×

ส่องพื้นฐาน Bitkub Coin หรือ KUB เหรียญคริปโตที่ร้อนแรงที่สุดในห้วงเวลานี้ นำไปใช้งานอะไรได้บ้าง

01.12.2021
  • LOADING...
Bitkub Coin

การพุ่งทะยานของเหรียญ KUB หรือ Bitkub Coin ที่ขึ้นไปทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 500 บาทในช่วงหัวค่ำของวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า เหรียญ KUB คืออะไร มีคุณสมบัติอย่างไร นำไปใช้งานอะไรได้บ้าง ทำไมราคาจึงพุ่งร้อนแรงขนาดนั้น ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH จึงขอพาไปทำความรู้จักเหรียญ KUB ให้มากขึ้น

 

เหรียญ KUB ออกโดยแพลตฟอร์มเทรดคริปโตชาวไทยคือ Bitkub ซึ่งเป็นเหรียญประจำเครือข่ายบล็อกเชนของตนเองที่เรียกว่า Kub Chain โดยเปิดตัวเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2021 ซึ่ง Bitkub หวังให้เกิดการนำคริปโตไปใช้งานในภาคธุรกิจ จึงได้จับมือกับพาร์ตเนอร์ที่เป็น Validator Node (ผู้ตรวจสอบธุรกรรม) ถึง 11 รายที่เป็นบริษัทชั้นนำของประเทศไทย 

 

โดยในระยะแรกเครือข่ายบล็อกเชนของ Bitkub ใช้กลไกการตรวจสอบธุรกรรมแบบ PoA (Proof of Authority) กล่าวคือจะใช้วิธีอ้างอิง ‘ชื่อเสียง’ ของผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Validator Node) เป็นหลัก ทำให้ Node ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมบนบล็อกเชนประเภทนี้ต้องเปิดเผยตัวตนว่าเป็นใครหรือองค์กรอะไร

 

องค์กรทั้ง 11 รายที่เข้ามาร่วมเป็น PoA ให้กับเครือข่ายบล็อกเชนของ Bitkub ได้แก่ 

 

  • บริษัท ทีพีซีเอส จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) 
  • บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) 
  • บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) 
  • บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) 
  • บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด 
  • บริษัท เก็ทลิงส์ (ไทยแลนด์) จำกัด
  • บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด 
  • SIX Network PTE. Ltd. 
  • SmartContract Blockchain Studio    

 

การตรวจสอบธุรกรรมด้วย PoA มีข้อดีในแง่ที่ใช้จำนวน Node ในการยืนยันที่น้อยกว่า ในขณะที่สามารถดำเนินธุรกรรมได้เร็วกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเสียก็มีเช่นกันคือ มีความเป็น Centralized (รวมศูนย์) เพราะทั้งหมดขึ้นกับส่วนกลางค่อนข้างมาก ทำให้การทุจริตอาจเกิดขึ้นได้ง่ายกว่ากรณีของ Decentralized แบบอื่นๆ ทำให้การใช้ธุรกรรมแบบนี้ต้องดูชื่อเสียงของผู้ตรวจสอบธุรกรรมพอสมควร  

 

ในระยะถัดไปเครือข่าย Bitkub จะเปลี่ยนจากการใช้ PoA ไปเป็น PoSA (Proof of Staked Authority) ก่อนจะเปลี่ยนไปสู่การเป็น PoS (Proof of Stake) ในท้ายที่สุด ซึ่งจะเป็นการวางสินทรัพย์ค้ำประกัน หรือที่เรียกว่าการ Stake ที่จะนำเหรียญไปวางไว้ในระบบเพื่อแลกกับสิทธิ์ในการตรวจสอบและยืนยันธุรกรรม ซึ่งจะทำให้มีความเป็น Decentralized มากขึ้นกว่าเฟสแรก

 

โดยเหรียญ KUB ถือเป็น Utility Coin ไว้ใช้สำหรับการจ่ายค่าธรรมเนียม หรือที่ในวงการคริปโตเรียกกันว่า ‘ค่า Gas’ สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนเครือข่าย Kub Chain เพื่อรองรับโปรเจกต์ DEX (Decentralized Exchange), Defi (Decentralized Finance) และ Dapps อีกมากมายที่จะมาสร้างบนเครือข่ายดังกล่าว และยังสามารถใช้เหรียญ KUB ในการลดค่าธรรมเนียม (Fee Credit) บนกระดานเทรดของเว็บไซต์ Bitkub ได้อีกด้วยเช่นกัน

 

