×

ไวซ์ไซท์ เผย ‘ปังปุริเย่’ คว้าวลีฮิตประจำปี 2564 สภาพ, น้อน, ต้าว และ คลั่งรัก ติดอันดับด้วยเช่นกัน

16.12.2021
  • LOADING...
ไวซ์ไซท์

ภาษาไทยเป็นอีกหนึ่งภาษาที่มีความลื่นไหลสูง คนไทยอาจจะเป็นหนึ่งในชาติที่มีความครีเอทีฟสูงก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรก็มักจะสร้างแฮชแท็ก หรือวลีใหม่ๆ ให้กับเรื่องในกระแสได้อย่างรวดเร็ว หรือแม้กระทั่งเวลาพิมพ์ผิด, เปลี่ยนวรรณยุกต์, เปลี่ยนตัวสะกด, ตัดคำ ก็เกิดเป็นคำศัพท์ใหม่เพื่อเพิ่มอรรถรสในการสนทนาอย่างไม่รู้จบ เช่น ยืนหนึ่ง, เกินต้าน, มงลง, พส., ดือ, สู่ขิต, ความโป๊ะเป็นศูนย์ ฯลฯ บางคำมาจากผู้ทรงอิทธิพลในสังคม บางคำเริ่มใช้เฉพาะกลุ่ม ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาจึงได้เห็นคำสแลงหรือวลีติดปากเกิดขึ้นเป็นกระแสมากมายบนโลกโซเชียล 

 

บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้สำรวจวลีฮิตประจำปี 2564 ทั้งหมดมากกว่า 150 คำ และเก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือ Zocial Eye ตลอดทั้งปี (วันที่ 1 มกราคม – 8 ธันวาคม 2564 เพื่อจัดอันดับ 10 วลีที่มีจำนวนการพูดถึงและจำนวนเอ็นเกจเมนต์สูงที่สุด พร้อมส่องที่มาของแต่ละคำว่ามีต้นตอมาจากไหน ใครหยิบยกไปใช้กันบ้าง

 

ทุกคนพอจะเดากันได้ไหมว่ามีคำไหนบ้าง จะมีคำที่คุณใช้เป็นประจำทุกวันหรือเปล่า ลองไปดูกันเลย

 

1. ปัง (3,147,078 ข้อความ, 216,656,590 เอ็นเกจเมนต์)

ปัง! ในความหมายว่า เลิศ, อลังการ, ดี! ชาวโซเชียลใช้คำนี้กันมาสักพักใหญ่ และมักใช้ร่วมกับคำอื่น เช่น ปังมาก, ปังปุริเย่, ปังไม่ไหว, สุดปัง 

 

2. สภาพ (1,887,529 ข้อความ, 178,830,358 เอ็นเกจเมนต์)

จากไลฟ์ของ พส. หรือพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ที่มียอดเข้าชมกว่า 2 แสนคน มีหนึ่งคำที่หยิบยกมาใช้บ่อยๆ คือ สภาพ ซึ่งเมื่อถามถึงความหมายจากพระมหาไพรวัลย์ท่านก็ตอบกลับมาว่า “สภาพก็คือ สภาพไง ขายขำหรอ” นั่นเอง ชาวโซเชียลที่ถูกอกถูกใจจึงหยิบคำนี้มาใช้อยู่บ่อยๆ 

 

3. น้อน (1,822,825 ข้อความ, 101,661,318 เอ็นเกจเมนต์)

ถัดมาคือคำว่าน้อน ที่แปลงเสียงมาจากคำว่า น้อง ชาวโซเชียลมักใช้คำนี้เรียกสิ่งมีชีวิตที่น่าเอ็นดู และมักจะพิมพ์ นนนนนนนน เพื่อเพิ่มความน่ารักสดใสทวีคูณขึ้นอีก 10 เท่า

 

4. ต้าว (1,269,500 ข้อความ, 101,581,279 เอ็นเกจเมนต์)

อีกหนึ่งคำที่แปลงเสียงมาจากคำว่า เจ้า เพื่อแสดงถึงความน่ารักน่าเอ็นดู บางครั้งอาจลากเสียง ว. แหวน เพิ่มกิมมิกความเอ็นดูเข้าไปอีก โดยชาวโซเชียลมักใช้คำนี้ร่วมกับคำอื่น เช่น ไอ้ต้าวบ้า, ไอ้ต้าวฟามรัก, ไอ้ต้าวยูกหมา 

 

5. คลั่งรัก (808,051 ข้อความ, 73,109,345 เอ็นเกจเมนต์)

อาการตกหลุมรักระดับมากที่สุด ระดับที่ใช้เสียงสอง เสียงสาม เสียงสี่ 

 

6. ของมันต้องมี (547,494 ข้อความ, 65,609,253 เอ็นเกจเมนต์)

#ของมันต้องมี อาการอยากได้ของสิ่งหนึ่งที่จริงๆ ก็ไม่ได้จำเป็นกับชีวิต แต่จำเป็นต้องมีไว้เพื่อความชิค คำนี้เป็นวลีฮิตเมื่อหลายปีก่อนจาก สู่ขวัญ บูลกุล ที่ชาวโซเชียลขาช้อปยังคงใช้กันมากในปัจจุบันนี้

 

7. จุกๆ (384,508 ข้อความ, 72,702,458 เอ็นเกจเมนต์)

ที่แปลว่า แบบเต็มที่, เต็มอิ่ม ชาวโซเชียลมักใช้คำนี้กับการอยากทำอะไรให้สุดๆ ไปเลย เช่น หยุดอยู่บ้านนาน อยากไปเที่ยวแบบจุกๆ, อาหารจานใหญ่จุกๆ, กินแบบจุกๆ

 

8. หิวแสง (361,006 ข้อความ, 10164906 เอ็นเกจเมนต์)

คำศัพท์ใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นได้ไม่นานแต่ก็ได้รับเอ็นเกจเมนต์อย่างท่วมท้นจากชาวโซเชียล โดยคำนี้จะใช้เรียกคนที่ต้องการเป็นจุดสนใจของสังคม เช่น ทำคอนเทนต์ดราม่าออกมาเรียกยอดไลก์, แสดงความคิดเห็นไม่เหมาะสมและไม่รู้กาลเทศะ หรือพูดจาบั่นทอนความรู้สึกคนอื่น ซึ่งมักจบลงด้วยการทัวร์ลงนั่นเอง 

 

9. ต๊าช (278,296 ข้อความ, 34,329,159 เอ็นเกจเมนต์)

มาต่อกับคำว่า ‘ต๊าซ’ ที่ต้องเน้นเสียงและใส่อารมณ์เวลาพิมพ์หรือพูด ต๊าช มีความหมายว่า ยอดเยี่ยม, ปัง, ดีย์! คนที่นำคำนี้มาใช้เป็นคนแรกคือ สไปรท์ บะบะบิ ยูทูเบอร์สายฮาและเจ้าของเพจสไปรท์ไงที่ไหล่กว้าง

 

10. จึ้ง (213,403 ข้อความ, 31,543,748 เอ็นเกจเมนต์)

อีกหนึ่งคำที่มีความหมายว่า เลิศ, ดี ชาวโซเชียลมักใช้คำนี้ร่วมกับคำว่า มากแม่ เพิ่มความปังเข้าไปให้คู่สนทนาแบบ 10 10 10 

 

นอกจากนี้ยังมีคำอื่นๆ ที่ชาวโซเชียลใช้อย่างแพร่หลาย เช่น เกินต้าน, จกตา, กล้าที่จะ, เอาปากกามาวง, ปั๊วะ, อรุ่มเจ๊าะ, จะเทย โดยแต่ละคำได้รับเอ็นเกจเมนต์เกิน 1,000,000 เอ็นเกจเมนต์ จะเห็นได้ว่าปีนี้เป็นอีกปีที่ชาวโซเชียลมีการใช้คำศัพท์และภาษาเฉพาะกลุ่มของตนเอง คำใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นเยอะมากเช่นกัน ซึ่งบางคำกลายมาเป็นปรากฏการณ์บนโลกออนไลน์เลยทีเดียว ยิ่งรู้คลังศัพท์เหล่านี้มากก็จะได้ไม่ตกเทรนด์ เดี๋ยวจะคุยกับวัยสะรุ่นเมืองทิพย์ไม่รู้เรื่อง!!

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X