×

‘ประวัติศาสตร์นอกตำรา’ กับของชำรุดในประวัติศาสตร์ไทย ชวนคุยกับ อดิศักดิ์ ศรีสม

31.12.2021
  • LOADING...
non-textbook history

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ปัญหาใหญ่ของประวัติศาสตร์ในตำรา คือเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อใช้ในบางวัตถุประสงค์ โดย ‘ประวัติศาสตร์ (กระแสหลักถูกทำให้) เป็นเรื่องเล่า เพื่อสร้างความสามัคคี เพื่อความจงรักภักดี เพื่อให้เกิดความรักชาติอะไรก็แล้วแต่’ 
  • ประเด็นที่นักประวัติศาสตร์มักวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาประวัติศาสตร์ในตำราเรียนก็คือ มันแฝงไปด้วยแนวคิดชาตินิยมและราชาชาตินิยม ซึ่งปัญหาของประวัติศาสตร์ที่ฝังไปด้วยแนวคิดดังกล่าวนี้นำไปสู่การสร้างสำนึกที่ไม่ถูกต้อง เช่น การช่วยสถาปนาอำนาจนำให้เกิดขึ้นกับชนชั้นปกครอง 
  • พอเนื้อหาของวิชาประวัติศาสตร์บ้านเราเน้นไปที่เรื่องเล่า (Narrative) ที่เป็นประวัติศาสตร์ชุดเดียว มันจึงทำให้ยกระดับกลายเป็นความเชื่อและศักดิ์สิทธิ์ได้ง่าย ปัญหาที่ตามมาก็คือ เนื้อหาแบบนี้ไม่ได้เอื้อต่อการถกเถียงกันในชั้นเรียน มันจึงทำให้ประวัติศาสตร์ไม่สามารถก้าวไปสู่การเรียนเพื่อให้คนคิดเป็น

ประวัติศาสตร์ในกระแสหลักเดินทางมาถึงจุดหักเหอีกครั้ง เมื่อถูกท้าทายด้วยสื่อสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็น Facebook, YouTube ซึ่งทุกคนสามารถผลิตและเผยแพร่ความรู้ทางประวัติศาสตร์ได้อย่างอิสระ ทำให้สังคมมีทางเลือกต่อการรับรู้อดีตอีกชุดหนึ่ง ส่งผลทำให้อำนาจของการผูกขาดอดีตโดยรัฐไม่อาจยึดกุมสำนึกและความคิดของประชาชนได้ง่ายๆ อีกต่อไป   

 

ในบรรดารายการสารคดีประวัติศาสตร์ออนไลน์ที่เกิดขึ้นเมื่อปีเศษที่ผ่านมา รายการ ประวัติศาสตร์นอกตำรา ถือเป็นสารคดีคุณภาพทาง YouTube ซึ่งบางตอนมียอดวิวเป็นหลักล้านภายในเวลา 1 เดือนเศษเท่านั้น ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เพราะมันสะท้อนความเปลี่ยนแปลงบางอย่างของคนในสังคมไทย 

 

นอกเหนือไปจากภาพและเรื่องราวที่สวยและน่าสนใจแล้ว ส่วนหนึ่งที่ดึงดูดคนเป็นจำนวนมากนั้นอาจมาจากความโดดเด่นของรายการนี้ คือความคิดเชิงวิพากษ์ที่สอดแทรกลงไปในรายการ ทำให้รายการไม่ใช่แค่เล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังสอนให้คนคิดตาม คิดเป็น และรู้จักการถกเถียงบนพื้นฐานของข้อมูล  

 

แต่สิ่งที่น่าสนใจด้วยนอกจากเนื้อหาของรายการแล้ว ผมคิดว่าสิ่งที่เราควรได้เห็นด้วยก็คือความคิดหรือแนวคิดของผู้ผลิตรายการนี้คือ อดิศักดิ์ ศรีสม พิธีกร นักข่าว และนักสารคดีผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการสื่อมาร่วม 30 ปี เพราะจะช่วยทำให้เราเห็นถึงแก่นแกนทางความคิดและทิศทางของรายการมากขึ้น 

 

กว่าจะมาทำประวัติศาสตร์นอกตำรา  

ชื่อของ อดิศักดิ์ ศรีสม เป็นที่คุ้นเคยกันดีในวงการสื่อและประชาชนทั่วไปเป็นอย่างดี ถือเป็นหนึ่งในคนคุณภาพด้านสื่อ เส้นทางของเขาเริ่มต้นจากเรียนจบมหาวิทยาลัยรามคำแหงทางด้านรัฐศาสตร์ และปริญญาโททางด้านนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วได้เข้าไปทำงานที่บริษัท แปซิฟิค อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับข่าวสาร โดยเส้นทางเริ่มต้นจากเป็นผู้ประกาศข่าวทางวิทยุก่อน หลังจากจึงเริ่มต้นทำรายการสารคดีชิ้นแรกๆ

 

non-textbook history

 

เมื่ออาจารย์สมเกียรติ อ่อนวิมล ออกจากบริษัทแปซิฟิคเพื่อไปเป็นผู้บริหารช่อง 11 อดิศักดิ์จึงได้ตามมาทำงานด้วย จากนั้นก็ทำงานทางช่อง 11 (ปัจจุบันคือ NBT) เป็นเวลา 10 ปี โดยในช่วงนั้น หลักๆ แล้วก็คือการทำรายการสด 

 

ในช่วงเวลานั้นเองที่มีเวลาว่างเล็กน้อย จึงคิดว่าน่าจะทำรายการอะไรอื่นอีกได้บ้าง ด้วยความชอบประวัติศาสตร์เป็นการส่วนตัว จึงได้ชวน บัณฑิต ลุนทา (ปัจจุบันเป็นโปรดิวเซอร์รายการ ความจริงไม่ตาย) เข้ามา ทำรายการชื่อว่า ประวัติศาสตร์นอกตำรา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของชื่อรายการนี้

 

อย่างไรก็ตาม บริบทสังคมในช่วงนั้น การนำเสนอประวัติศาสตร์ทางเลือกก็กลายเป็นถูกเพ่งเล็ง ถูกตั้งคำถาม เจอปัญหาหลายอย่าง รวมถึงแรงเสียดทาน มีคนพูดว่ารายการประวัติศาสตร์อย่าหวังว่าจะมีสปอนเซอร์เข้า ทำมาได้ปีเศษ จึงต้องยุติรายการลงไป หลังจากนั้นก็รอจังหวะกลับมาทำรายการนี้อีกครั้งเพื่อ ‘รอให้โลกมันเปลี่ยนไป’ 

 

non-textbook history

 

ทำไมต้องประวัติศาสตร์นอกตำรา 

อดิศักดิ์ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้สนใจงานประวัติศาสตร์ว่า ส่วนหนึ่งนั้นอาจไม่ได้แตกต่างไปจากคนทั่วไป โดยเดิมทีก็มี ‘โลกทัศน์ประวัติศาสตร์แบบอดีต คือเราชอบเรื่องเก่า ชอบเรื่องเล่า’ และ ‘เราถูกผลิตมาด้วยระบบคิดแบบชาตินิยม ทุกคนถูกบ่มเพาะมา ซึ่งเราอาจเริ่มต้นจากตรงนั้นก็ได้ ซึ่งเราไม่ปฏิเสธ’ 

 

แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้มองประวัติศาสตร์ในมุมมองใหม่ เริ่มต้นขึ้นเมื่ออดิศักดิ์ได้มาทำงานสื่อ จึงทำให้ได้เห็นข้อมูลต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น จนนำไปสู่การตั้งคำถามถึงปัญหาและความถูกต้องของประวัติศาสตร์กระแสหลัก 

 

non-textbook history

 

อดิศักดิ์บอกว่า นี่เองอาจเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของคนทำงานสื่อที่มีโอกาสได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากกว่าคนอื่น แต่ชาวบ้านร้านตลาดทั้งหลาย เด็กๆ ที่เรียนในระบบเดิม ทำให้เขาไม่มีโอกาสรับรู้ข้อมูลที่หลากหลาย แต่ปัจจุบันเมื่อมี ‘สื่อกระแสรอง ซึ่งกำลังจะกลายเป็นกระแสหลัก สื่อโซเชียลต่างๆ ผมว่ามันทำให้ทำให้อะไรเปลี่ยนไปมากเลยทีเดียว’ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์และการรับรู้ของคน รวมถึงการเข้าใจปัญหาของอดีตที่สืบเนื่องมายังปัจจุบัน

