ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยแพร่บทวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2565 โดยระบุว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด ซึ่งมีความเสี่ยงที่ต้องจับตาเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์โอไมครอนจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังต้องขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความระมัดระวัง โดยแม้ว่าความเสี่ยงจากโควิดจะถูกจำกัดวงไว้ได้อย่างทันท่วงที และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปี 2565 จะสามารถประคองทิศทางการฟื้นตัวได้ แต่ผลกระทบที่เรื้อรังจากวิกฤตโควิดทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า แม้ระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศอาจบันทึกกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมาที่ 1.86 แสนล้านบาทในปี 2565 (เทียบกับตัวเลขคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2564 ที่ 1.78 แสนล้านบาท) แต่ก็จะยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับกำไรสุทธิเฉลี่ยช่วงก่อนโควิดที่ทำได้สูงกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี เช่นเดียวกับมาตรวัดความสามารถในการทำกำไร อาทิ ROA และ NIM ที่แม้จะขยับสูงขึ้นในปี 2565 แต่ก็จะยังไม่สามารถกลับไปเทียบเท่ากับปี 2561-2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนวิกฤตโควิดได้
นอกจากนี้ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับสู่ภาพปกติอาจส่งผลทำให้อัตราการขยายตัวของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2565 ชะลอลงมาอยู่ที่ 4.8% จากที่คาดว่าจะเติบโต 6% ในปี 2564 ขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพยังคงเป็นประเด็นที่ธนาคารพาณิชย์สามารถบริหารจัดการได้ แต่ยังต้องเร่งแก้ไขปัญหาในเชิงรุกควบคู่ไปกับติดตามสัญญาณไหลเข้าของหนี้ด้อยคุณภาพในกลุ่มสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะหนี้ไม่มีหลักประกันและสินเชื่อ SMEs อย่างใกล้ชิด ซึ่งภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวคาดว่า แนวโน้ม NPLs ปี 2565 จะขยับเข้าหาระดับประมาณ 3.30% ต่อสินเชื่อรวม จากระดับประมาณ 3.20% ณ สิ้นปี 2564
ขณะที่ระดับการตั้งสำรองฯ ในปี 2565 จะผ่อนคลายลงไม่มากและยังคงอยู่สูงกว่าระดับการตั้งสำรองฯ ในภาวะปกติ โดยสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ (Credit Cost) ในปี 2565 อาจย่อตัวลงไปที่กรอบประมาณ 1.25-1.30% จากตัวเลขคาดการณ์สำหรับปี 2564 ที่ 1.40%
อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของโอไมครอนอย่างใกล้ชิด โดยหากความเสี่ยงจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเพิ่มสูงขึ้น และมาตรการสกัดการระบาดของไวรัสโควิดมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจยาวนานกว่าช่วงต้นปี 2565 ก็คงจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังรายได้จากธุรกิจหลัก และภาพรวมของผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ด้วยเช่นกัน โดยในกรณีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจขยับลงกรอบล่างของช่วงประมาณการปี 2565 ซึ่งคาดไว้ที่ 4.0-5.5% สวนทางกับทิศทางของสัดส่วน NPLs ที่อาจขยับสูงขึ้นเข้าใกล้กรอบบนของช่วงประมาณการที่ 3.20-3.50% ของสินเชื่อรวม
สำหรับสถานการณ์ในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า หากไม่นับรวมความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิดที่ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยและรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์แล้ว ความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้าจะเป็นเรื่องการปรับแนวทางการดำเนินงานและเตรียมวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับปี 2565 ซึ่งคาดว่า จะเป็นปีแห่งการแข่งขันที่ดุเดือดของสนามบริการทางการเงิน โดยเฉพาะค่าธรรมเนียม สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล และการแสวงหาโอกาสจากดิจิทัลแพลตฟอร์มในพื้นที่ธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลกการเงินยุคใหม่ เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่ง สร้างโมเดลการเติบโต และชดเชยรายได้ที่สะดุดไปในช่วงผลกระทบจากวิกฤตโควิด
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP