วันนี้ (9 ธันวาคม) ที่อาคารรัฐสภา ราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา รับยื่นหนังสือจาก สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้เชิญชวน ที่ได้นำรายชื่อผู้ประชาชนจำนวน 46 คน ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันลงนามขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะอยากให้รัฐธรรมนูญมีรูปแบบการเลือกนายกรัฐมนตรีจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่ใช่การเลือกจากที่ประชุมร่วม ส.ส. และ ส.ว. และมองว่าประชาชนเลือกผู้แทนมาแล้ว จึงอยากให้มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างแท้จริง ไม่สมควรที่จะเลือกร่วมกัน เพราะ ส.ว. ชุดปัจจุบันไม่ได้มาจากการสรรหา แต่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.
สำหรับการรวบรวมรายชื่อ จะให้ประชาชนที่สนใจเข้าลงชื่อผ่านระบบออนไลน์เท่านั้นเพื่อความสะดวก โดยจะเปิดระบบในลงชื่อในเดือนมกราคม-มีนาคม 2565 พร้อมตั้งเป้า 50,000 รายชื่อขึ้นไป ก่อนจะยื่นต่อสภา เพื่อลดภาระให้กับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการตรวจสอบเอกสารที่จะต้องตรวจสอบทีละรายชื่อ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานาน หากรวบรวมรายชื่อมากกว่านี้จะส่งผลให้การเสนอกฎหมายล่าช้าออกไปอีก และคาดว่าจะสามารถบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมในสมัยประชุมหน้า หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองก่อน
ส่วนโอกาสจะสำเร็จหรือไม่นั้น สมชัยมองว่า ที่ผ่านมามีการเสนอถึง 3 ครั้ง แต่ถูกตีตกไป เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นการเสนอรวมกันในหลายประเด็น ทำให้การสนับสนุนมีน้อย แต่หากแยกประเด็นเดียวเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนมากกว่า
ด้าน แทนคุณ จิตต์อิสระ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในกลุ่มผู้ริเริ่ม มองว่า หากแก้ไขเรื่องนี้ได้จะปลดล็อกเงื่อนไขต่างๆ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์และหลายพรรคจะเห็นด้วย และอยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันปลดล็อกความขัดแย้ง และทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หากไม่ปลดล็อกเรื่องนี้ เชื่อว่าในอนาคตจะเกิดความรุนแรงมากขึ้น
ขณะที่ แสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม โฆษกพรรคกล้า หนึ่งในกลุ่มผู้ริเริ่ม ฝากถึง ส.ว. ว่า ขณะนี้หลายคนมองว่า ส.ว. เป็นอุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หาก ส.ว. ร่วมสนับสนุน จะเป็นโอกาสให้ได้พิสูจน์ตัวเองในการทำงาน และทุกคนจะมองว่า ส.ว. มีศักยภาพและควรมีต่อไป ซึ่งเชื่อว่า ส.ว. จะให้การสนับสนุน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง
สำหรับกลุ่มเชิญชวนได้ยื่นรายชื่อผู้ริเริ่มจํานวน 46 คน ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการและบุคคลที่เป็นที่รู้จักในสังคม เช่น รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง, รศ.พรชัย เทพปัญญา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแหง, ดร.บุญส่ง ชเลธร อดีตผู้นํานักศึกษาสมัย 14 ตุลา 2516, ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ, ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์, ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ, กาญจนี วัลยะเสวี, ณัฏฐา มหัทธนา, นพ.ดร.มโน เมตตานันโท เลาหวณิช, ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง, ผศ.ณัฐพงศ์ บุญเหลือ, แสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม, สมบูรณ์ สุพรรณฝ่าย, ชัชชัย คุ้มทวีพร และรวิโชติ ธํารงนาวาสวัสดิ์ เป็นต้น