วานนี้ (3 มกราคม) กองทัพเกาหลีใต้สันนิษฐานว่า ชายที่ข้ามพรมแดนจากเกาหลีใต้ไปยังเกาหลีเหนือในวันปีใหม่นั้นเคยเป็นผู้แปรพักตร์มายังเกาหลีใต้มาก่อน
โดยมีการส่งทหารเกาหลีใต้ไปสอบสวนเหตุหลังกล้องวงจรปิดแจ้งคำเตือนว่ามีบุคคลคนหนึ่งสัญจรในเขตชายแดนทางทหาร ณ จุดหนึ่งบนชายฝั่งตะวันออก พวกเขาหาตัวชายคนดังกล่าวไม่พบ แต่ในหลายชั่วโมงต่อมาก็พบว่าชายคนนี้ได้ข้ามไปยังเกาหลีเหนือเรียบร้อยแล้ว
เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้รายหนึ่งระบุกับ AFP ว่า มีข้อสันนิษฐานว่าชายคนดังกล่าวเป็นคนเดียวกับที่เคยปีนรั้วลวดหนามข้ามจากเกาหลีเหนือมายังเกาหลีใต้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 สำนักข่าวยอนฮับของเกาหลีใต้รายงานว่า เขาน่าจะมีอายุราว 30 ปี และทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดในเกาหลีใต้ตอนที่เขาถูกควบคุมตัว เขาระบุว่าเขาเป็นนักกายกรรมชาวเกาหลีเหนือ แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานการระบุของเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ว่า พวกเขาได้ส่งข้อความไปยังเกาหลีเหนือเกี่ยวกับการข้ามแดนครั้งนี้เพื่อให้มีการปกป้องความปลอดภัยแก่ชายคนดังกล่าว ซึ่งเกาหลีเหนือรับทราบว่าได้รับข้อความแต่ยังไม่มีการตอบกลับ ส่วน BBC ระบุว่ายังไม่ชัดเจนถึงแรงจูงใจในการเดินทางกลับเข้าเกาหลีเหนือ และยังไม่ชัดเจนถึงชะตากรรมของเขา แต่การสอบสวนยังคงดำเนินต่อไปว่าเขาทำให้การเดินทางนี้ไม่ถูกตรวจพบได้อย่างไร
ทั้งนี้ เกาหลีเหนือมีนโยบายที่เข้มงวดในการควบคุมการระบาดของโควิด
การแปรพักตร์จากเกาหลีเหนือมายังเกาหลีใต้ผ่านการข้ามเขตปลอดทหารนั้นพบได้ยาก โดยส่วนใหญ่ผู้แปรพักตร์มักจะเดินทางผ่านจีน ส่วนการแปรพักตร์จากเกาหลีใต้ไปยังเกาหลีเหนือนั้นพบได้ยากกว่า โดยในรอบไม่กี่ปีหลังสุดมีผู้แปรพักตร์ในลักษณะดังกล่าวตามที่มีการบันทึกไว้เพียงไม่กี่กรณี
อีกด้านหนึ่ง ชีวิตของผู้แปรพักตร์จากเกาหลีเหนือสู่เกาหลีใต้อาจจะไม่ได้ง่ายดายเสมอไป เคยมีรายงานของ AFP เมี่อปี 2561 ถึงชีวิตของ จูซึงฮยอน ผู้ที่เคยแปรพักตร์สู่เกาหลีใต้ผ่านเขตปลอดทหารด้วยความหวังว่าเขาจะไปสู่ชีวิตใหม่ที่เจริญรุ่งเรือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นซับซ้อนกว่านั้น เมื่อเขาระบุว่าชาวเกาหลีใต้นั้นมักมองชาวเกาหลีเหนือเป็น ‘คนป่าเถื่อนและยากไร้’ เขาถูกปฏิเสธให้เข้าทำงานหลังสัมภาษณ์งานนับครั้งไม่ถ้วนเมื่อเขาได้เผยสำเนียงการพูดของเขา ขณะที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งจ่ายค่าจ้างแก่เขาเพียงครึ่งเดียวของที่จ้างชาวเกาหลีใต้ แต่เขาก็พยายามปรับสำเนียงการพูดและศึกษาต่อจนกลายเป็นผู้แปรพักตร์รายแรกที่ได้รับปริญญาเอก หรืออีกกรณีเมื่อปี 2562 ที่มีแม่ผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือพร้อมลูกชายวัย 6 ขวบ ถูกพบว่าเสียชีวิตในอพาร์ตเมนต์ในเกาหลีใต้อย่างไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ไม่พบอาหารในห้องยกเว้นเพียงถุงพริกป่น และไม่พบว่าเหลือเงินในบัญชีธนาคาร ทำให้หลายคนเชื่อว่าพวกเขาเสียชีวิตจากการขาดอาหาร บางคนกล่าวว่านโยบายของรัฐบาลที่ไม่เพียงพอและความเฉยเมยของสังคมเกาหลีใต้คือสิ่งที่คร่าชีวิตแม่และลูกคู่นี้ เรื่องนี้ช็อกสังคมเกาหลีใต้ และทำให้เกิดความสนใจแก่กลุ่มผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือ
แม้กระทรวงรวมชาติจะมีการทบทวนและประกาศแก้ไขนโยบายเพื่อสนับสนุนผู้แปรพักตร์ แต่กลุ่มผู้แปรพักตร์ระบุว่าสิ่งเหล่านั้นยังไม่เพียงพอ ขณะที่กลุ่มที่ช่วยผู้แปรพักตร์กล่าวว่าผู้แปรพักตร์มักจะบอบช้ำจากประสบการณ์การหลบหนีจากเกาหลีเหนือและความยากลำบากในการปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในเกาหลีใต้ หลายคนขาดทักษะในการเติบโตในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม
ภาพ: JUNG YEON-JE / AFP
อ้างอิง:
- https://www.france24.com/en/20180422-north-korea-refugees-find-new-pressures-south
- https://edition.cnn.com/2022/01/02/asia/north-korea-south-korea-border-crossing-intl/index.html
- https://www.bbc.com/news/world-asia-59824920
- https://www.npr.org/2019/09/17/761156048/in-south-korea-anguish-over-deaths-of-north-korean-defectors-who-may-have-starve