ในช่วงแรกของการเปิดตัว เหรียญ KUB ถูกปล่อยมาผ่านขั้นตอนที่เรียกว่า Airdrop หรือการแจกเหรียญให้กับลูกค้าเก่าบนแพลตฟอร์มที่ 10 ล้านเหรียญ จากปริมาณเหรียญที่สร้างขึ้นมาทั้งหมด 1,000 ล้านเหรียญ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวที่เปิดการซื้อขาย ราคาเหรียญ KUB ได้ขึ้นไปแตะจุดสูงสุดของวันที่ราว 34 บาท ก่อนจะเกิดแรงเทขายอย่างหนัก จนร่วงลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดที่ 12 บาท  

 

แต่ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ Bitkub ได้ประกาศจะลดปริมาณเหรียญในตลาด หรือที่วงการเรียกกันว่าการ ‘เผาเหรียญ’ จาก 1,000 ล้านเหรียญ ลดลงไปเหลือเพียง 110 ล้านเหรียญ เพื่อลดปริมาณซัพพลายในระบบ จะเห็นได้ว่าเป็นการหายไปของ ซัพพลายในตลาดกว่า 89% และนี่เองที่เป็นเหตุผลทำให้มูลค่าต่อเหรียญเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ

 

ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา Bitkub Online ยังถูกซื้อหุ้นไปโดยธนาคารอันดับต้นๆ ของประเทศอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ราคา 17,850 ล้านบาท ด้วยสัดส่วน 51% ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าของธนาคารไทยพาณิชย์ได้อย่างก้าวกระโดด 

 

นอกจากนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา Bitkub Blockchain Technology ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Bitkub Holding Group ได้ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์มซื้อขาย NFTs (Marketplace) ซึ่งมีเหรียญ KUB เป็นเหรียญไว้สำหรับใช้จ่ายภายใน Marketplace ดังกล่าว นับว่าเป็นการเพิ่มอรรถประโยชน์ของเหรียญไปอีกหนึ่งช่องทางเช่นเดียวกัน

 

ล่าสุด Bitkub ยังได้จับมือกับเดอะมอลล์ กรุ๊ป ร่วมตั้งบริษัท บิทคับ เอ็ม จำกัด ถือหุ้นสัดส่วน 50:50 เพื่อร่วมทุนและบริหาร ‘Bitkub M Social’ ซึ่งเป็นดิจิทัลคอมมูนิตี้แห่งแรกของประเทศไทยที่ใช้แลกเปลี่ยนความรู้ ใช้จัดประชุมและสัมมนาในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพและเป็นแหล่งพบปะของนักลงทุนที่สนใจในสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงยังเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง NFT Gallery & Gaming และพัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อนำเข้าสู่โลก Metaverse ในอนาคต

 

การร่วมมือครั้งนี้ นอกจากจะสร้างดิจิทัลคอมมูนิตี้แล้ว ยังสามารถนำเหรียญคริปโตอย่างเหรียญ KUB ซึ่งรวมถึงเหรียญอื่นๆ อีก 6 สกุล คือ Bitcoin, Ethereum, Tether, Stellar, XRP และ JFIN มาซื้อสินค้าและบริการในห้างสรรพสินค้าในเครือเดอะมอลล์ได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม 

 

จากปัจจัยการเพิ่มมูลค่าต่อเหรียญผ่าน Tokenomics (เศรษฐศาสตร์เชิงโทเคน) ดังกล่าว ทำให้ตัวเหรียญ KUB กลายเป็นที่สนใจของนักลงทุนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จนราคาพุ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (All Time High) ที่ระดับ 500 บาท 

 

อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างมีความเสี่ยง เพราะหลังจากที่ราคาเหรียญ KUB ขึ้นไปทำ All Time High ได้ไม่นาน ก็มีแรงเทขายออกมาอย่างหนักในช่วงเช้าของวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ส่งผลให้ราคาเหรียญหล่นลงราวกับตกหน้าผามาอยู่ที่ระดับต่ำสุดของวันที่ 150 บาท ลดลงจากจุดสูงสุดถึง 70% ก่อนจะรีบาวด์กลับขึ้นมาเคลื่อนไหวในระดับ 250-300 บาท 

 

ดังนั้นผู้ที่สนใจเข้าลงทุนจึงต้องไม่ลืมว่าทั้งหมดนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ในวงการเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุนของประเทศไทย นักลงทุนที่สนใจเข้าลงทุนในคริปโตเหรียญต่างๆ จึงควรศึกษาพื้นฐานของเหรียญให้ดี และต้องรับความเสี่ยงได้สูง 

 

หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำการลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการลงทุน

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X