชี

 

สำหรับการกรอกนั้นไม่ต้องแยกแต่ละรายการ แต่ให้สรุปรวมทั้งปี เอาเฉพาะกำไรแล้วยื่นในแบบ ภงด. 90 เพราะกำไรจากการเทรดคริปโตเคอร์เรนซีถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 ประเภทที่ 4 โดยเชื่อว่าผู้ลงทุนน่าจะทราบว่ามีกำไรเท่าไร เป็นการประเมินตนเอง เพราะการยื่นแบบไม่ต้องแนบหลักฐาน กรอกเป็นตัวเลขไปได้เลย 

 

ในกรณีที่ผู้ยื่นภาษีกังวลเรื่องการตรวจสอบก็แนะนำให้เก็บหลักฐานเอาไว้ เช่น แคปหน้าจอหรือ Statement ทางการเงินต่างๆ เอาไว้แสดงต่อเจ้าหน้าที่กรณีโดนเรียกตรวจ พร้อมระบุว่า ปัจจุบันกรมสรรพากรมีระบบ Big Data และ Data Analytics ที่สามารถวิเคราะห์ว่ารายใดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง

 

โดยหากผู้ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเสียภาษีไม่ถูกต้องจำนวนมากๆ กรมสรรพากรจะมีการเชิญพบให้มาพิสูจน์ว่าที่ยื่นไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่ ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่ายื่นตรงความเป็นจริงก็จะไม่มีอะไร แต่หากยื่นต่ำกว่าข้อมูลที่กรมสรรพากรมี จะมีการแนะนำให้ยื่นเพิ่มเติม ซึ่งถ้าเลยกำหนดระยะเวลาที่ให้ยื่นแล้วจะมีเรื่องของดอกเบี้ยสำหรับภาษีที่ชำระไว้ขาด 1.5% ตั้งแต่วันที่ยื่นขาดจนถึงวันที่ตรวจพบ แต่จะไม่ต้องเสียค่าปรับกรณีไม่ยื่นแบบ เพราะยื่นแบบไว้แล้ว

 

แต่ในกรณีไม่ยื่นแบบภาษีเลยจะมีภาระค่าปรับด้วย จึงอยากแนะนำให้ยื่นไปก่อน อย่างน้อยเป็นการแสดงเจตนาหรือ Declare ตัวเอง โดยยอมรับว่าเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ ทางกรมสรรพากรมีความเข้าใจและได้ประชุมกันว่าจะช่วยผู้ที่ตั้งใจยื่นเสียภาษีเพื่อ Declare ตัวเองอย่างไรได้บ้าง โดยคาดว่าภายในเดือนมกราคมนี้จะมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้นออกมาให้ทั้งผู้เสียภาษีและเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรให้ไปในทิศทางเดียวกัน 

 

สำหรับข้อสงสัยในกรณีที่มีกำไรจากการเทรดแต่ไม่มีการถอนหรือ Cash out ออกมา จะต้องนำมาคำนวณด้วยหรือไม่นั้น โฆษกกรมสรรพากรชี้แจงว่า การคำนวณภาษีจะพิจารณาจากเกณฑ์เงินสด ถ้ามีการขายและได้กำไร แม้จะไม่ได้เอาเงินออกมาจากพอร์ตก็ต้องถือเป็นกำไรที่ต้องยื่น โดยผู้ลงทุนอาจต้องจดเอาไว้ว่าในแต่ละเดือนมีกำไรเท่าไร เพื่อเอามารวบรวมตอนสิ้นปี

 

ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. ซื้อเหรียญมาในราคา 1 แสนบาท ต่อมาขายได้ 1.5 แสนบาท ก็ต้องถือว่ามีกำไร 50,000 บาท แม้ว่าต่อมาจะนำเงิน 1.5 แสนบาทไปลงทุนในเหรียญอื่นต่อแล้วขาดทุน ก็ยังต้องนำกำไร 50,000 บาทมารวมกับกำไรจากธุรกรรมอื่นแล้วยื่นภาษี เนื่องจากกรมสรรพากรจะพิจารณาเป็นราย Transaction ส่วนการลงทุนที่ขาดทุนก็ไม่ต้องนำมาคำนวณ

 

เช่นเดียวกับการลงทุนประเภทล็อกเหรียญที่แพลตฟอร์มอาจจูงใจให้ผู้ลงทุนถือเหรียญเอาไว้ 30, 45 หรือ 90 วัน เพื่อแลกกับโบนัสตอบแทน เงินโบนัส หรือดอกเบี้ย ในส่วนนี้ก็จะต้องนำมาคำนวณเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ซ) ว่าด้วยเรื่องผลตอบแทนที่ได้จากการถือครอง แม้จะขาดทุนจากเหรียญแต่โบนัสก็ยังต้องนำมาคำนวณเงินได้ 

 

ส่วนกรณีการขุดเหรียญ หากมีการนำเหรียญจากการขุดมาขายก็จะถือเป็นเงินได้ที่ยื่นภาษีเช่นกัน แต่ผู้ขุดจะต้องยื่นเป็นรายได้ประเภทที่ 8 ตามมาตรา 40 ซึ่งเป็นหมวดอื่นๆ 

 

โฆษกกรมสรรพากรยังตอบคำถามถึงกรณีการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ว่า กฎหมายระบุเอาไว้ว่าผู้ที่จ่ายเงินได้ให้กับผู้รับมีหน้าที่ต้องหักและนำส่งภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป และวันที่ 15 ของเดือนถัดไป กรณีที่ทำผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งยอมรับว่าในกรณีนี้ผู้ซื้อจะต้องถามผู้ขายซึ่งอาจดูยุ่งยาก แต่ผู้ขายก็มีหน้าที่ต้อง Declare ตัวเองว่ามีกำไรเท่าไรและต้องหัก 15% จากกำไร เพราะหากผู้ขายไม่ได้บอกก็อาจทำให้ผู้ซื้อเข้าใจว่าทั้งหมดตรงนั้นเป็นกำไร ทำให้ต้องหัก 15% จากยอดรวมกรณีที่ผู้ขายไม่แจ้ง

 

อย่างไรก็ดี การหักภาษี ณ ที่จ่าย จะสามารถนำไปเป็นเครดิตในการยื่นภาษีปลายปีของผู้ขายได้เช่นกัน ไม่ได้ถือเป็นภาระอะไร ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ขายบอกผู้ซื้อว่ามีกำไรเท่าไร เพื่อให้สามารถหักภาษีได้ถูก 

 

สมหมายกล่าวว่า เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันยังไม่ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ Exchange ในการนำส่งข้อมูล จึงเป็นภาระของผู้ซื้อผู้ขายที่จะต้องจดบันทึกธุรกรรมกันเอง 

 

อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรก็เข้าใจปัญหาและความยุ่งยากที่เกิดขึ้น และอยู่ระหว่างการพูดคุยกับแพลตฟอร์มต่างๆ ให้ช่วยส่งข้อมูลให้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อผู้ขาย ซึ่งในระยะต่อไปการจะมีแนวทางหรือระเบียบให้แพลตฟอร์มปฏิบัติตามก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ 

 

โดยโฆษกกรมสรรพากรยอมรับว่ากฎหมายเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลฉบับปัจจุบันออกมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2561 แต่วิวัฒนาการโลกการเงินดิจิทัลเกิดขึ้นรวดเร็วมาก ทำให้อาจยังมีความไม่ชัดเจนในบางประเด็น ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ในระยะต่อไป แต่ระหว่างนี้ก็ยังจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายไปก่อน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X