ภายหลังจากที่ได้ให้ทุกคนได้ร่วมยินดีกับช่วงเวลานาทีประวัติศาสตร์ที่งดงามที่สุดในชีวิตแล้ว สตีเฟน หรือที่เราและเขาเองจะชอบชื่อ ‘สเตฟ’ เคอร์รีก็ขอเวลาให้ตัวเองได้นั่งเก็บเกี่ยวห้วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดกว่าช่วงเวลาใดในชีวิตคนเดียวที่ม้านั่งข้างสนาม
นัยน์ตาของเขาดูรื้นๆ มีหยาดน้ำใสอยู่ข้างใน แต่เมื่อมองไปในแววตาแล้วจะมองเห็นความภูมิใจที่เก็บเอาไว้ไม่อยู่
ลูก 3 คะแนนในเกมกับนิวยอร์ก นิกส์ วันนี้ (15 ธันวาคม) คือลูก 3 คะแนนลูกที่ 2,974 ในการแข่งขัน NBA ฤดูกาลปกติ (Regular Season) ซึ่งกลายเป็นสถิติใหม่ตลอดกาลที่ก้าวผ่าน เรย์ อัลเลน ผู้เล่นระดับตำนาน Hall of Fame ของบอสตัน เซลติกส์ นั้นเป็นผลพวงของความพยายามตลอดทั้งชีวิต ที่แม้แต่ตัวเขาเองก็คงไม่รู้ว่ากว่าจะได้ผลลัพธ์ระดับนี้เขาต้องผ่านการชู้ตมาแล้วกี่แสนกี่ล้านครั้ง
ในการชู้ตที่มหัศจรรย์นั้น ที่มาของมันแท้จริงแล้วคือเรื่องที่ธรรมดาที่สุด
ที่เคอร์รียิงแม่นกว่าใครนั้นไม่ได้เป็นเพราะเขามีแค่พรสวรรค์ (ซึ่งก็มีนั่นแหละ และมีมากกว่าใครด้วย เพราะเขาคือสายเลือดของวอร์เดลล์ หรือ เดลล์ เคอร์รี อดีตการ์ดมือยิง 3 คะแนน) แต่มันมาจากพรแสวงและการฝึกฝนไม่รู้จบตั้งแต่เด็ก
เดลล์ฝึกลูกชายด้วยความรักและความเข้มงวดตั้งแต่เด็ก และรู้จุดอ่อนสำคัญของเขามาตั้งแต่แรกคือรูปร่างที่เล็กกว่าคนอื่นเสมอ
การเป็นพอยต์การ์ดที่ตัวเล็กนั้นหมายถึงการเสียเปรียบมหาศาลเมื่อต้องเจอกับผู้เล่นที่สูงใหญ่กว่า และนั่นทำให้เดลล์พยายามปรับฟอร์มการชู้ตของเคอร์รีใหม่ เพื่อให้สามารถชู้ตได้โดยที่ไม่ถูกบล็อก และสิ่งนี้ก็ได้กลายเป็นพื้นฐานในการปรับแต่งทักษะความสามารถของสเตฟ เพื่อให้ก้าวไปสู่ NBA ตามรอยพ่อ
มากกว่านั้นคือ การที่สเตฟได้พัฒนาทักษะทุกอย่างจนถึงขีดสุดในระดับที่กลายเป็น ‘ปรากฏการณ์’ ของบาสเกตบอล NBA
ไม่เคยมีใครทำได้แบบเขามาก่อน และเราก็ไม่รู้ด้วยว่าจะมีใครที่จะทำแบบเขาได้อีกไหม
เคอร์รีเป็นการ์ดที่มีส่วนสูงเพียง 6 ฟุต 3 นิ้วเท่านั้น (ค่าเฉลี่ยส่วนสูงของนักบาส NBA อยู่ที่ 6 ฟุต 7 นิ้ว) ซึ่งอย่างที่บอก มันคือความเสียเปรียบ แต่เขาก็ค้นหาความได้เปรียบด้วยการเล่นกับ 2 สิ่งด้วยกัน
Space and Time – พื้นที่ว่างและเวลา
