‘คนไข้อนาถา’ บางคนอาจคุ้นๆ บางคนอาจไม่เคยได้ยินคำนี้ แต่นี่คือระบบช่วยเหลือคนยากจนในเรื่องการรักษาพยาบาลในอดีต
นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เขียนเล่าพัฒนาการของระบบพัฒนาการรักษาพยาบาลไว้ในหนังสือ งานกับอุดมคติของชีวิต ว่า คนจนเมื่อต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ก่อนออกจากโรงพยาบาลต้องไปพบนักสังคมสงเคราะห์ หรือขอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยกเว้นค่ารักษาพยาบาลเป็นครั้งๆ ไป เวลาลงบัญชี เจ้าหน้าที่จะเขียนตัวย่อว่า อน. ก็เป็นอันเข้าใจกัน
ต่อมามีระบบการออกบัตรสงเคราะห์ให้กับผู้มีรายได้น้อย แต่การบริการให้คนยากคนจนแย่มาก เป็นข่าวร้องเรียนในหนังสือพิมพ์บ่อยๆ ยาที่รักษาก็เป็นยาพื้นๆ การบริการก็เหมือนไม่เต็มใจ
ระบบบัตรสงเคราะห์ถูกใช้ควบคู่ไปกับระบบที่ให้ประชาชนที่ไม่ได้รับสิทธิ์ผู้มีรายได้น้อยสามารถซื้อบัตรประกันสุขภาพในราคา 500 บาท เพื่อรับการรักษาเป็นรายปี ระบบนี้รัฐจะจัดสรรเงินสมทบให้อีกหัวละ 500 บาท
ถือเป็นก้าวแรกของระบบเหมาจ่ายรายหัว แต่ปัญหาคือ เงินงบประมาณสำหรับคนจนถูกจัดสรรมาก้อนเดียวให้กับโรงพยาบาล เงินก้อนนี้จึงถูกนำไปใช้กับทุกๆ เรื่อง ขึ้นอยู่กับผู้บริหารโรงพยาบาล ซึ่งบางทีก็ไม่ได้เอาไปใช้รักษาคนจน
ถ้าเราไม่มีผู้ชายชื่อ สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ไม่แน่ว่าเราอาจจะยังใช้ระบบสงเคราะห์คนจนตามมีตามเกิดแบบนี้อยู่ก็เป็นได้
18 มกราคม 2561 ที่จะถึงนี้ คุณหมอสงวนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด ขณะอายุได้เพียง 56 ปี แต่มูลนิธิมิตรภาพบำบัด (กองทุนนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) ถือโอกาสจัดงาน 10 ปีการจากไปของหมอสงวน ในวันนี้ (19 ธ.ค.) เป็นการจัดงานก่อนวันครบรอบจริง 1 เดือน เพื่อให้สังคมมีเวลาได้รับรู้และขบคิดถึงมรดกที่หมอสงวนทิ้งไว้ก่อนถึงวันครบรอบการจากไปของท่าน
นพ.บรรลุ ศิริพานิช อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเคยทำงานใกล้ชิดกับหมอสงวน เล่าเรื่องราวของหมอสงวนให้ฟังภายในงานว่า
หมอสงวน เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่เยาวราช เป็นลูกคนสุดท้องของพี่น้อง 6 คน
หมอสงวน เป็นคนหัวดี สอบเข้าเรียนในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก่อนจะสอบเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อย่างไม่ยากเย็น
เมื่อเรียนจบแล้ว หมอสงวนขอเข้าทำงานที่โรงพยาบาลวชิระเพื่อหาประสบการณ์ 1 ปี ก่อนออกไปทำงานในโรงพยาบาลชุมชน
หมอสงวนเริ่มงานแพทย์เต็มตัวที่โรงพยาบาลราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เป็นโรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ ขนาด 30 เตียง และได้ชื่อว่าเป็นโรงพยาบาลที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ทำงานอยู่ 5 ปี จากนั้นได้ทุนไปเรียนต่อที่เบลเยียมและอังกฤษ
พอกลับมาเมืองไทยก็กลับไปเป็นแพทย์ชนบทเหมือนเดิม แต่คราวนี้ไปเป็น ผอ. โรงพยาบาลบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
นพ.บรรลุ เชื่อว่า จากการได้ทำงานในชนบทและไปเรียนต่างประเทศ ส่งอิทธิพลต่อหมอสงวน โดยเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง
จุดเริ่มต้นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค
ด้วยจังหวะชีวิต หมอสงวนย้ายเข้ามาทำงานในกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2529 และเคยทำงานที่กองแผนงาน ทำให้เขาเริ่มรู้เรื่องระบบการเงินการคลัง
ปี 2543-2546 เรียกว่าเป็นต้นกำเนิดบัตรทองก็ว่าได้ หมอสงวนได้รับทุนจาก EU ให้ทำงาน Health Care Reform ที่อยุธยา และเริ่มทดลองโครงการ 70 บาทรักษาทุกโรคที่นั่น
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูประบบสาธารณสุขได้ต้องออกเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และคนที่จะทำได้คือพรรคการเมือง
หมอสงวนจึงเอาเรื่องนี้ไปขายความคิดให้กับนักการเมือง เริ่มขายให้พรรคประชาธิปัตย์ที่แรก แต่สุดท้ายพรรคที่ซื้อความคิดนี้คือพรรคไทยรักไทย โดย ทักษิณ ชินวัตร และมี หมอเลี๊ยบ-สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นแกนนำพรรค
นี่คือที่มาของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค
หมอสงวน ถ่ายทอดบันทึกเรื่องราวชีวิตเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “เรื่องหนึ่งที่ต้องต่อสู้มาก คือ ความหวาดระแวงว่าโครงการ 30 บาทจะไม่ใช่หลักประกันสุขภาพที่แท้จริง แต่เป็นเพียงนโยบายประชานิยมเพื่อการหาเสียงของพรรคไทยรักไทย แต่ว่า ใครจะด่าว่าอย่างไรก็ตามนะครับ พวกเราก็มั่นใจในตัวเราเองว่ายังไงก็จะต้องทำเรื่องนี้ให้ลงหลักปักฐานมั่นคงในสังคมไทยให้ได้ และตอนนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีแล้ว กว่าจะมาขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้นใครจะรัก ใครจะชัง ใครจะด่าว่าเรารับใช้นักการเมือง เราก็รู้ตัวเองดีว่าเราไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่เคยมีใครรู้หรอกว่าเขาเสนอให้ตำแหน่งทางการเมืองกับผม แต่ผมไม่เคยรับเลย”
อันที่จริงอย่าว่าแต่ตำแหน่งทางการเมืองเลย แม้แต่ตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หมอสงวน ก็ยังไม่อยากรับตำแหน่ง เพราะอายคนที่จะหาว่าทำเรื่องนี้เพราะหวังเป็นเลขาธิการ
แต่คนที่เข้ามาบอกว่าคุณต้องเข้ามาเป็นเลขาธิการ สปสช. ก็คือ อาจารย์อัมมาร สยามวาลา ที่มาบอกหมอสงวนว่า สปสช. ต้องมีการจัดการที่ดี ต้องมีวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ไม่อย่างนั้นสิ่งที่คิดมาจะล้มเหลว
ระบบราชการ ระบบที่ทำลายคน
หมอสงวนอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการ สปสช. 4 ปี และแล้วมรสุมชีวิตก็เข้ามาหา เมื่อพบว่าหมอสงวนเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ไม่มีทางรักษา
หมอสงวนต้องต่อสู้กับมะเร็ง 4 ปี เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ เปลี่ยนมะเร็งให้เป็นพลัง
ช่วงที่หมอสงวนป่วย ท่านได้คิดทบทวนว่าชีวิตที่ผ่านมาเคยเครียดกับเรื่องอะไรหนักหนาที่สุด เพราะความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็ง
เมื่อตรวจสอบย้อนคิดไป หมอสงวนพบว่าความพยายามทำงานหนักและต่อสู้ผลักดันโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าท่ามกลางระบบราชการนี่เองที่ได้ทิ้งบาดแผลไว้ให้กับชีวิตไม่น้อย
หมอสงวนบอกว่า ระบบราชการมันทำลายคนได้ง่ายมาก แค่ใครสักคนเขียนบัตรสนเท่ห์ส่งไปที่ ป.ป.ช. เท่านั้น ทางกระทรวงก็จะดำเนินการสอบสวนทันที ฉะนั้นหากผู้บริหารต้องการกลั่นแกล้ง ก็สามารถใช้จดหมายจาก ป.ป.ช. เป็นเหตุให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้โดยง่าย แทนที่ ป.ป.ช. จะมีระบบตรวจสอบของตัวเองที่ดี แต่กลับกลายเป็นเครื่องมือให้เกิดการกลั่นแกล้งกันในหน่วยราชการได้ง่ายขึ้น
สังคมไทยจะได้เห็นอะไร ถ้าหมอสงวนยังอยู่?
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อดีตผู้สื่อข่าวซึ่งเคยสัมภาษณ์หมอสงวนในช่วงบั้นปลายชีวิตเปิดเผยว่า จากบทสัมภาษณ์หมอสงวนช่วงบั้นปลายชีวิต เป้าหมายของท่านคือการบูรณาการ 3 กองทุน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนข้าราชการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
ขณะที่ช่วงท้ายๆ ตอนที่ป่วย หมอสงวนสัมภาษณ์ในรายการวิทยุว่า ระบบประกันสุขภาพยังไงเงินมันก็ไม่พอ ในอนาคตเราต้องพูดถึงการหาภาษีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในส่วนนี้ โดยหมอสงวนมีการพูดถึงภาษีจากกำไรการขายหุ้น หรือภาษีการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราในตลาดเงิน
ขณะที่ หมอเลี๊ยบ-สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า ย้อนไปตอนที่เคยทำกิจกรรมนักศึกษาด้วยกันที่มหาวิทยาลัยมหิดล
“สิ่งหนึ่งที่พี่หงวนพูดเสมอตอนอยู่ด้วยกันที่มหาวิทยาลัยคือบทความ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือแนวคิดที่รัฐดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนถึงตาย
“ถ้าถามว่าวันนี้พี่หงวนยังอยู่ ผมว่าแนวคิดจากครรภ์มาดาถึงเชิงตะกอนนั่นแหละที่หมอหงวนฝันถึง”
“ในฐานะที่ผมเป็นมนุษย์ ผมก็ต้องการอ่านหนังสือพิมพ์และหนังสืออื่นๆ ที่ไม่แพงนัก จะฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ก็ได้ โดยไม่ต้องทนรบกวนจากการโฆษณามากนัก
“ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันโรคแก่ผมฟรี กับบริการการแพทย์ รักษาพยาบาลอย่างถูกอย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใดหาหมอพยาบาลได้สะดวก”
นี่คือแนวคิดบางส่วนที่หนังสือเล่มนั้นกล่าวถึงและส่งต่อมาถึงหมอสงวนที่ทิ้งมรดกเป็นนโยบายด้านสุขภาพให้กับคนไทยไว้อีกเนิ่นนาน