หลังปล่อยให้แฟนบอลต้องอดทนมาเป็นเวลาหลายวันกับกระแสข่าวที่เปลี่ยนแปลงไปมาแทบตลอดเวลา ในที่สุดทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ดูเหมือนจะได้คนที่จะมาทำหน้าที่แทน โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ ในบทนายใหญ่ของทีมเสียที และเชื่อว่าสาวกเรดอาร์มีหลายคนน่าจะยินดีที่ได้ยินว่าชื่อนั้นคือ ราล์ฟ รังนิก
รังนิกซึ่งปัจจุบันรับงานผู้อำนวยการสโมสรให้แก่ทีมโลโคโมทีฟ มอสโก เป็น 1 ใน 5 รายชื่อของคนที่ถูกคาดหมายว่ามีโอกาสจะได้รับข้อเสนอในการคุมทีมในบท ‘ผู้จัดการทีมชั่วคราว’ ที่จะทำงานจนถึงสิ้นสุดฤดูกาลนี้ โดยคนอื่นๆ ได้แก่ เอร์เนสโต บัลเบร์เด, รูดี การ์เซีย, ลูเซียง ฟาฟร์ และเปาโล ฟอนเซกา
สุดท้ายมาจบที่ ราล์ฟ รังนิก ได้อย่างไร?
- เดิม แมนฯ ยูไนเต็ดเองก็มองตัวเลือกอย่าง เมาริซิโอ โปเชตติโน ที่จะรับงานคุมทีมแบบเต็มตัวเช่นกัน แต่เมื่อชัดเจนว่าทางด้านปารีส แซงต์ แชร์กแมง ไม่ต้องการเสียกุนซือชาวอาร์เจนไตน์ไปกลางทาง ทำให้ฝ่ายบริหารของแมนฯ ยูไนเต็ด ต้องกลับมาเน้นการหาคนทำทีมแทนชั่วคราวจนจบฤดูกาลเหมือนเดิม
- สุดท้ายข้อเสนอจาก จอห์น เมอร์โท ผู้อำนวยการสโมสรฝ่ายฟุตบอลที่เคยถูกปฏิเสธไปในครั้งแรกจากรังนิก เมื่อถูกรบเร้าให้พิจารณาอีกครั้ง กุนซือที่ถือเป็นหนึ่งในปรมาจารย์ลูกหนังของวงการฟุตบอลเยอรมันจึงตอบตกลงที่จะรับงานคุมทีมเป็นเวลา 6 เดือน
- เรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าวครั้งแรกทาง The Athletic สำนักข่าวกีฬาเมื่อวันพฤหัสบดี (25 พฤศจิกายน) ที่ผ่านมา และสร้างความฮือฮาอย่างยิ่งในโลกของเกมฟุตบอล
- โดยตามรายงานข่าวแล้วเงื่อนไขของรังนิกคือ เขาจะรับคุมทีมโดยที่จะต้องได้โอกาสนั่งเป็นที่ปรึกษาของสโมสรเพื่อสานงานต่อไปอีกเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่แมนฯ ยูไนเต็ดไม่ติดขัดและดูเหมือนจะยินดีเป็นอย่างยิ่ง
- เพราะในวงการแล้วต่างรู้กันดีว่ารังนิก คือ ‘The Professor’ เป็นครูใหญ่ของวงการฟุตบอลเยอรมันในยุคปัจจุบัน มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ในพรีเมียร์ลีกเองก็มีศิษย์เอกอย่าง โธมัส ทูเคิล (เชลซี) หรือ ราล์ฟ ฮาเซนฮุทเทิล (เซาแธมป์ตัน) ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชามา หรือในบุนเดสลีกาก็มี มาร์โค โรส (โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค), โอลิเวอร์ กลาสเนอร์ (โวล์ฟสบวร์ก), อาดี ฮุตเตอร์ (ไอน์ทรัค แฟรงก์เฟิร์ต)
- ราล์ฟ รังนิก ถือเป็นหนึ่งในคนที่บุกเบิกแนวทางการเล่นเพรสซิงฟุตบอลสมัยใหม่ เป็นต้นตำรับของสไตล์ที่เรียกว่า Gegenpressing วิธีการเล่นซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากสมัยที่เลิกเล่นฟุตบอลใหม่ๆ และมารับงานเป็นผู้เล่น-โค้ชให้แก่ทีมในบ้านเกิดที่ชื่อว่า วิกตอเรีย บัคนัง
- ครั้งหนึ่งทีมของรังนิกมีโอกาสได้เล่นอุ่นเครื่องกับดินาโม เคียฟ ทีมดังจากยูเครนที่มาเก็บตัวในเมืองแห่งนี้ และทำให้เขาได้พบกับศาสตร์ความรู้ใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนกับการเล่นเพรสซิงที่ดุดันที่ทำให้ต้องประหลาดใจเป็นอย่างมาก
- สิ่งที่รังนิกได้เห็นในวันนั้นเป็นฟุตบอลในแบบของ วาเลรี โลบานอฟสกี สุดยอดปรมาจารย์ลูกหนังจากหลังม่านเหล็ก ซึ่งในเวลาต่อมารังนิกได้นำมาศึกษาค้นคว้าร่วมกับ เฮลมุต โกรสส์ ซึ่งเป็นคนที่สอนวิชาลูกหนังให้รังนิกอีกที และเป็นที่ปรึกษาชั้นดีด้วย