 

นอกจากนี้แล้ว จุดที่ทำให้อดิศักดิ์มีความคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนไปด้วยก็คือแรงบันดาลใจจากนักวิชาการ ที่สำคัญคือ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ซึ่งอดิศักดิ์ได้ติดตามฟังจากงานเสวนา อ่านหนังสือ และตามจากงานต่างๆ ซึ่งอาจารย์ชาญวิทย์ได้เป็นผู้ที่เปิด ‘มุมมองให้กว้างขึ้น ไม่ใช่แต่จดจำ แต่เป็นการตั้งคำถาม อันนี้เป็นจุดที่ทำให้ทำรายการทุกวันนี้ และมีความสุขกับมันมากๆ’ 

 

ของชำรุดในตำราเรียน  

ประเด็นที่นักประวัติศาสตร์มักวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาประวัติศาสตร์ในตำราเรียนก็คือ มันแฝงไปด้วยแนวคิดชาตินิยมและราชาชาตินิยม ซึ่งปัญหาของประวัติศาสตร์ที่ฝังไปด้วยแนวคิดดังกล่าวนี้นำไปสู่การสร้างสำนึกที่ไม่ถูกต้อง เช่น การช่วยสถาปนาอำนาจนำให้เกิดขึ้นกับชนชั้นปกครอง ความเกลียดชังพม่า การมองว่าเพื่อนบ้านเป็นกบฏ ความเข้าใจว่าไทยเสียดินแดน ทั้งๆ ที่เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจเรื่องระบบการเมืองในรัฐจารีตและการไม่เข้าใจความซับซ้อนทางการเมืองในช่วงนั้น 

 

non-textbook history

 

เช่นเดียวกัน อดิศักดิ์มองว่าปัญหาใหญ่ของประวัติศาสตร์ในตำรา คือเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อใช้ในบางวัตถุประสงค์ โดย ‘ประวัติศาสตร์ (กระแสหลักถูกทำให้) เป็นเรื่องเล่า เพื่อสร้างความสามัคคี เพื่อความจงรักภักดี เพื่อให้เกิดความรักชาติอะไรก็แล้วแต่’ ด้วยความเป็นเรื่องเล่าเช่นนี้เอง มันจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้เรียนจำเป็นต้องเชื่อ และเกิดความรู้สึกแบบชาตินิยมขึ้นมา 

 

นอกจากนี้แล้ว ในขณะที่ไทยเราเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน แต่ก็จะพบว่าประวัติศาสตร์ในตำราเรียนมี ‘ของชำรุด’ มากมาย ตัวอย่างที่สำคัญที่อดิศักดิ์ยกขึ้นมาก็คือ ในตำราเรียนยังสอนเรื่องเจ้าอนุวงศ์ว่าเป็น ‘กบฏ’ ซึ่งมันเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้วในยุคที่เราจะเป็นประชาคมอาเซียน อดิศักดิ์มองว่า ถ้าหากเรายังมีคำนี้ คำอธิบายแบบนี้ในตำราเรียน เราต้องรื้อกันใหม่หมดเลยในตำราเรียน แต่นอกเหนือจากในบ้านเราแล้ว มันต้องรื้อตำราเรียนในประวัติศาสตร์ (ผู้เขียนขอเสริมคือในมุมมองของลาว ถือว่าเจ้าอนุวงศ์เป็นวีรบุรุษที่กอบกู้อิสรภาพของลาวจากสยาม)

 

