แรกเริ่มก่อน ‘แอมเนสตี้’ ตกเป็นเป้าถูกล่ารายชื่อขับไล่ให้ออกจากประเทศไทย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายหลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยว่าการเคลื่อนไหวของ 3 แกนนำกลุ่มราษฎรเป็นการล้มล้างการปกครอง พร้อมมีคำสั่งให้ทั้ง 3 คนรวมถึงกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการในอนาคต
เมื่อคำวินิจฉัยจบลง หลายภาคส่วนในสังคมได้แสดงความเห็นทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง โดยองค์กรหนึ่งที่ออกแถลงการณ์ต่อคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการและชัดเจนคือ ‘แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล’
ต่อมาไม่กี่วันหลังจากนั้น เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หนึ่งในอดีตแกนนำคนเสื้อแดงผู้เคยถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และแอมเนสตี้ได้ออกแถลงการณ์ให้ยุติการละเมิดสิทธิในยุคนั้น แต่ในยุคนี้เขาอยู่ในฝ่ายรัฐบาลขั้วที่ตัวเองเคยต่อต้าน และกลายเป็นแกนนำในการขับไล่แอมเนสตี้เสียเอง โดยมีแฟนเพจที่สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์เป็นแนวร่วมเคลื่อนไหว
📍 10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยว่า 3 แกนนำผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร ประกอบด้วย อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ทั้ง 3 คนรวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
📍 12 พฤศจิกายน 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดย เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า แม้คำวินิจฉัยนี้จะไม่มีบทลงโทษหรือค่าปรับ แต่มีผลกระทบเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เป็นสัญญาณอันตรายสำหรับประชาชนชาวไทยหลายหมื่นคนที่แสดงความเห็นหรือวิจารณ์อย่างชอบธรรมต่อบุคคลสาธารณะหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งโดยการแสดงความเห็นทางตรงหรือแสดงความเห็นทางออนไลน์ ซึ่งอาจนำไปสู่การดำเนินคดีข้อหาร้ายแรงต่อแกนนำทั้ง 3 คนและบุคคลอื่นๆ อีกมาก โดยฐานความผิดล้มล้างการปกครองนี้มีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษประหารชีวิต
📍 13 พฤศจิกายน 2564 ‘แรมโบ้อีสาน’ ไม่พอใจแอมเนสตี้ – เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ระบุว่า แอมเนสตี้อุปโลกน์ตัวเองว่าเป็นองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน แต่การกระทำนั้นเข้าข่ายสนับสนุนให้กลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งละเมิดอำนาจศาล ละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สำคัญ องค์กรแห่งนี้เป็นองค์กรต่างชาติ ไม่ควรยุ่งเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองของไทยอย่างยิ่ง
เสกสกลมองว่า แอมเนสตี้เคลื่อนไหวเป็นอันตรายต่อประเทศชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นควรพิจารณาขับไล่พ้นผืนแผ่นดินไทย เพราะอยู่ไปก็สร้างความเดือดร้อนความแตกแยกให้ประเทศไทยไม่รู้จักจบสิ้น คนไทยควรจะช่วยกันขับไล่แอมเนสตี้พ้นประเทศไทย เช่นเดียวกับกัมพูชา อินเดีย ฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่ฮ่องกงก็ไม่ยอมให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เคลื่อนไหวในประเทศอีกต่อไป
📍 19 พฤศจิกายน 2564 แอมเนสตี้ เปิดตัว ‘Write for Rights’ – เขียน เปลี่ยน โลก แคมเปญรณรงค์สิทธิมนุษยชนประจำปีที่แอมเนสตี้ระบุว่าใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้คนนับล้านทั่วโลกมารวมตัวกันปกป้องสิทธิของผู้อื่น กิจกรรมนี้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 20 และในปีนี้เคสของ ‘รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล’ ได้ส่งถึงผู้สนับสนุนของแอมเนสตี้ทั่วโลกให้ช่วยกันส่งข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยเพื่อให้ยุติการดำเนินคดีและข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อรุ้ง