- รังนิกนำการเพรสซิงในแบบของโลบานอฟสกี มาผสมผสานกับการเล่นบอลคุมโซน (Zonal Marking) ในแบบของ อาร์ริโก ซาคคี ที่นำเอซี มิลาน ครองความยิ่งใหญ่ในโลกฟุตบอลยุค 80 และ 90 เพียงแต่ตัดตัว ‘สวีปเปอร์’ หรือตัวกวาดคนสุดท้ายออกไป
- วิชาลูกหนังที่รังนิกคิดค้นได้ถูกนำมาใช้กับทีมเยาวชนของสโมสรสตุ๊ตการ์ตเป็นครั้งแรก ซึ่งยุคนั้นได้รับการเรียกขานว่าเป็น ‘Stuttgart School’ โดยหนึ่งในคนที่อยู่ในทีมเยาวชนเวลานั้นคือ โธมัส ทูเคิล ที่ต่อมาบาดเจ็บจนต้องเลิกเล่นก่อนวัยอันควรเหมือนกัน และได้รับการรบเร้าจากรังนิกให้มาทำงานในฐานะโค้ชแทน
- จากนั้นรังนิกได้ทำงานกับอีกหลายสโมสรทั้ง อุล์ม ซึ่งเขาพาเลื่อนจากดิวิชัน 3 มาสู่บุนเดสลีกาได้, สตุ๊ตการ์ต ชุดใหญ่, ฮันโนเวอร์ 96 และชาลเก้ 04 ด้วยสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ ที่แม้แต่ เจอร์เกน คล็อปป์ เองก็ประทับใจ และได้แรงบันดาลใจมาพัฒนาในแนวทาง Heavy Metal Football ของตัวเองต่อ แม้จะไม่ได้ชื่อว่าเป็นศิษย์สายตรงก็ตาม
- แต่ทีมที่ถือว่าสร้างชื่อให้แก่รังนิกมากที่สุดคือฮอฟเฟนไฮม์ ทีมจากหมู่บ้านเล็กๆ ที่ได้มหาเศรษฐี ดีตมาร์ ฮอปป์ มาคุมทีมและพร้อมสนับสนุนทุกอย่าง ทำให้ตลอดระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ 2006-2011 รังนิกได้ทำทุกอย่างที่อยากทำกับสโมสรแห่งนี้ ทั้งการพัฒนาผู้เล่นเยาวชน การปลูกฝังแท็กติก การเจรจาซื้อขายผู้เล่น
- ในทีมฮอฟเฟนไฮม์ รังนิกต้องการให้ทีมเล่นอย่างเข้มข้นรวดเร็วทำให้ต้องการนักเตะอายุน้อยเป็นหลัก สโมสรจึงไม่เลือกซื้อนักเตะที่อายุเกินกว่า 23 ปี ขณะที่โค้ชของสโมสรทุกชุดจะได้รับการถ่ายทอดวิชาและวิสัยทัศน์
- หลังจากฮอฟเฟนไฮม์ รังนิกได้กลับไปคุมชาลเก้สั้นๆ ก่อนจะผันตัวไปเป็นผู้อำนวยการสโมสรให้กับเครือเรดบูล ดูแลทั้งแอร์เบ ไลป์ซิก และเรดบูล ซัลซ์บวร์ก โดยที่กลับมาทำหน้าที่คุมทีมบ้างเป็นการชั่วคราวในยามที่สโมสรหาโค้ชใหม่ที่เหมาะสมไม่ได้
- นั่นหมายความว่าการคุมทีมเป็นการชั่วคราวไม่ใช่ของใหม่สำหรับรังนิก แต่สิ่งสำคัญคือการมีบทบาทในการปูรากฐานของสโมสรในระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่แมนฯ ยูไนเต็ดเองก็ต้องการพอดีเช่นกัน เพราะหลังจากสิ้นยุคของ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน แล้วก็ไม่มีผู้จัดการทีมคนใดสานต่อความสำเร็จได้ และสโมสรเองก็เดินหลงทางมาตลอด 8 ปี
- ขั้นตอนสำคัญหลังจากนี้คือการตกลงกับทางโลโคโมทีฟ มอสโกให้สำเร็จก่อน ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลในเร็วๆ นี้ และถ้าเป็นไปตามรายงานข่าวรังนิกจะยังไม่สามารถคุมทีมในเกมกับเชลซีสุดสัปดาห์นี้ได้ แต่จะเดินทางมาสโมสรในช่วงต้นสัปดาห์หน้าเพื่อเริ่มต้นโปรเจกต์ใหม่ทันที
อ้างอิง:
- https://theathletic.com/news/manchester-united-reach-agreement-with-ralf-rangnick-to-become-interim-manager/g7E5wItHFj3L/
- https://theathletic.co.uk/2355430/2021/01/31/thomas-tuchel-ralf-rangnick-coaching/?redirected=1
- https://www.theguardian.com/football/2021/nov/25/ralf-rangnick-will-bring-innovative-identity-to-manchester-united
- https://www.telegraph.co.uk/football/2021/11/25/manchester-united-advanced-talks-appoint-ralf-rangnick-interim/