ตำราเรียนไทยยังล้าสมัย

นอกจากนี้แล้ว อดิศักดิ์ได้เสริมอีกด้วยว่า ในกระบวนการสอนการเรียนในโรงเรียนก็ดี ‘ไม่ได้สอนให้เด็กมีการตั้งคำถามเลย ไม่สอนให้เด็กมีการคิด และวิเคราะห์แยกแยะเลย ซึ่งนี่คือปัญหา และไม่ใช่ปัญหาของการเรียนในห้องเรียนอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาของทั้งระบบเลยด้วยซ้ำ’ อดิศักดิ์มองว่า “ในกรณีประวัติศาสตร์มันไม่ใช่การท่องสูตรคูณ มันเป็นเรื่องของการตีความ การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ต้องมีการถกเถียง” 

 

non-textbook history

 

โดยส่วนตัวในฐานะคนสัมภาษณ์ก็มองเห็นจุดร่วมเดียวกันกับอดิศักดิ์เช่นกัน เพราะพอเนื้อหาของวิชาประวัติศาสตร์บ้านเราเน้นไปที่เรื่องเล่า (Narrative) ที่เป็นประวัติศาสตร์ชุดเดียว มันจึงทำให้ยกระดับกลายเป็นความเชื่อและศักดิ์สิทธิ์ได้ง่าย ปัญหาที่ตามมาก็คือเนื้อหาแบบนี้ไม่ได้เอื้อต่อการถกเถียงกันในชั้นเรียน มันจึงทำให้ประวัติศาสตร์ไม่สามารถก้าวไปสู่การเรียนเพื่อให้คนคิดเป็น 

 

ตัวอย่างเช่น หากจะนำปัญหาเรื่องพระมหาอุปราชาถูกฟันด้วยพระแสงของ้าวหรือถูกยิงด้วยปืนโดยสมเด็จพระนเรศวรมาถกเถียงในชั้นเรียนก็เป็นเรื่องยากที่จะสามารถทำได้ เพราะอาจไปหมิ่นพระเกียรติ จนอาจถึงขั้นต้องโทษในคดี 112 ได้ ซึ่งเคยมีเหตุการณ์ทำนองนี้มาแล้วในงานเสวนาครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

 

อดิศักดิ์เล่าให้ฟังว่า ‘ที่น่าตกใจคือ เราก็ไปเอาตำราของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อพลิกๆ ดูมันก็ยังเป็นหลักสูตรที่ใช้สอนผมเมื่อ 30-40 ปีก่อน’ ซึ่งอาจมีการปรับให้ดูทันสมัยบ้าง แต่ยังมีเป้าหมายเหมือนเดิมคือ ‘เราจะเห็นภาพของราชวงศ์ ภาพของความรุ่งเรืองของอดีต แต่เราจะไม่เห็นภาพของคนที่มันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ชุมชน ท้องถิ่น ภาพของเศรษฐกิจ สังคม การค้า ในยุคต่างๆ’ ที่อดิศักดิ์มักเน้นด้วยก็คือ วิชาประวัติศาสตร์ยังขาดการเข้าใจบริบท ให้ความสำคัญกับความสามารถของกษัตริย์หรือวีรบุรุษเพียงแค่พระองค์เดียว 

 

non-textbook history

 

ตัวอย่างสำคัญที่อดิศักดิ์ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของปัญหาของประวัติศาสตร์ในตำรา เช่นเรื่องรัฐสุโขทัยที่เรียนกันมาในแบบที่เหมือนเป็น ‘รัฐที่เกิดจากหน่อไม้ในกอไผ่’ กล่าวคือเป็นรัฐที่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นมาเองโดยไม่ได้ดู ‘บริบท’ ของการก่อกำเนิดขึ้นมา 

 

เด็กไม่ได้คิดในเชิง Landscape (ภูมิทัศน์/ภาพกว้าง) ว่าสุโขทัยนั้นมีปฏิสัมพันธ์กับใคร มั่งคั่งได้อย่างไร ซึ่งอันนี้คือปัญหา สิ่งเหล่านี้มันต้องถูกสอนในโรงเรียน ซึ่งมันยังขาดไปมาก เรียกได้ว่าสิ่งเหล่านี้มันขาดไปหมดเลยในวิชาประวัติศาสตร์ทุกวันนี้ มันเป็นข้อจำกัดของประวัติศาสตร์ที่อยู่ในตำราหรือระบบการเรียนการสอน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ทำรายการประวัติศาสตร์นอกตำราออกมา 

 

ห้องเรียนตามโลกไม่ทัน

ต้องยอมรับว่าสื่อโซเชียลเข้ามามีบทบาทสูงต่อกระบวนการรับและถ่ายทอดความรู้ อดิศักดิ์ได้เล่าว่า เท่าที่สำรวจ พบว่ารายการประวัติศาสตร์นอกตำรามีคนจำนวนมากเป็นครู และนำไปใช้เปิดสอนในชั้นเรียน เรื่องนี้จึงสะท้อนว่าสังคมไทยมันเปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นต่อให้กระทรวงศึกษาจะปรับหรือไม่ปรับตำราเรียน มันอาจไม่ได้มีผลมาก เพราะมันเกิดความรู้ทางเลือกขึ้นมาแล้ว  

 

ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่รายการประวัติศาสตร์นอกตำราพยายามทำและสอดแทรกในทุกตอนที่ทำกันมาร้อยกว่าตอนแล้วนั้นก็คือ อย่างน้อยรายการตอนหนึ่งมันจะต้อง ‘นำเสนอข้อมูลให้ครบชุด ทุกมิติ ให้รอบด้าน ต้องสร้างกระบวนการที่กระตุ้นให้คิด ให้ตั้งคำถาม’ 

 

อีกสิ่งหนึ่งที่สื่อโซเชียลมีประโยชน์และแตกต่างไปจากการเรียนแบบปกติที่อดิศักดิ์ชี้ให้เห็นด้วยก็คือ “สื่อโซเชียลมันก็ดีอยู่อย่างหนึ่งคือมันมีฟีดแบ็กได้ เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ มันเป็นแพลตฟอร์มที่ห้องเรียนตามไม่ทันแล้ว เพราะครูก็ยังเป็นศูนย์กลางของห้องเรียน คงเป็นเรื่องยากที่ห้องเรียนจะเอื้อให้เด็กลุกขึ้นมาตั้งคำถามประวัติศาสตร์ เพราะครูเองก็ต้องเซฟตัวเอง และครูเองก็อาจถูกบ่มเพาะมาแบบหนึ่งและมีความคิดบางอย่าง” ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการเรียนแบบดั้งเดิม 

 

ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่รายการประวัติศาสตร์นอกตำรามีความคาดหวังด้วยก็คือ ถ้ามันสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างด้วยก็จะเป็นประโยชน์มากต่อระบบการศึกษา เพียงแค่รายการสามารถ ‘เปิดพื้นที่ เปิดโลกทัศน์ สร้างพื้นที่ที่เขา (นักเรียน) จะตีความได้ เด็กๆ อย่างนี้ก็ตีความมา คิดมา เพราะเราไม่รู้ว่าเด็กที่จบมาจะไปเป็นนักประวัติศาสตร์หรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ คือถ้าเขาไปประกอบอาชีพอะไร แค่เขาเอาสกิล (ความชำนาญ) ไปรู้จักคิด รู้จักตีความ รู้จักสังเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลอะไรพวกนี้ ผมว่าก็เป็นประโยชน์สูงสุดแล้ว โดยใช้เครื่องมือประวัติศาสตร์’ 

 

จากฟีดแบ็กของครูที่บอกเข้ามาบอกว่า อยากได้รายการที่สั้นลง เพราะเด็กไม่ค่อยมีสมาธิดูอะไรยาวๆ ทำให้อดิศักดิ์มีไอเดียว่า อยากทดลองทำเป็นประวัติศาสตร์นอกตำรา 101 ดูบ้างในอนาคต  

 

non-textbook history

 

วิกฤตและอันตรายของสังคมไทย 

สิ่งหนึ่งที่รายการประวัติศาสตร์นอกตำราต้องต่อสู้มากคือ ความเชื่อเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ฝังอยู่ในสังคม อดิศักดิ์ได้เล่าถึงฟีดแบ็กรายการอยู่ข้อความหนึ่งที่เข้ามาตำหนิรายการทำนองว่า ไม่ใช่ ถูกต้องต้องเป็นอย่างที่เขาคิด 

 

เมื่อทีมงานมานั่งคิดวิเคราะห์กัน และตั้งคำถามต่อฟีดแบ็กว่า “อันนี้เป็นความรู้ที่เขาโต้แย้งมาหรือเป็นความเชื่อ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์กันพบว่าส่วนใหญ่เป็นความเชื่อทั้งนั้น ซึ่งนี่คือสิ่งที่อันตรายมากสำหรับสังคมไทย ที่ใช้ความเชื่อมากกว่าความรู้” อดิศักดิ์เสริมด้วยว่า “ทุกคนมีสิทธิจะมีความเชื่อได้ เพียงแต่ว่าความเชื่อบางทีก็เป็นอันตราย ถ้าหากไม่มีฐานของความรู้เลยก็จะเป็นปัญหา” 

 

non-textbook history

 

อดิศักดิ์ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่พบจากฟีดแบ็ก เป็นตัวอย่างที่ถึงจะดูง่ายๆ แต่ก็ทำให้เราเห็นวิกฤตของความรู้ในบ้านเราอย่างมาก อดิศักดิ์เล่าว่ามีคอมเมนต์หนึ่งถามมาว่า “แม่น้ำมูลอยู่ภาคไหน อยู่ที่ไหน” ซึ่งเรื่องนี้ ‘ไม่ใช่ปัญหาประวัติศาสตร์อย่างเดียวแล้ว แต่เรามีปัญหาในระดับความรู้พื้นฐานคือภูมิศาสตร์ด้วย ทั้งๆ ที่บ้านเรามีสื่อกระแสหลัก และอื่นๆ อีกมาก’ นี่คือภาพสะท้อนวิกฤตอย่างหนึ่งในสังคมไทยที่ต้องรีบแก้ไข

 

ดังนั้นเป้าหมายที่เป็นโจทย์อย่างหนึ่งของรายการ ประวัติศาสตร์นอกตำรา ก็คือต้องการขจัดความเชื่อออกไป แล้วเอาความรู้ใส่เข้าไปแทน และหวังด้วยว่าการเอาความเชื่อมานำความรู้นี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะส่งต่อไปสู่คนรุ่นใหม่ในอนาคต เพื่อให้รายการบรรลุเป้าหมาย บางครั้งรายการจึงพยายามนำเสนอเรื่องที่เป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้คนได้รับรู้ข้อมูลใหม่ๆ 

 

อันตรายอีกอย่างหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่อดิศักดิ์ให้ความเห็นด้วยก็คือ “ในยุคหลังมานี้ที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ถ้าใครเชื่อประวัติศาสตร์ชุดนี้ (ทางเลือกหรือกระแสรอง) ก็จะกลายเป็นคนขายชาติ อันนี้อันตรายเข้าไปอีก เพราะเอาประวัติศาสตร์มาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง ทั้งๆ ที่มันเป็นศาสตร์มันมีวิธีการทางประวัติศาสตร์ของมันแต่ถูกตีความอย่างนั้น” 

 

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่อดิศักดิ์แนะนำก็คือ “คนยุคนี้ต้องรู้เท่าทัน ต้องมี Media Literacy ต้องมี Political Literacy คือต้องรู้เท่าทันว่าคุณกำลังถูกเขาใช้ทำอะไร” ข้อเสนอของอดิศักดิ์นี้ถือว่าเป็นแนวคิดที่คนทำงานด้านการศึกษาพูดกันมาไม่น้อยกว่า 7-8 ปีมาแล้ว แต่การนำไปเชื่อมโยงกับวิชาประวัติศาสตร์หรือวิชาสังคมศึกษานั้นยังทำกันน้อย เราจึงเรียนประวัติศาสตร์เพื่อรู้จักอดีต แต่ขาดการเชื่อมโยงกับปัจจุบัน เพื่อให้รู้เท่าทันอำนาจของอดีตที่ส่งผลต่อชีวิตของเราในทุกวันนี้

 

แล้วประวัติศาสตร์ในตำราควรเป็นอย่างไร 

ในความเห็นของอดิศักดิ์แล้ว พูดอย่างชัดเจนว่า เรื่องสำคัญที่ต้องใส่เข้าไปในตำราเรียนคือเรื่องของคน “ถ้าเราเอาแกนหลักที่เราเคยเรียนมา คือเราเรียนเรื่องของพระมหากษัตริย์ เรื่องของรัฐอันยิ่งใหญ่ แต่มันขาดมิติของคน เศรษฐกิจ การค้า ความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยง Landscape (ภูมิทัศน์) ผมว่าอันนี้สำคัญมากที่จะทำให้เราเห็นตัวตนของเราเองมากขึ้น ไม่ใช่ว่าเราเติบโตขึ้นมาด้วยอะไรบางอย่าง (ละในฐานที่เข้าใจ) เท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นจากผู้คนจำนวนมากมาย” 

 

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าในมุมมองของอดิศักดิ์แล้ว อยากให้เนื้อหาของวิชาประวัติศาสตร์มีลักษณะที่มองสังคมอย่างเป็นองค์รวมมากขึ้น ไม่ควรให้ความสำคัญกับชนชั้นปกครองเท่านั้น และไม่นำเสนอเฉพาะประวัติศาสตร์อาณาจักรภายใต้แนวคิดชาตินิยมที่มุ่งนำเสนอภาพฝันของยุคทองเพียงอย่างเดียว แต่ให้เห็นมิติอื่นที่มันจะเป็นประโยชน์ต่อคนในสังคมมากขึ้น เช่น เศรษฐกิจ การค้า และความเข้าใจต่อประเทศของตนเองว่ามีปฏิสัมพันธ์อย่างไรต่อคนรอบข้างและเพื่อนบ้าน

 

non-textbook history

 

อดิศักดิ์ยกตัวอย่างของประโยชน์ของประวัติศาสตร์ที่อธิบายปฏิสัมพันธ์ของผู้คนว่า “เราก็รณรงค์จะเป็นประชาคมอาเซียน แต่มันมีเครื่องมืออันดีทางประวัติศาสตร์ที่เราเรียนรู้ แต่เราไม่ค่อยสอนกัน เช่น อยุธยาประกอบไปด้วยชุมชนนานาชาติที่มันช่วยทำให้มีความรุ่งเรืองของอยุธยาขึ้นมา มันอาจจะไม่ต้องมาสอนกันเลยในยุคนี้ว่า อย่าดูถูกเพื่อนบ้าน อย่าเกลียดเพื่อนบ้านนะ ถ้าเราได้เรียนรู้เรื่องพวกนี้ในอดีต ผมว่าเรื่องพวกนี้มันต้องใส่เข้าไปเยอะๆ ในตำราเรียน แล้วก็ให้เห็นความเป็นมนุษย์ ความเป็นคนมากขึ้น อันนี้มันจะสอดรับกับการเอาประวัติศาสตร์ไปใช้ประโยชน์ในอนาคต ไม่อย่างนั้นเราคงติดกับดักประวัติศาสตร์อยู่กันอย่างนี้ต่อไป” 

 

non-textbook history

 

บทความนี้ผมตั้งใจสัมภาษณ์และเขียนให้ตรงกับช่วงปีใหม่ เพราะเชื่อว่าสังคมไทยในปีหน้าหรืออีกไม่กี่ปีนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นอันเป็นผลมาจากการหมุนไปอย่างรวดเร็วของสังคม การเมือง และบริบทโลก โดยมีสื่อทางเลือกเป็นตัวแปรสำคัญ   

 

ในความคิดผม รายการ ประวัติศาสตร์นอกตำรา เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งว่าสังคมไทยกำลังเป็นสังคมที่เริ่มให้ความสำคัญกับ ‘ความรู้’ มากขึ้น (เช่นเดียวกันเพจเชิงคอนเทนต์อีกมากมาย) ที่สำคัญด้วยคือ ความคิดอดิศักดิ์ถ่ายทอดผ่านการสัมภาษณ์จะเป็นพลังให้เห็นว่าสังคมนี้ยังมีความหวังของการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ความรู้นำความเชื่อ และให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกันในมิติประวัติศาสตร์  

 

สุขสันต์วันปีใหม่ทุกท่านครับ ขอให้เป็นปีที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X