×

ตามคาด! มติ Fed เพิ่มวงเงินลด QE เดือนละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ จ่อขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า 3 ครั้ง หวังสกัดเงินเฟ้อพุ่งแรง

16.12.2021
  • LOADING...
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)

ผลการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เป็นไปตามที่บรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ โดย Fed มีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25 เปอร์เซ็นต์ พร้อมเพิ่มการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เป็นเดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

รายงานระบุว่าการลดปริมาณการซื้อคืนพันธบัตรรายเดือนดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2022 เป็นต้นไป ซึ่งปริมาณที่ซื้อคืนรอบใหม่นี้เป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิมที่เดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ Fed สามารถยุติการทำ QE ได้ภายในเดือนมีนาคมปีหน้า

 

ขณะเดียวกันในส่วนที่เป็นประเด็นที่ได้รับการจับตามองมากที่สุด อย่างการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แถลงการณ์ของ Fed ระบุว่า เจ้าหน้าที่ Fed ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2022 และจำนวน 2 ครั้งในปี 2023 และอีก 2 ครั้งในปี 2024 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นแตะระดับ 1.50 เปอร์เซ็นต์ ภายในสิ้นปี 2023 จากระดับ 0.00-0.25 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน ก่อนเดินหน้าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อจนถึงระดับ 2.30 เปอร์เซ็นต์ภายในเดือนพฤษภาคม 2024

 

มติที่ประชุม Fed ในครั้งนี้ ตั้งแต่เรื่องการคงอัตราดอกเบี้ย การปรับลดวงเงิน QE และการส่งสัญญาณชัดเจนเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนี้ สอดคล้องกับที่บรรดานักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า หลังจากที่ Fed ได้ส่งสัญญาณหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมาว่า Fed จะเร่งการถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินที่ Fed ได้เริ่มใช้ในเดือนมีนาคม 2020 โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด

 

นอกจากนี้ Fed ยังได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ สู่ระดับ 5.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของปี 2022 สู่ระดับ 4.0 เปอร์เซ็นต์ ก่อนจะปรับลดตัวเลขคาดการณ์ในปี 2023 สู่ระดับ 2.2 เปอร์เซ็นต์ และคงตัวเลขคาดการณ์ในปี 2024 ที่ระดับ 2.0 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อัตราการขยายตัวในระยะยาวอยู่ที่ระดับ 1.8 เปอร์เซ็นต์

 

ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อที่ประชุม Fed ได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2021-2023 สู่ระดับ 5.3, 2.6 และ 2.3 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ พร้อมคงตัวเลขคาดการณ์ในปี 2024 ที่ระดับ 2.1 เปอร์เซ็นต์ และคงตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะยาวอยู่ที่ระดับ 2.0 เปอร์เซ็นต์

 

สำหรับอัตราการว่างงาน มติ Fed ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราว่างงานในปี 2021 สู่ระดับ 4.3 เปอร์เซ็นต์ และปี 2022 สู่ระดับ 3.5 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ขณะที่คงตัวเลขคาดการณ์ในปี 2023-2024 ที่ระดับ 3.5 เปอร์เซ็นต์ทั้ง 2 ปี และคงตัวเลขคาดการณ์อัตราว่างงานในระยะยาวที่ระดับ 4.0 เปอร์เซ็นต์

 

เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed กล่าวว่า แนวโน้มพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนให้ Fed ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

 

หลังจากที่ Fed แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อจัดการกับวิกฤตเงินเฟ้อ นักลงทุนและนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งต่างจับตามองไปที่ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ว่าจะมีการตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายตาม Fed หรือไม่ ท่ามกลางความท้าทายในเรื่องของภาวะอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.9 เปอร์เซ็นต์ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บวกกับวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์กลายพันธุ์อย่างโอไมครอนที่ทำให้รัฐบาลหลายประเทศในยุโรปต้องงัดมาตรการล็อกดาวน์ขึ้นมาใช้อีกระลอก

 

นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ว่า ECB มีแนวโน้มที่จะลดปริมาณการซื้อคืนสินทรัพย์รายเดือนลงตั้งแต่เดือนเมษายนปีหน้า โดย คริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB อาจจะต้องการเวลาในการพิจารณาสถานการณ์ที่ค่อนข้างซับซ้อนในปัจจุบันเพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างเหมาะสม ซึ่งโครงการซื้อคืนพันธบัตรอย่าง PEPP มีกำหนดยุติในเดือนมีนาคมปีหน้าอยู่แล้ว

 

ทั้งนี้ สิ่งที่นักวิเคราะห์ให้ความสนใจก็คือการเปลี่ยนแปลงในโครงการซื้อคืนสินทรัพย์อย่าง APP ที่ทาง ECB นำมาใช้ได้อย่างยืดหยุ่นมากกว่า โดยหลายฝ่ายมองว่า Fed จะมีการเปลี่ยนแปลงในโครงการ APP หรือไม่ แล้ว ECB จะจัดการยุติโครงการ APP นี้อย่างไร ส่วนในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ มติ ECB ครั้งนี้น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น กระนั้นนักลงทุนก็คาดการณ์ไว้แล้วว่า ECB จะค่อยๆ ทยอยลดการซื้อคืนพันธบัตรจนปิดโครงการภายในปีหน้า

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X