วันนี้ (14 ธันวาคม) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบแผนหลักการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ระยะเวลา 11 ปี (พ.ศ. 2564-2574) จำนวน 84 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 82,563 ล้านบาท ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ ซึ่งเป็นการสนองพระบรมราโชบายในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาดูแลแหล่งน้ำลำคลอง โดยแผนฉบับนี้มุ่งแก้ปัญหาน้ำเสียในคลองแสนแสบที่เป็นปัญหาอย่างมาก น้ำเสียส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เกิดจากกิจกรรมชุมชนบริเวณริมคลอง รองลงมาเกิดจากโรงงานและสถานประกอบการ ในปี 2563 มีปริมาณน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดถูกปล่อยลงคลองแสนแสบและคลองสาขารวม 807,672 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีค่าเฉลี่ยความสกปรก (BOD) อยู่ระหว่าง 6.9-12.2 มิลลิกรัมต่อลิตร (แหล่งน้ำที่มีค่า BOD มากกว่า 8 มิลลิกรัมต่อลิตร ถือเป็นแหล่งน้ำที่มีมลพิษอย่างรุนแรง) ทั้งนี้ ปัญหาน้ำเสียในคลองแสนแสบไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงแม่น้ำบางปะกงในจังหวัดฉะเชิงเทราด้วย เนื่องจากคลองแสนแสบมีความยาวตลอดสายประมาณ 74 กิโลเมตร อยู่ในเขต กทม. 47.5 กิโลเมตร และจังหวัดฉะเชิงเทรา 26.5 กิโลเมตร
ขณะที่วิสัยทัศน์ของแผนพัฒนาฟื้นฟูคือ เพื่อให้คลองแสนแสบกลับมามีระบบนิเวศอยู่ในเกณฑ์ดี มีระยะเวลาดำเนินการ 11 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2564) ระยะกลาง (พ.ศ. 2565-2570) และระยะยาว (พ.ศ. 2571-2574) ซึ่งจะดำเนินการโดย 8 หน่วยงาน ได้แก่ กทม., กรมชลประทาน จังหวัดฉะเชิงเทรา, องค์การจัดการน้ำเสีย, กรมเจ้าท่า, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, กรมควบคุมมลพิษ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะขับเคลื่อนภายใต้ 5 เป้าประสงค์ คือ
- การเสริมสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำของประชาชน
- การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณคลองแสนแสบ
- การแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ
- การป้องกันปราบปราม การบุกรุกทำลายทรัพยากรในคลองแสนแสบ
- การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในคลองแสนแสบ
รวม 84 โครงการ เช่น โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย, โครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย, โครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย, โครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองแสนแสบ, โครงการเดินเรือคลองแสนแสบส่วนต่อขยายระยะทาง 10 กิโลเมตร, โครงการต่อเรือไฟฟ้า 12 ลำ และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางน้ำ เป็นต้น
แหล่งที่มาของงบประมาณแผนพัฒนาฟื้นฟูรวม 82,563 ล้านบาท มาจาก
- งบประมาณแผ่นดิน ร้อยละ 81.40
- งบ กทม. ร้อยละ 3.50
- เงินจากเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ร้อยละ 15.10
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากแผนพัฒนาฟื้นฟู เช่น
- แก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบอย่างครบวงจร สร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวม 39 แห่ง รองรับการบำบัดน้ำเสียในคลองแสนแสบได้ 1,364,525 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
- เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองแสนแสบ โดยในพื้นที่ กทม. สามารถเร่งการระบายน้ำผ่านอุโมงค์ระบายน้ำได้ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเขื่อนป้องกันตลิ่ง 33.32 กิโลเมตร ช่วยเพิ่มพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 96,875 ไร่ ส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา มีสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำ และปรับปรุงคลอง ช่วยให้คลองระบายน้ำได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยเพิ่มพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 15,625 ไร่
- พัฒนาระบบขนส่งและความปลอดภัยทางน้ำ มีท่าเทียบเรือเพิ่มขึ้นครอบคลุมคลองแสนแสบใน กทม. ทั้งสาย โดยใช้เรือไฟฟ้ารองรับการใช้บริการ 800-1,000 คนต่อวัน พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดในท่าเรือ