- ปัจจุบันสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิดที่ยังทวีความรุนแรง แม้จะมีการเร่งฉีดวัคซีนป้องกัน ทำให้หลายประเทศตัดสินใจปรับเปลี่ยนแนวทางการรับมือ จากยุทธศาสตร์ควบคุม ‘โควิดเป็น 0’ หรือ ‘Zero Covid’ มาเป็นการใช้ชีวิตร่วมกับโควิดแทน
- สำหรับจีน ในฐานะชาติแรกที่เผชิญการระบาดของโควิด ที่ผ่านมามีการดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด และมุ่งมั่นที่จะควบคุมกรณีการติดเชื้อให้เป็น 0 ซึ่งความพยายามนี้ยังไม่มีทีท่าจะลดลง แม้ว่าช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จีนจะกลับมาเผชิญกับการระบาดที่เพิ่มขึ้น โดยสาเหตุหลักมาจากเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์อย่างสายพันธุ์เดลตา
- แต่ความพยายามของจีนในการควบคุมการระบาดอย่างจริงจัง ทั้งการปิดประเทศ ระดมตรวจเชื้อและระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งจนถึงตอนนี้มีประชาชนได้รับวัคซีนโควิดครบโดสแล้วมากกว่า 75% ยังไม่แน่ว่าจะทำให้จีนสามารถควบคุมการติดเชื้อให้เป็น 0 หรือไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้
- ขณะที่แผนฉีดวัคซีนทั่วประเทศของจีน ที่ส่วนใหญ่พึ่งพิงวัคซีนแบบเชื้อตายที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศ ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าวัคซีนแบบ mRNA ในการป้องกันการติดเชื้อ ทำให้เกิดคำถามว่า “การฉีดวัคซีนเพียงอย่างเดียวจะเพียงพอในการยับยั้งการแพร่ระบาดหรือไม่?” ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าอาจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้จีนต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์จาก ‘โควิดเป็น 0’ ไปสู่ ‘การใช้ชีวิตร่วมกับโควิด’
ยาต้านโควิดคือปัจจัยสำคัญ
- หนึ่งในปัจจัยที่อาจเป็นคำตอบของยุทธศาสตร์การใช้ชีวิตร่วมกับโควิดคือ ‘ยาต้านโควิด’ ที่ใช้รักษาผู้ติดเชื้อและลดอาการป่วยรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่าการรักษาโควิดด้วยยาที่พัฒนาขึ้นเองนั้น อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เพื่อทำให้โควิดกลายเป็นโรคระบาดเฉพาะถิ่น
- โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกันยายน จอร์จ เกา ฟู ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาดของจีน ได้ให้สัมภาษณ์สื่อในประเทศ ระบุว่า ยาเป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้นๆ ในการบรรเทาผลกระทบของโรค และเมื่อรวมกับการฉีดวัคซีน จะยิ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการรักษาผู้ติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้จีนเปลี่ยนไปสู่การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิดได้
- ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัวยาเม็ดต้านโควิดจากบริษัทในสหรัฐฯ แล้ว 2 ยี่ห้อ คือ โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ของบริษัท Merck & Co. และ แพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) จาก Pfizer
- ส่วนในจีนตอนนี้ก็กำลังมีการพัฒนายาเม็ดต้านโควิดโดยบริษัท Kintor Pharmaceutical จากเมืองซูโจว ที่มีชื่อว่า พรอกซาลูตาไมด์ (Proxalutamide) ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิกระยะท้ายในสหรัฐฯ และบราซิล
- จากผลการทดลองเบื้องต้นในบราซิลพบว่า ยาพรอกซาลูตาไมด์ สามารถช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโควิดไม่ให้เกิดอาการรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล และลดกรณีการเสียชีวิตในผู้ป่วยโควิดที่อาการหนัก
- แต่ผู้เชี่ยวชาญบางรายมองว่าผลทดลองที่ได้นั้น ‘ดีเกินกว่าจะเป็นจริง’ ขณะที่การทดลองในสหรัฐฯ เป็นการทดลองที่ใหญ่กว่าและเน้นความถูกต้องมากกว่า
จีนมีความต้องการยาต้านโควิดไม่แพ้ที่อื่น
- ด้าน ถงหยูจือ CEO ของ Kintor Pharmaceutical ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Bloomberg ระบุว่า จีนนั้นเป็นประเทศที่มีความต้องการยาต้านโควิดที่พัฒนาขึ้นใหม่มากที่สุด เนื่องจากการแพร่ระบาด ณ ปัจจุบันที่ยังค่อนข้างน้อย ในขณะที่ความต้องการยาต้านโควิดที่มีประสิทธิภาพเพื่อรักษาผู้ติดเชื้อนั้นสูงไม่แพ้ที่อื่นๆ
“จีนเป็นดินแดนที่บริสุทธิ์สำหรับไวรัส (โควิด) โดยมีเพียงไม่กี่คนที่ติดเชื้อ ความต้องการเร่งด่วนของยาต้านโควิดที่มีประสิทธิภาพในจีนนั้นไม่น้อยไปกว่าที่อื่นๆ หากเราต้องการฟื้นฟูชีวิตก่อนเกิดโรคระบาดกลับคืนมาอีกครั้ง” ถงกล่าว
- โดยบริษัท Kintor Pharmaceutical เริ่มต้นการศึกษาวิจัยสารประกอบในยาพรอกซาลูตาไมด์ตั้งแต่หลายปีก่อน ภายใต้จุดมุ่งหมายเพื่อรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งตัวยามีฤทธิ์ยับยั้งฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่า ‘แอนโดรเจน’ ซึ่งนักวิจัยบางคนเชื่อว่าอาจมีส่วนเชื่อมโยงกับความเสี่ยงในการก่อให้เกิดอาการป่วยรุนแรงในผู้ป่วยโควิด
- ขณะที่สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ทางการจีนอาจอนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉินสำหรับยาพรอกซาลูตาไมด์ได้อย่างเร็วภายในเดือนธันวาคมนี้
ภาพ: Photo credit should read Feature China/Barcroft Media via Getty Images
อ้างอิง: