Folklore ซีซัน 2 คือออริจินัลซีรีส์สยองขวัญจาก HBO Asia ที่ชักชวน 6 ผู้กำกับเอเชียมากฝีมือมาร่วมสร้างสรรค์เรื่องราว ผ่านการหยิบนำความเชื่อและตำนานลี้ลับจากไต้หวัน, ญี่ปุ่น, ไทย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ มานำเสนอให้ผู้ชมได้ทำความรู้จักกับคำว่า ‘ความกลัว’ ในแง่มุมต่างๆ โดยในตอนที่ 3 Broker of Death คือผลงานของผู้กำกับชาวไทย โดม-สิทธิศิริ มงคลศิริ เจ้าของผลงาน แสงกระสือ (2562) และได้ เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ หนึ่งในสมาชิกวง BNK48 มารับบทนำ
THE STANDARD POP ถือโอกาสชวน โดม-สิทธิศิริ มงคลศิริ และ เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ มาร่วมพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นและความน่าสนใจของซีรีส์ Folklore 2 ตอน Broker of Death รวมถึงประเด็น ‘ความเชื่อ’ และ ‘ความกลัว’ ในบริบทสังคมไทยที่ถูกนำเสนอผ่านเรื่องราวสยองขวัญ เพื่อชวนผู้ชมตั้งร่วมหาคำตอบว่าความจนกับผี สิ่งไหนน่ากลัวกว่ากัน
เรื่องราวของ Folklore ซีซัน 2 ตอน Broker of Death เป็นอย่างไรบ้าง
โดม: สำหรับโปรเจกต์ Folklore ซีซัน 2 เป็นโปรเจกต์ที่ผู้กำกับแต่ละประเทศรับผิดชอบประเทศละเรื่อง ในส่วนของประเทศไทยผมก็ได้ร่วมผลิตผลงานในตอนที่ชื่อว่า Broker of Death ครับ เล่าเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังธุรกิจในการจัดหาเครื่องรางของขลังหรืออะไรก็แล้วแต่ที่เอามาทำพิธีในไสยศาสตร์ หนังจะพาไปเจาะลึกเกี่ยวกับตัวละคร พร้อมกับพาคนดูไปให้เห็นเบื้องหลังของธุรกิจนี้ด้วย และนำมาซึ่งความน่ากลัว น่าสยองขวัญกับความดราม่าที่มันเกิดขึ้นกับครอบครัว ทำให้ตอนสุดท้ายตัวละครต้องเลือกว่าจะทำอย่างไรต่อไป
ในความเป็นจริง อาชีพนายหน้าจัดหาศพมีจริงไหม
โดม: มีครับ ตอนทำโปรเจกต์นี้จริงๆ ไม่มีโจทย์ เขาให้เราเลือกเลยว่าคุณจะเล่าเรื่องอะไรก็ได้ที่อยู่ในประเทศของคุณ ประเด็นที่สนใจ ผมเลยไปเจอบทความหนึ่ง เป็นบทความที่เจาะลึกเกี่ยวกับคนที่มีอาชีพจัดหาปั้นเหน่ง ที่เคยเป็นข่าวตามต่างจังหวัด ตามป่าช้า เราเห็นข่าวว่ามีแก๊งหนึ่งไปขุดเอากะโหลกคนตายจากป่าช้า แล้วเจาะเฉพาะกะโหลกไปขายต่อ หรือแม้กระทั่งศพทารกเพิ่งเกิด เลยทำให้รู้สึกสนใจ
แค่ชาวบ้านไปขุด มันไม่น่าจะจบแค่นั้น เลยไปตามหารีเสิร์ชแล้วปรากฏว่ามันเป็นเครือข่าย มีการจัดหากันเป็นเรื่องเป็นราว เหมือนเราทำธุรกิจปกติ มีนายหน้า ส่งต่อไปให้ชาวบ้าน หามาแล้วส่งต่อเข้ามาในเมือง บางทีไปถึงเมืองจีน เอามาทำพวกเครื่องรางที่ขายกันตามทั่วไป จริงๆ เบื้องหลังมันมีคนที่เกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะ เลยรู้สึกว่าอันนี้น่าสนใจมาก น่าลองค้นเข้าไปดูว่าตัวละครมีอะไรบ้าง เขามีความรู้สึกอย่างไร เขาหากันอย่างไร ส่งมอบกันอย่างไร ของชิ้นนี้เมื่อหามาแล้วมันจะไปสู่ตรงไหน เป็นเหมือนไอเดียเริ่มแรกเลยที่น่าสนใจ เลยลองไปรีเสิร์ชดู
จากสิ่งที่รีเสิร์ชออกมาเพื่อพัฒนาเป็นบท โดมเริ่มต้นสร้างคาแรกเตอร์ให้กับตัวละครภายในเรื่องอย่างไร
โดม: พอรีเสิร์ชเสร็จ มันเกิดจากความรู้สึกส่วนตัวเวลาเรามองเรื่องนี้ จริงๆ เรามองมันอย่างไร ก็เลยมองคนรอบตัว สมมติว่าครอบครัวผม อย่างคุณพ่อคุณแม่ท่านก็เชื่อสิ่งนี้มาก ญาติทางคุณแม่ที่ต่างจังหวัด หรือแม้กระทั่งตัวเราเอง เพื่อนเราที่อยู่ในเมือง แต่ก็ยังมีความเชื่อเรื่องนี้ แสดงว่าคนทุกระดับในประเทศเรายิ่งเชื่อ ยิ่งรวยก็ยิ่งเชื่อ อะไรเหล่านี้ที่ผสมปนเปกันในความรู้สึกว่ามันเกิดการตั้งคำถาม สิ่งนี้มันช่วยอะไรคน มัน Respect กับคนจริงหรือเปล่า ที่เราไปขอโชคลาภ ถูกหวย ธุรกิจจะดี มันจริงไหม ถ้าจริงมัน 100% ไหม หรือว่ามัน 50-50% หรือว่ามันเลือกเฉพาะคน แล้วเราก็คุยกับพี่คงเดช จาตุรันต์รัศมี คนเขียนบท ว่าผมมีความรู้สึกแบบนี้ พยายามอยากจะเล่าเรื่องนี้อยู่ เลยออกมาเป็นตัวละครชุดนี้ แล้วก็เป็นเรื่องราวที่เห็น
เจนนิษฐ์ รับบทเป็น เจิน คาแรกเตอร์ของตัวละครตัวนี้เป็นอย่างไรบ้าง
เจนนิษฐ์: เจินเป็นตัวละครเด็กผู้หญิงคนหนึ่งในครอบครัว พ่อเขาขายเครื่องรางของขลัง ถ้าเราสังเกตในปัจจุบันมันลิงก์ได้ เด็กสมัยใหม่ก็จะมี Age Gap ซึ่งเป็นปัญหากับครอบครัวที่คนสมัยก่อนอาจจะเชื่อของขลังมากกว่าเด็กยุคปัจจุบัน เพราะเขารู้สึกว่ามันพิสูจน์ไม่ได้ขนาดนั้น อาจจะมีบางคนเชื่อ แต่ก็รู้สึกว่าถ้าทางวิทยาศาสตร์มันรู้สึกว่าไร้สาระ บางคนอาจจะไม่เชื่อเลยและต่อต้านกับสิ่งที่พ่อบอก ต้องไหว้พระ ต้องห้อยพระ เรารู้สึกว่าเราไม่เชื่อ อาจจะทำให้เป็นปัญหาในครอบครัว เกิดปัญหากับตัวเจินและพ่อในเรื่องนี้ มันก็มีเหตุการณ์ที่พ่อทำธุรกิจตรงนี้ และมีเอฟเฟกต์ที่มาถึงเราโดยไม่ได้ตั้งใจ ด้วยความที่เราเป็นเด็กขี้ป่วย ก็จะมีเรื่องราวต่างๆ ตามมา แต่ยังเปิดเผยไม่ได้มาก
หนังเรื่องก่อนหน้าอย่าง Where We Belong เจนนิษฐ์เคยรับบทเป็น ซู ส่วนใน Broker of Death รับบทเป็น เจิน ซึ่งเรารู้สึกว่าชีวิตของทั้งสองตัวละครมีความคล้ายกันในบางอย่างคือ การเป็น ‘เด็ก’ ที่กำลังเผชิญกับโลกที่ ‘ผู้ใหญ่หรือผู้ปกครอง’ ต้องการจะให้เป็น…ลองวิเคราะห์ 2 ตัวละครนี้ให้หน่อยได้ไหม
เจนนิษฐ์: เป็นเด็กเคยถูกปลูกฝังมาว่าต้องทำสิ่งที่ผู้ใหญ่บอก อย่างซูจะโดนสั่งให้สืบทอดกิจการโดยที่ไม่ได้ถามความสมัครใจของเรา แต่เจินจะโดนแวดล้อมไปด้วยเครื่องรางของขลังที่เรารู้สึกว่าไม่เห็นจะช่วยเลย ถ้าช่วยชีวิตครอบครัวก็คงไม่ต้องมาวิ่งทำงานที่ทุจริตในเชิงศีลธรรม ถ้าเกิดว่าดีจริงก็คงไม่ต้องมานั่งทำงานแบบนี้ เลยเกิดปัญหาต่อต้านขึ้นมา แม้จะเป็นคนละเรื่องแต่เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องที่วัยรุ่นทุกคนจะต้องเจอกับครอบครัว
ถ้าเกิดต้องเจอสถานการณ์เดียวกับเจินในเรื่อง เจนนิษฐ์คิดว่าจะเป็นอย่างไร
เจนนิษฐ์: รู้สึกว่าเข้าใจตัวเจินมากๆ ที่พ่อทำทุกอย่างมาตลอด ซึ่งเราก็รับรู้ว่ามันคือสิ่งที่ไม่ดี แต่ผลลัพธ์ก็ไม่เห็นจะดีขึ้นเลยที่เขาทำมาเรื่อยๆ แล้วบอกว่าจะดีขึ้น ถ้าเป็นเราเองก็รู้สึกว่าไม่ชอบ มันน่าจะมีทางอื่นหรือสิ่งอื่นที่ดีกว่านี้ จะทนทำต่อไปทำไม เหมือนหลอกตัวเองไปวันๆ ถ้าเป็นเราก็คงมีการต่อต้านเหมือนที่เจินทำ แต่ด้วยความที่เราเป็นลูก สังคมไทยพอเป็นลูกก็ทำอะไรมากไม่ได้ นอกจากพยายามโน้มน้าวเหมือนที่เจินทำ
จริงๆ แล้ว เราเป็นสายมูบ้างหรือเปล่า
เจนนิษฐ์: เชื่อ 50-50 อะไรที่เขาว่าดีก็ทำดีไปก่อน เผื่อมันดี ดีกว่าไปทำอะไรที่เขาห้าม ดีก็ดีไป ถ้าไม่ได้อะไรก็ไม่เสียหาย แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าทางแม่ของเรา เขาสัมผัสได้ถึงสิ่งลี้ลับ เป็นคนที่ใกล้ตัวที่สุด แล้วดันมีเซนส์ อยู่กับคนที่เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เราก็รู้สึกว่ามันก็น่าเชื่อ เพราะเป็นคนที่ใกล้ตัวเรามากๆ แล้วเราเห็นมาตลอดตั้งแต่จำความได้ เลยกลายเป็นว่าพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะก็รู้สึกว่ามันพิสูจน์ไม่ได้จริงๆ แต่มันก็เกิดขึ้นอยู่นะ เห็นบ่อยด้วย
ในแง่ของศิลปะบันเทิงประเทศไทย คำว่า Soft Power ที่เหมือนจะกลายเป็นของส่งออกทางวัฒนธรรมที่เห็นบ่อย อย่างหนังผี เรื่องลี้ลับ ทำไมถึงกลายเป็น Soft Power ของไทยที่แข็งแรงและทรงพลังสุด
โดม: อาจจะเป็นเรื่องวัฒนธรรม มันอยู่กับเรามานาน เรื่องความเชื่อ มันอยู่ก่อนเราเกิด ก่อนพ่อแม่เราอีก มันเป็นเนื้อเดียวกันกับพวกเรา มันธรรมชาติมาก มันเข้าระดับเป็นคัลเจอร์ไปแล้ว เรายกมือไหว้ต้นไม้ ที่ไม่ได้เรียกว่าศาสนาด้วย อาจจะเป็นศาสนา ผี เป็นความเชื่อที่อยู่ในทุกอณู เราทำโดยที่มันเป็นอัตโนมัติ โดยที่เราไม่คิดกับมันด้วยซ้ำ ผมคิดว่ามันคงอยู่คู่กับเรามานาน คนไทยคงเข้าใจเรื่องนี้ดี หนังผีเราเลยค่อนข้างได้รับความนิยมจากประเทศอื่นๆ จากเรื่องอื่นๆ ด้วยไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องนี้ ทั้งคนที่ทำหรือสิ่งที่มันรายล้อมสตอรีนี้อยู่ คนเข้าใจมันอย่างแท้จริง
แต่โดยส่วนตัวคิดว่าอย่างเรื่องนี้เป็นแค่การใช้เรื่องความเชื่อ หรือที่เราเรียกว่าหนัง Horror หรือหนังผี จริงๆ เราใช้มันเพื่อที่จะบอก ตั้งคำถามบางอย่าง เราไม่ได้หยิบใช้มาคล้ายๆ กับว่านี่คือความเชื่อเรานะ เรามาดูความเชื่อนี้เสร็จแล้วก็จบ เหมือนกับเรื่องนี้มันเอาความเชื่อแล้วพยายามที่จะตั้งคำถามกับความเชื่อนั้นมากกว่า หรือแม้กระทั่งการใช้หนังผี แต่โดยสุดท้ายแล้ว มันก็อาจมีบางอย่างซ่อนอยู่ในสิ่งที่คนทำพยายามจะซ้อนอยู่ ใช้แค่ผีเป็นวิธีการใช้เฉยๆ เพียงแต่ว่าลึกๆ แล้วมันอาจจะเรื่องอื่นนะ คนดูเมื่อได้ดูอาจจะได้รับสิ่งนี้ว่า นี่แหละคือสิ่งที่คนทำพยายามตั้งใจที่จะนำเสนอ
เจนนิษฐ์: รู้สึกว่าภาพของประเทศเรา คนจากต่างประเทศจะรู้สึกว่า คนที่เชื่อก็เชื่อมาก เห็นภาพที่ชัดเจน พวกนี้ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่รุ่นสู่รุ่นแล้ว พอรุ่นต่อมาก็รับมาโดยที่ไม่ได้ตั้งคำถาม รู้แต่ว่าพ่อแม่บอกว่ามันเป็นอย่างนี้ เราก็เชื่อตาม มันก็ส่งต่อมาเรื่อยๆ จนถึงยุคนี้ที่มันเริ่มรู้สึกว่าเริ่มมีการตั้งคำถามมากที่สุด จะเรียกว่าเป็น Soft Power ที่ชัดเจนได้ไหม ก็รู้สึกว่าชัดเจนมาตลอดในทุกๆ รุ่น มันค่อนข้างแตกต่างจากฝั่งต่างประเทศที่เราจะเป็นเรื่องวิญญาณ ฝั่งต่างประเทศอาจจะมีผีที่เป็นวิญญาณน้อยกว่าเรา แล้วก็เขาจะเป็นเหมือนปีศาจมากกว่า เขาอาจจะเห็นว่าตรงนี้เป็นข้อแตกต่างที่บ้านเขาไม่มีแต่บ้านเรามี คนเรามักจะชอบดูสิ่งที่เราไม่เคยเห็น ไม่มีอยู่แล้ว เขาก็อาจจะชอบตรงนี้ที่แตกต่างจากสิ่งที่บ้านเขามี อาจจะทำให้คนชื่นชอบแล้วรู้สึกว่าเวลาถามหนังผีประเทศอะไรน่ากลัวอาจจะมาทางฝั่งเอเชีย เพราะมันเป็นวิญญาณ
ภายใต้เรื่องราวลี้ลับสยองขวัญ มันมีความดราม่ามากกว่าความน่ากลัวของผี ทั้งสองคนรู้สึกอย่างไรกับเนื้อหาที่หนังกำลังนำเสนอบ้าง
โดม: หนังพยายามตั้งใจที่จะเอา Horror มา แต่พยายามที่จะซ้อนสิ่งที่เราตั้งคำถามอยู่ แล้วมันคงบังเอิญเป็นคำถามที่ผมสนใจอยู่ในช่วงเวลาที่ทำ มันเป็นคำถามที่เราอยากจะถามคนดูเหมือนกัน แต่ผมยังไม่ได้คำตอบ หนังไม่ได้ให้คำตอบอะไร ผมว่าหนังมันตั้งคำถามมากกว่า ชวนทุกคนคิดมากกว่า อะไรที่มันน่ากลัวกว่ากัน ผีก็กลัว ทำมาหากินก็ต้องทำ ผมว่าในแง่ตัวละครทุกตัวมันสะท้อนความรู้สึกของแรงขับดัน การต้องอยู่ในสังคมทุนนิยม ณ เวลานี้ ที่คนเราต้องถีบตัวเองในการที่จะมีชีวิตรอด ต้องทำทุกอย่างเพื่อที่จะดูแลตัวเอง ครอบครัว และคนที่ตัวเองรัก เป็นสิ่งที่ผมและหนังตั้งใจที่จะนำเสนอให้คนดู ตั้งคำถามไปพร้อมกับตัวหนังด้วย
เจนนิษฐ์: หลังจากดูจบจะรู้สึกว่ามันคือโลกความเป็นจริงมากๆ ที่เราอาจจะมองข้ามไป ถ้าได้ดูซีนท้ายๆ มันจะมีประโยคหนึ่งขึ้นมาเหมือนตั้งคำถามในหัว แล้วเราจะรู้สึกว่า ทำไมเราไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้มาก่อน มันสื่อให้เห็นถึงความเป็นจริงว่าบางทีที่เขาเลือกที่จะทำอย่างนี้ เพราะคิดว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่เขาจะทำได้ เราเป็นคนนอกหรือว่าคนที่ไม่ได้มีปัญหาเท่าตัวมานพ จะรู้สึกว่าทำไมไม่ทำอย่างนี้ ทำไมไม่ฉลาด ทำไมเลือกทางแบบนี้ จริงๆ ถ้าไม่มาประสบเป็นเขาเองอาจจะไม่รู้ก็ได้ว่านี่มันคือสิ่งที่เขาคิดว่าเขาทำได้ดีที่สุดแล้ว เขาทำมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว รู้สึกหดหู่ว่าความเป็นจริงในประเทศเราก็มีอะไรแบบนี้ค่อนข้างเยอะ
คำถามสุดท้าย สำหรับซีรีส์ที่ตั้งคำถามระหว่าง ‘ผี’ กับ ‘ความจน’ คุณว่าอะไรที่น่ากลัวกว่ากัน
เจนนิษฐ์: เรามีจุดยืนชัดเจนเสมอว่าเงินคือสิ่งสำคัญ ดังนั้นความจนมันน่ากลัวมากกว่าผี รู้สึกว่าถึงเป็นความเชื่อเรื่องผี ผีทำร้ายเราในหนัง เรารู้สึกว่าในชีวิตไม่เคยมีคนที่สามารถพูดได้เต็มปากว่าตายเพราะผี ความจนมันจะตายเพราะว่าอดตาย มันทรมาน ภาพมันชัดว่าไม่มีกินแล้วก็ตาย แต่ผีมาหลอกเราถ้าเราทนหรือมีสติ เรายอมอยู่กับผีดีกว่าจน แล้วก็อดตาย
โดม: สั้นๆ น่ากลัวพอๆ กันครับ
สามารถรับชม Folklore ซีซัน 2 ตอน Broker of Death ได้แล้ววันนี้ ทาง HBO GO
อ่านบทความ Folklore ซีซัน 2 ตอน Broker of Death เมื่อ ‘ความจน’ น่ากลัวกว่าวิญญาณร้าย ‘ความงมงาย’ จึงกลายเป็นทางรอดที่เหลืออยู่ ต่อได้ที่นี่ https://thestandard.co/folklore-broker-of-death/
รับชมตัวอย่างได้ที่นี่
https://www.youtube.com/watch?v=5iPAkb1GfbM