📍 19 พฤศจิกายน 2564 เสกสกลให้สัมภาษณ์รายการ Thai Move Talk โดยสถาบันทิศทางไทย-Thai Move Institute เสกสกลระบุว่า เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ได้ประชุมกับแฟนเพจต่างๆ ที่เห็นไปในทางเดียวกันเรื่องการปกป้องสถาบันฯ ว่า จะเปิดล่ารายชื่อเพื่อขับไล่แอมเนสตี้ โดยมีกลุ่มที่ไปตั้งโต๊ะหน้าห้างสรรพสินค้าแล้ว และจะรณรงค์อย่างจริงจัง รวมถึงเปิดให้ลงชื่อทางอินเทอร์เน็ตด้วย เพื่อยืนยันว่าจำนวนคนนับล้านคนคิดเช่นนี้ แต่มีคนไม่กี่คนที่จะมาทำลายประเทศซึ่งทำไม่ได้ จึงจะเปิดให้ลงทะเบียนนับหลายๆ ล้าน
📍 20 พฤศจิกายน 2564 เสกสกลตอบ เทพมนตรี ลิมปพยอม ที่โพสต์ถามว่า ทำไมไม่ทำรายงานเสนอให้ขับองค์กรนี้ออกจากประเทศ ง่ายกว่าล่ารายชื่อ 1 ล้านเสียง โดยเสกสกลตอบว่า คิดไว้ทั้งสองแนวทาง ทางที่หนึ่งในข้อกฎหมายขอดูรายละเอียดให้ชัดเจนจะได้ไม่ผิดพลาด ทางที่สอง ต้องเอากระแสสังคมประชาชนมาช่วยกดดัน จะได้ไม่ถูกพวกฝ่ายค้านพวกเดียวกับองค์กรนี้รุมถล่มว่าใช้อำนาจรัฐรังแกหรือว่าบ้าอำนาจ เพื่อป้องกันไม่ให้นายกรัฐมนตรีโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง
📍 24 พฤศจิกายน 2564 เพจเชียร์ลุง โพสต์ลิงก์ให้สามารถกดร่วมลงชื่อขับไล่แอมเนสตี้ โดยมีภาพเสกสกลพร้อมข้อความชวนคนไทยไล่แอมเนสตี้
📍 25 พฤศจิกายน 2564 เสกสกลประกาศ หากไล่แอมเนสตี้ออกไปจากประเทศไทยไม่ได้ก็พร้อมที่จะลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เพื่อไปเคลื่อนไหวร่วมกับพี่น้องประชาชนผู้รักสถาบันฯ ขับไล่องค์กรนี้ออกไปพ้นแผ่นดินไทยให้จงได้
📍 26 พฤศจิกายน 2564 เพจเชียร์ลุง โพสต์เชิญชวนประชาชนร่วมเดินรณรงค์ล่า 1 ล้านรายชื่อขับไล่แอมเนสตี้ในวันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2564
📍 27 พฤศจิกายน 2564 แฟนเพจ Amnesty International Thailand โพสต์ข้อความ ชวนย้อนอ่านแถลงการณ์แอมเนสตี้และปฏิบัติการด่วนย้อนหลัง 10 ปี เพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
ในโพสต์ดังกล่าวมีข้อความบรรยายโพสต์ตอนหนึ่งระบุว่า ไม่ว่าคุณจะมีความคิด ความเชื่อ หรืออุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด ‘หากคุณถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเราจะออกมาปกป้องสิทธิเสรีภาพของคุณ’
สำหรับแถลงการณ์ในรอบ 10 ปีที่ Amnesty International Thailand โพสต์ถึงเหตุการณ์แรกคือ แถลงการณ์แอมเนสตี้กรณีทหารไทยพยายามสลายผู้ประท้วงกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในเดือนเมษายน 2553 ซึ่งสมัยนั้น เสกสกล ยังใช้ชื่อ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ และขณะนั้นเขายังเป็นหนึ่งในแกนนำ นปช. ด้วยนั่นเอง
📍 28 พฤศจิกายน 2564 ยกเลิกรวมตัวแต่ยืนยันจัดกิจกรรม – แอดมินเจนแห่งเพจเชียร์ลุง กล่าวผ่าน Facebook Live ช่วงเย็นวันที่ 28 พฤศจิกายน ยืนยันจัดกิจกรรม โดยทีมแอดมินจะเดินรณรงค์ ‘เชิดสิงโตโห่ไล่แอมเนสตี้’ วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ย่านสีลม เพื่อล่า 1 ล้านรายชื่อขับไล่แอมเนสตี้ แต่ขอให้มวลชนร่วมลงชื่อผ่านอินเทอร์เน็ต และขอยกเลิกการรวมตัวของมวลชน โดยระบุว่าไม่ต้องการฝ่าฝืนกฎหมายการชุมนุม ซึ่งทางกลุ่มเคยไปแจ้งความดำเนินคดีข้อหานี้กับผู้ชุมนุมกลุ่มที่ใช้สัญลักษณ์ชูสามนิ้วมาก่อน จึงไม่ต้องการฝ่าฝืนกฎหมายเอง หากใครเห็นว่าแอมเนสตี้ไม่มีประโยชน์และเป็นโทษกับประเทศชาติก็ร่วมลงชื่อได้
📍 29 พฤศจิกายน 2564 กิจกรรม ‘เชิดสิงโตโห่ไล่แอมเนสตี้’ มาตามนัด แต่มีภาพปรากฏผ่านสื่อมวลชน พบประชาชนชูสามนิ้วให้กลุ่มที่รณรงค์ล่ารายชื่อขับไล่แอมเนสตี้ด้วย