×

ก้าวไกล ค้าน TRUE-DTAC ควบรวม จี้องค์กรกำกับดูแล ต้องกล้าหาญ ยุติการผูกขาดของทุนใหญ่ ปกป้องผู้บริโภค

โดย THE STANDARD TEAM
22.11.2021
  • LOADING...
ศิริกัญญา ตันสกุล

วันนี้ (22 พฤศจิกายน) ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบาย พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นคัดค้านกรณีการควบรวมระหว่างสองบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทย อย่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น และ โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น โดยตั้งคำถามว่า การควบรวมนี้เป็นการผูกขาดหรือครอบงำตลาดหรือไม่

 

“การควบรวมครั้งนี้จะทำให้บริษัทใหม่นั้นกลายเป็นผู้ให้บริการเบอร์หนึ่งทันที และมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% เมื่อวัดจากจำนวนเลขหมาย ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าการควบรวมนี้จะทำได้โดยไม่เป็นการผูกขาดหรือครอบงำตลาดได้อย่างไร และหากดีลนี้สำเร็จจะเกิดผลอย่างไรกับผู้บริโภคและคู่แข่ง”

 

ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้ซับซ้อนยิ่งขึ้นว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้กำกับดูแล เพราะแม้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แข่งขันทางการค้า จะถูกยกเว้น หากอุตสาหกรรมนั้นมีกฎหมายกำกับดูแลเฉพาะอยู่แล้ว เช่น กรณีนี้เป็นอุตสาหกรรมโทรคมนาคมย่อมจะอยู่ภายใต้กำกับของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งควรจะเป็นไปตามประกาศของ กสทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ในข้อ 8

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ถือใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นบริษัทลูก (ทรูมูฟ – ดีแทค ไตรเน็ต) แต่บริษัทที่จะควบรวมเป็นบริษัทแม่ (ทรู คอร์ปอเรชั่น – โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น) นี่อาจกลายเป็นช่องทางหนึ่งที่กรณีนี้จะหลุดจากมือ กสทช. ไปสู่การขออนุญาตต่อบอร์ดแข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะตามประกาศหลักเกณฑ์การควบรวมของ กสทช. นั้นเข้มงวดกว่าของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า แถมยังระบุหลักเกณฑ์ที่เป็นตัวเลขชัดเจนไว้อีกด้วย

 

ศิริกัญญาอธิบายว่า แม้แนวโน้มธุรกิจโทรคมนาคมทั่วโลกจะมีการควบรวมกิจการมากขึ้น แต่จากการสำรวจในเบื้องต้นพบว่าเกือบทุกประเทศทั่วโลกมีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ต่ำกว่า 3 เจ้า ที่เป็นเจ้าที่มีส่วนแบ่งการตลาดอย่างมีนัยสำคัญแทบทั้งสิ้น เช่น ในมาเลเซีย กลุ่มเทเลนอร์ได้ควบรวมกิจการกับบริษัทเอเชียตา (Axiata) และอยู่ในระหว่างการขออนุญาตจากองค์การกำกับดูแล หากดีลนี้สำเร็จก็ยังพบว่าจะเหลือผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้งหมด 3 เจ้า ยังไม่นับรวมเจ้าเล็กๆ ที่กินส่วนแบ่งตลาดรวม 16%

 

“แน่นอนว่ากลุ่มเทเลนอร์ที่มีนโยบายถอนการลงทุนจากภูมิภาคนี้อยู่แล้ว จึงเลือกที่จะเป็น ‘พาร์ตเนอร์’ กับกลุ่ม ซี.พี.โฮลดิ้ง แต่ความเป็นจริงคือยังมีตัวเลือกอีกมากมายที่ไม่ได้อยู่ในตลาดเดียวกัน ซึ่งสามารถเป็น ‘พาร์ตเนอร์’ ใหม่กับกลุ่มเทเลนอร์ องค์กรที่ยึดมั่นในบรรษัทภิบาลอย่างเทเลนอร์ไม่สมควรจะเลือกทางเลือกที่จะเป็นการทำลายการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมของไทยแบบนี้ ยังไม่ต้องพูดถึงการดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังการเซ็นข้อตกลง MOU ซึ่งอาจหมายถึงการเปิดเผยข้อมูลทางการค้า ฐานลูกค้า ราคาค่าบริการ และต้นทุน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ความสำคัญต่อการแข่งขันทั้งสิ้น”

 

ศิริกัญญายังแสดงความกังวลต่อผลกระทบหลังจากการควบรวมต่อผู้บริโภคเมื่อมีการแข่งขันลดลง โดยระบุว่าหากย้อนกลับไปในสมัยที่ยังมีผู้ประกอบการเพียง 2 เจ้า ค่าโทรนาทีละ 5 บาทสำหรับ Prepaid และมีค่าแรกเข้า 500 บาทต่อเดือน สำหรับ Postpaid ถ้าเราต้องกลับไปอยู่ในสภาพที่มีการแข่งขันอย่างจำกัด จะมีอะไรการันตีได้ว่าผู้บริโภคจะยังได้รับบริการในราคาที่สมเหตุสมผลและคุณภาพที่ดีกว่าปัจจุบัน

 

“เราคงต้องฝากความหวังไว้กับองค์กรกำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นบอร์ด กสทช. หรือบอร์ดคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ที่ต้องแสดงความกล้าหาญที่จะปกป้องผู้บริโภค ซึ่งความหวังก็ยิ่งดูริบหรี่หากเราย้อนไปดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของบอร์ดทั้งสองชุด

 

“ถ้าจะมีอะไรที่เป็นความหวังได้บ้าง ก็คือว่าที่บอร์ดชุดใหม่ของ กสทช. ที่จะมีสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและด้านเศรษฐศาสตร์เพิ่มขึ้นมาจากเดิม แต่สถานะของบอร์ดชุดใหม่ก็ยังลูกผีลูกคน เพราะวุฒิสภายังไม่บรรจุวาระการรับรองแม้ว่าจะมี 7 รายชื่อของว่าที่บอร์ดชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว และคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ตั้งขึ้นมาตรวจสอบคุณสมบัติจะหมดวาระการพิจารณาไปเรียบร้อยแล้วก็ตาม” ศิริกัญญากล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising