เคานต์ดาวน์ปีใหม่เมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ไหนกันบ้างครับ…
สัปดาห์ก่อนสิ้นปี 2563 ผมอยู่เวรสอบสวนโรคของกรมควบคุมโรค เลยได้เคานต์ดาวน์ที่ จ.สมุทรสาคร จำได้ว่าวันนั้นทีมสอบสวนโรคเลิกงานกันตามปกติคือประมาณ 1-2 ทุ่ม แวะซื้อมื้อเย็นที่ตลาดโต้รุ่งรอบวงเวียนน้ำพุ (ถึงแม้จะชื่อว่า ‘โต้รุ่ง’ แต่ตอนนั้นทุกร้านจะต้องเก็บร้านให้ทันเคอร์ฟิว 22.00-05.00 น.) ก่อนเข้าที่พัก คืนนั้นผมหิ้วกับข้าวไปล้อมวงกินกับทีม ไม่ถึงกับเป็นงานเลี้ยงฉลอง แต่ก็ให้สมกับเป็นวันสิ้นปี
บรรยากาศส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของหลายคนคงเงียบเหงาคล้ายกัน เพราะอยู่ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิดระลอกที่ 2 ที่เริ่มพบการระบาดจากตลาดกลางกุ้ง แพร่กระจายไปยังจังหวัดข้างเคียงและต่างจังหวัด แม้ว่า ศบค. จะกำหนดมาตรการตามพื้นที่สีแทนการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แต่ก่อนสิ้นปีกระทรวงสาธารณสุขก็ออกมาขอให้งดเดินทางออกนอกจังหวัดโดยไม่จำเป็น และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมากในช่วงปีใหม่
หนึ่งปีผ่านไป กลางเดือนธันวาคมปีนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันสูงกว่าเมื่อสิ้นปีที่แล้ว 20 เท่า (จำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 7 วันย้อนหลังในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เท่ากับ 151 ราย) แต่ความตื่นตระหนกหรือความวิตกกังวลกลับต่ำกว่ามาก ในขณะที่ ศบค. ประกาศใช้แนวคิดอยู่ร่วมกับโควิด (Living with COVID) และผ่อนคลายมาตรการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน 2564 ทำให้บรรยากาศการเคานต์ดาวน์ปีใหม่ปีนี้น่าจะดีกว่าปีที่แล้ว
ทว่าสถานการณ์โควิดท้ายปีนี้ต่างกับท้ายปีที่แล้วหรือไม่ และมาตรการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เป็นอย่างไร
เมื่อมองผ่านกรอบสามเหลี่ยมทางระบาดวิทยา
เชื้อโรค โฮสต์ (Host) และสิ่งแวดล้อมเป็น 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการระบาดของโรค หรือที่ในทางวิชาการเรียกว่า ‘สามเหลี่ยมทางระบาดวิทยา’ สำหรับโควิด-19 เชื้อโรคคือไวรัสซาร์ส-โควี-2 โฮสต์คือคน อาจมีรายงานติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงบ้างแต่ไม่ได้เป็นโฮสต์หลัก ส่วนสิ่งแวดล้อมหมายถึงสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เศรษฐกิจ-สังคม ระบบบริการสุขภาพ และมาตรการควบคุมโรค เมื่อมองผ่านกรอบแนวคิดนี้จะเห็นว่าสถานการณ์ท้ายปีนี้ค่อนข้างต่างจากปีที่แล้ว
ไวรัสซาร์ส-โควี-2: ไวรัสมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ ใน ‘ระดับประเทศ’ สายพันธุ์ที่ระบาดหลักเมื่อปลายปีที่แล้วคือสายพันธุ์ B.1.36.16 ส่วนในปัจจุบันคือสายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2) ซึ่งมีความสามารถในการแพร่กระจายและมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในระลอกที่ 4 สูงกว่าระลอกก่อนหน้า ในขณะที่ใน ‘ระดับโลก’ พบการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน (B.1.1.529) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในยุโรป ไทยจึงมีความเสี่ยงจากสายพันธุ์นี้เช่นกัน
ย้อนกลับไปทบทวนการระบาดระลอกก่อน อัลฟา (B.1.1.7) เริ่มระบาดในอังกฤษปลายปี 2563 ใช้เวลา 4 เดือนกว่าจะเข้ามาระบาดในสถานบันเทิงย่านทองหล่อช่วงเมษายน 2564 ส่วนเดลตาเริ่มระบาดในอินเดียช่วงกุมภาพันธ์ 2564 ใช้เวลา 3 เดือนถึงเข้ามาระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้างช่วงพฤษภาคม เนื่องจากช่วงนั้นไทยมีมาตรการควบคุมการเข้าออกทางอากาศอย่างเข้มงวด ‘ช่องทางธรรมชาติ’ จึงเป็นช่องโหว่ในการนำเข้าผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ
แต่ในช่วงนี้ไทยเปิดประเทศมากขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบการระบาดจากผู้เดินทางเข้ามา ‘ทางอากาศ’ ด้วย โดยเฉพาะระบบ Test & Go ซึ่งถึงแม้จะเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว และต้องตรวจเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ในวันแรก และ ATK ในวันที่ 6-7 แต่เนื่องจากวัคซีน 2 เข็มป้องกันการติดโอไมครอนได้น้อยมาก และยังไม่มีข้อมูลระยะฟักตัว (สายพันธุ์ดั้งเดิมเฉลี่ย 5-6 วัน และนานที่สุด 14 วัน) การแพร่เชื้อจึงอาจเกิดขึ้นในระหว่างที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศได้
คน: หลายคนยังคงสวมหน้ากากเมื่อออกจากบ้าน เว้นระยะห่างจากผู้อื่น (บางสถานการณ์ก็ไม่สามารถทำได้ เช่น บนรถโดยสารสาธารณะ) และล้างมือบ่อยๆ แต่มุมมองที่มีต่อโควิดอาจแตกต่างจากเดิมที่ ‘ไม่ต้องการติดเชื้อ’ เป็น ‘ติดเชื้อได้’ แต่อาการจะไม่รุนแรง (ยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น) เพราะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม และต้องการกลับไปใช้ชีวิตให้ใกล้เคียงกับปกติ จึงมีการรวมกลุ่มกันมากขึ้น เช่น รับประทานอาหาร ประชุม/สัมมนา ท่องเที่ยวในวันหยุดมากขึ้น
ปัจจุบันไทยมีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ประมาณ 50 ล้านคน หรือ 61% ของประชากรทั้งหมด ถึงแม้แนวคิดเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) จะไม่สามารถนำมาใช้ได้กับโควิด เพราะยิ่งกลายพันธุ์ยิ่งมีความสามารถในการแพร่ระบาดหรือค่าการระบาด ® เพิ่มขึ้นและยังสามารถติดเชื้อซ้ำได้ แต่ยิ่งมีจำนวนประชากรได้รับวัคซีนมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสพบผู้ป่วยอาการหนักน้อยลงมากเท่านั้น ทั้งนี้ อยู่ภายใต้สมมติฐานที่วัคซีนทุกชนิดป้องกันอาการรุนแรงได้
ทว่าวัคซีนชนิดเชื้อตายกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีได้ไม่สูงนัก และไม่กระตุ้นทีเซลล์ (T-Cell) ทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac หรือ Sinopharm ยังมีความเสี่ยงต่อสายพันธุ์ใหม่อยู่ (ข้อมูลจนถึงเดือนกันยายน 2564 มีผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม ประมาณ 3.5 ล้านคน) และสำหรับสายพันธุ์โอไมครอน หากต้องการประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อจะต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งตอนนี้ไทยมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว 4.5 ล้านคน หรือ 6.3% เท่านั้น
สิ่งแวดล้อม: ปลายปีนี้กับปลายปีที่แล้วเป็นฤดูหนาวเหมือนกัน และฤดูหนาวของไทยไม่ได้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก (ฤดูหนาวในต่างประเทศจะทำให้ประชาชนต้องอยู่รวมกันภายในอาคารมากขึ้น ส่วนไทยน่าจะมีผลต่อการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุด) สิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลต่อการระบาดน่าจะเป็นด้านสังคม-เศรษฐกิจ เพราะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะพูดในถึงหัวข้อถัดไปว่า ศบค. มีการปรับมาตรการอย่างไรบ้าง
ส่วนระบบบริการสุขภาพ หากเกิดการระบาดขึ้นอีกครั้งจากโอไมครอน ไทยน่าจะมีความพร้อมในการรับมือกับผู้ติดเชื้อมากกว่าปีที่แล้ว เพราะมีประสบการณ์ในการระดมทรัพยากรเพิ่มมาตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย (Community Isolation: CI) การดูแลผู้ติดเชื้อที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation: HI) เทียบกับเมื่อปลายปีที่แล้วกว่า จ.สมุทรสาคร จะสร้างโรงพยาบาลสนามเสร็จต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย และยังไม่มี HI อย่างเป็นระบบ
มาตรการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2565 เป็นอย่างไร
ศบค. ลดระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อย หรือ ‘พื้นที่สี’ มาเป็นระยะ (ในช่วงแรกที่ประกาศใช้ นายกฯ ไม่ให้เรียกชื่อพื้นที่ตามชื่อสี) โดยยกเลิกพื้นที่สีแดงเข้ม (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด) มาตั้งแต่วันที่ 1 ธันาคม 2564 และยกเลิกพื้นที่สีแดง (พื้นที่ควบคุมสูงสุด) มาตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม คงเหลือเฉพาะจังหวัดสีส้ม 39 จังหวัด สีเหลือง 30 จังหวัด และพื้นที่สีฟ้า (นำร่องการท่องเที่ยว) 8 จังหวัด ทำให้ร้านอาหารสามารถเปิดบริการได้ตามปกติ
แต่ในพื้นที่สีส้ม (พื้นที่ควบคุม) ยังไม่สามารถดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้านได้ ยกเว้นในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2564 – 1 มกราคม 2565 ที่ ศบค. อนุญาตให้นั่งดื่มสุราได้ไม่เกิน 01.00 น. และเฉพาะร้านที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวกเท่านั้น ทั้งนี้ ให้เคร่งครัดตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด แสดงว่า ศบค. ยังคงกังวลการระบาดจากการนั่งดื่มสุราอยู่ ทั้งที่แต่ละโต๊ะก็นั่งรับประทานอาหารร่วมกันอยู่แล้ว และไม่มีการเปิดสถานบันเทิง
ปัจจัยเสี่ยงอื่นที่อาจทำให้เกิดการะบาดในช่วงเทศกาลปีใหม่ ได้แก่ การเดินทางข้ามจังหวัด การรวมตัว/ความหนาแน่น เช่น การรวมเครือญาติ การจัดงานสังสรรค์ปีใหม่ การสวดมนต์ข้ามปี การทำบุญตักบาตร ศบค. จึงกำหนดให้ใช้มาตรการที่มีตัวย่อว่า VUCA คือการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ (Vaccine) การป้องกันตัวแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) มาตรการความปลอดภัยระดับองค์กร (COVID Free Setting) และการตรวจหาเชื้อด้วย ATK
นอกจากนี้ยังกำหนดมาตรการความปลอดภัยในการจัดงานช่วงเทศกาลปีใหม่แยกตามขนาดงาน ซึ่งก็คือมาตรการ COVID Free Setting ที่มีการแบ่งมาตรการออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านผู้จัดงาน/พนักงาน ด้านผู้เข้าร่วมงาน และด้านสิ่งแวดล้อม แต่ความแตกต่างคือผู้เข้าร่วมงานขนาดใหญ่ (ตั้งแต่ 1,000 คนขึ้นไป) นอกจากมีหลักฐานการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์แล้ว จะต้องมีผลการตรวจ ATK เป็นลบก่อนเข้างานภายใน 72 ชั่วโมงด้วย
ปีนี้ ศบค. มีเครื่องมือในการควบคุมโรคมากกว่าปีที่แล้วนั่นคือวัคซีน และชุดตรวจ ATK ซึ่งน่าจะช่วยให้งานมีความปลอดภัยมากขึ้น โดยชุดตรวจ ATK เป็นการคัดกรองผู้ติดเชื้อก่อนเข้าร่วมงาน ถ้าจะให้ดีควรเป็นผลตรวจก่อนออกจากบ้านในวันเดียวกับงาน ส่วนวัคซีน ถึงแม้จะมีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อลดลงแต่ยังป้องกันอาการรุนแรงได้ หากเกิดการระบาด ผู้ป่วยอาการหนักก็จะไม่เกินศักยภาพของโรงพยาบาล เว้นแต่จะมีการระบาดของโอไมครอนคู่กับเดลตา
ความเสี่ยงของสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทย
จากที่กล่าวมาข้างต้น ไทยมีความเสี่ยงจากการนำเข้าผู้ติดเชื้อผ่านช่องทางธรรมชาติอยู่เดิม ประเทศที่พบโอไมครอนระบาดภายในประเทศ (Local Transmission) ในขณะนี้คืออินเดีย พบผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 100 ราย ด้วยความเร็วเท่าเดิมอาจใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3 เดือนถึงจะเข้ามาในประเทศ แต่ไทยมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากนักท่องเที่ยวทางเครื่องบิน ซึ่งในสหราชอาณาจักรใช้เวลาเพียง 3 สัปดาห์ หลังจากพบผู้ติดเชื้อรายแรก ก็ทำให้สถานการณ์หนักใกล้เคียงระลอกก่อนหน้า
ปัจจุบัน (วันที่ 18 ธันวาคม 2564) ยังไม่พบการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทย ประโยคนี้คล้ายกับวันนี้เมื่อปีที่แล้วที่ยังไม่พบการระบาดในตลาดกลางกุ้งและเพิ่งควบคุมการระบาดข้ามชายแดนเมียนมา-ไทยที่ จ.เชียงราย ได้ ไทยน่าจะฉลองปีใหม่ตามที่คาดหวัง แต่ในท้ายที่สุดกลับไม่เป็นเช่นนั้น บทเรียนที่สำคัญเมื่อปีที่แล้วคือระบบเฝ้าระวังที่ไม่ครอบคลุมสถานที่เสี่ยง ทำให้ไม่สามารถตรวจจับคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้งได้ตั้งแต่เนิ่นๆ (Early Detection)
ดังนั้นนอกจากการเตรียมป้องกันการระบาดในช่วงเทศกาลปีใหม่ ทั้งการเร่งฉีดวัคซีนที่เน้นการฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม (การฉีดเข็มกระตุ้นก็สำคัญ) และการจัดหาชุดตรวจ ATK ให้เพียงพอกับความต้องการแล้ว ไทยยังต้องควบคุมการระบาดในขณะนี้ให้อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โอไมครอนอย่างเข้มข้นในกลุ่มอาชีพที่ใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวและในจังหวัดสีฟ้า อย่างน้อยก็ต้องยื้อให้สายพันธุ์นี้ไประบาดช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ให้ได้
อ้างอิง:
- Thailand Variant Report https://outbreak.info/location-reports?loc=THA
- Omicron variant live updates: India’s active caseload lowest in 569 days https://timesofindia.indiatimes.com/india/coronavirus-omicron-live-updates-india-and-world-december-18/liveblog/88350096.cms
- SARS-CoV-2 variants of concern and variants under investigation in England Technical briefing 32 https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/1042046/Technical_Briefing_32.pdf
- Update on COVID-19 vaccines & immune response https://www.who.int/docs/default-source/coronaviruse/risk-comms-updates/update52_vaccines.pdf?sfvrsn=b11be994_4
- แนวทางฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น (Booster dose) วันที่ 20 ตุลาคม 2564 https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/getFiles/14/1636444421772.pdf
- ศบค.แจงยิบแบ่ง 4 พื้นที่คุม COVID-19 ชี้ “สมุทรสาคร” งดปีใหม่ https://news.thaipbs.or.th/content/299565
- ศปค.สธ.ขอร้องคนไทยอยู่บ้านช่วงปีใหม่ ลดแพร่ระบาด COVID-19 https://news.thaipbs.or.th/content/299728
- ศบค.ไฟเขียวดื่มสุราฉลองปีใหม่คืน 31 ธ.ค.ถึงตี 1 เฉพาะร้านเปิดโล่ง https://news.thaipbs.or.th/content/299565