หนึ่งในสิ่งที่มหัศจรรย์ที่สุดของเคอร์รีคือ จังหวะการปล่อยลูกที่รวดเร็ว (Quick Release) การเปลี่ยนจังหวะการเล่นจากการเลี้ยงบอลมาเป็นการยิง โดยที่ลักษณะของลูกที่มีวิถีลอยสูงและโค้งมากกว่าปกติ
เราอาจจะกล่าวได้ว่า สิ่งที่เขาทำคือการตีความ ‘นิยามใหม่’ ของการชู้ต 3 คะแนนด้วยซ้ำ เพราะตามตำราเดิมของบาสเกตบอล การชู้ต 3 คะแนนจะเป็นเรื่องของการรับบอลแล้วยิง (Catch-and-Shoot) โดยจะมีผู้เล่นที่ทำเกมเข้าวงในเพื่อดึงตัวประกบ ก่อนจะจ่ายออกมาวงนอกให้จอมยิง 3 แต้มทั้งหลายจับบอล เซ็ตเท้า และขึ้นยิง ตามลำดับ
แต่สำหรับเคอร์รี เขาเป็น ‘ส่วนน้อยมาก’ ของวงการที่สามารถชู้ต 3 คะแนนได้จากการเลี้ยงบอลมาเอง (Off-Dribble Shot) โดยที่เปอร์เซ็นต์ในการชู้ตนั้นไม่ว่าจะมีตัวประกบหรือไม่มีตัวประกบ สเตฟก็ไม่เกี่ยง เรียกว่าเป็นการเขียนตำราการชู้ต 3 แต้มขึ้นมาใหม่ด้วยตัวเองเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี การชู้ตแม่นอย่างเดียวไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ การที่เขาเป็นคนที่สามารถหาพื้นที่ว่างได้ดี โดยการจะทำเช่นนั้นได้มาจากทักษะในการเลี้ยงบอลที่ยอดเยี่ยม ซึ่งหลายคนอาจจะไม่ทันสังเกต เพราะมัวแต่จดจ่อกับการปล่อยบอลจากมือของเขา ความจริงแล้วสเตฟเป็นคนที่เลี้ยงบอลได้ดีมากๆ และแน่นอนมันมาจากการฝึกฝนอย่างหนัก
อีกสิ่งที่ไม่ได้มาง่ายๆ คือ ‘ความอึด’ ที่จะทำให้เขาสามารถเคลื่อนที่ไปมาหาพื้นที่ในสนาม ทำให้การไล่จับเขาไม่ต่างอะไรจากการที่ Tom ไล่จับ Jerry เลยทีเดียว
ความอึดนั้นมาจากการฝึกหนักของเขา โดยเฉพาะการพยายามฝึกในช่วงที่ร่างกายเริ่มอ่อนล้า กำลังเริ่มตกลง แขนอ่อน หัวใจเต้นตุ้บตั้บ ชีพจรเต้นแรง ซึ่งสเตฟจะพยายามใช้ช่วงเวลาเหล่านี้ในการก้าวผ่านขีดจำกัดของตัวเองให้ได้ด้วยการควบคุมชีพจรและการเต้นของหัวใจให้เต้นช้าลง
เรียกว่าต่อให้เหนื่อยแค่ไหน แต่ถ้าหัวใจของเขานิ่ง สมาธิก็จะเกิด และจะไม่มีทางสูญเสียความแม่นยำ ซึ่งเป็นที่มาของสิ่งมหัศจรรย์ธรรมดาที่เราเห็นบ่อยๆ ในการชู้ตตัดสินเกมของเขา
เคอร์รียังไม่คิดที่จะหยุดพัฒนาตัวเอง เขาและทีมงานโค้ชพยายามค้นหาวิธีการฝึกแบบใหม่ๆ ที่จะทำให้ ‘นักชู้ตที่เก่งที่สุดโลกเก่งยิ่งขึ้นไปอีก’
หนึ่งในวิธีนั่นคือการพยายามสร้างห่วงซ้อนในห่วงบาสเกตบอลอีกที โดยห่วงที่เพิ่มมานั้นต้องแคบลงเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการชู้ต และใช้เทคโนโลยีในการติดตามดูการชู้ต (Shot-Tracking Technology) คอยตรวจสอบว่าการชู้ตนั้นดีพอหรือไม่ ทั้งช่วงระยะเวลาการปล่อยบอล ทิศทางของบอล ความแม่นยำ และอื่นๆ
การซ้อมพิเศษนี้เขาจะทำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง นอกเหนือจากการซ้อมปกติที่ทำอยู่แล้ว
เรียกได้ว่าถึงจะเก่งสุดๆ แล้ว แต่ก็ยังอยากเก่งขึ้นไปอีก และนั่นทำให้เราได้เห็นในปีนี้ว่าเคอร์รีกลับมาสุดยอดและดูเหมือนจะสุดยอดยิ่งกว่าเดิม
สตีฟ แนช ตำนานชู้ตเตอร์รุ่นเดอะของ NBA เคยยอมรับเอาไว้หลายปีก่อนว่า เขาคือชู้ตเตอร์ที่ดีที่สุดเท่าที่ประวัติศาสตร์ NBA เคยมี ขณะที่โค้ชของเขาในสมัยที่เรียนมหาวิทยาลัยกลับคิดตรงกันข้าม
สเตฟคือร่างฟิวชันของแนชและ เรจจี มิลเลอร์ อีกสุดยอดมือชู้ตในตำนานที่เป็นหนึ่งในยอดขวัญใจของแฟนบาสยุค 90
วันนี้ สเตฟ เคอร์รี คือหนึ่งในสุดยอดนักบาสเกตบอลระดับตำนานขึ้นหิ้งไปแล้ว แม้ว่าจะยังไม่มีใครเปรียบเทียบสถานะของเขากับ ไมเคิล จอร์แดน หรือ เลอบรอน เจมส์ แบบตรงไปตรงมา
แต่หากคิดถึงการที่เขาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่วงการบาสเกตบอล NBA ในระดับ ‘ปฏิวัติวงการ’ และการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กมากมายทั่วโลกที่ตอนนี้เอะอะก็ชู้ต 3 แต้มแบบสเตฟก่อน
ส่วนตัวผมคิดว่า สิ่งเหล่านี้ก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน หรืออาจจะยิ่งใหญ่กว่าด้วยซ้ำไป 🙂
อ้างอิง:
- https://www.wsj.com/articles/stephen-curry-warriors-shooting-11637027582
- https://edition.cnn.com/2021/12/14/sport/steph-curry-ray-allen-three-point-record-spt-intl/index.html
- https://theathletic.com/3002604/2021/12/09/the-art-and-the-science-how-stephen-curry-became-the-nbas-3-point-king/
- สตีเฟน เคอร์รี มีชื่อจริงว่า วอร์เดลล์ สตีเฟน เคอร์รี เหมือนคุณพ่อเดลล์เป๊ะ
- ชื่อสเตฟเป็นชื่อที่เพื่อนสมัยมหาวิทยาลัยเรียก แต่ถ้าใครเรียกเขาว่าวอร์เดลล์ ก็แปลว่าต้องเป็นคนที่สนิทและรู้จักกันมานานพอสมควรเลย
- ในช่วงล็อกดาวน์เมื่อปีที่แล้ว สิ่งที่สเตฟภูมิใจอย่างมากคือ การที่เขาประกอบห่วงบาสเกตบอลไว้ที่บ้านสำเร็จ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมงก็ตาม