×

กกพ. เคาะขึ้น ‘เอฟที’ เริ่มมกราคม 2565 ดันค่าไฟแพงขึ้น 17 สตางค์ต่อหน่วย

19.11.2021
  • LOADING...
ค่าไฟฟ้า

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ. มีมติให้เรียกเก็บค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2565 ในอัตรา 1.39 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 16.71 สตางค์ต่อหน่วย จากงวดปัจจุบัน -15.32 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 ปี โดยกำหนดให้อัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนงวดดังกล่าวอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย จากงวดปัจจุบัน 3.61 บาทต่อหน่วย จนถึงสิ้นปี 2564 นี้เท่านั้น

 

การปรับขึ้นค่าเอฟทีในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2565 เป็นผลจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง การนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศในส่วนของพลังน้ำลดลงตามฤดูกาล และการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลิกไนต์ลดลงตามแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ส่งผลให้โรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนราคาถูกลดลง อีกทั้งราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากตามภาวะราคาน้ำมันขาขึ้นในตลาดโลก และปริมาณนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มากขึ้น เพื่อทดแทนปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลงช่วงปลายสัมปทาน

 

ทาง กกพ. ประเมินความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2565 ประมาณ 65,325 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากประมาณการงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564 ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าประมาณ 64,510 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 1.26% อีกทั้งสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ายังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 60.27% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด เป็นการซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว และ มาเลเซีย รวม 13.92% และค่าเชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน 7.68% ลิกไนต์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 7.55% และอื่นๆ อีก 6.92%

 

นอกจากนี้ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟทีเดือนมกราคม-เมษายน 2565 ทั้งราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและราคาถ่านหินนำเข้าปรับตัวสูงขึ้นมากจากประมาณการในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564 ขณะที่เชื้อเพลิงอื่นปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและคงที่ ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ (1-30 กันยายน 2564) อยู่ที่ 33.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากประมาณการในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ที่ประมาณการไว้ที่ 31.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปี 2565 คาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยจะอยู่ในระดับ 32.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

 

“แท้จริงแล้วค่าเอฟทีในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2565 (ที่ใช้ค่าจริงเดือนกันยายน 2564 ในการประมาณการ) เพิ่มสูงขึ้นเป็น 48.01 สตางค์”

 

ทั้งนี้ กกพ. ได้นำเงินบริหารจัดการค่าเอฟทีและเงินเรียกคืนฐานะการเงินจากการไฟฟ้าที่มีอยู่ทั้งหมดมาลดผลกระทบของการปรับค่าเอฟทีครั้งนี้กว่า 5,129 ล้านบาท และนำเงินผลประโยชน์ของบัญชีเงินที่จ่ายค่าก๊าซธรรมชาติล่วงหน้าตามปริมาณก๊าซตามสัญญาไปก่อน (Take or Pay) ของแหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา จำนวน 13,511 ล้านบาท รวมเป็นเงินอุดหนุนการปรับขึ้นค่าเอฟที 18,640 ล้านบาท ทำให้ค่าเอฟทีปรับเพิ่มขึ้น 22.50 สตางค์ เป็น 7.18 สตางค์

 

คมกฤชกล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับขึ้นค่าเอฟทีครั้งนี้ เป็นการทยอยปรับเพิ่มแบบขั้นบันได เพื่อเฉลี่ยค่าใช้จ่ายตลอดทั้งปี 2565 ที่คาดว่ามีแนวโน้มต้นทุนจะสูงขึ้น หากไม่เฉลี่ยทยอยปรับขึ้นลักษณะนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในระยะสั้นเป็นอย่างมาก และ กกพ. จะพิจารณาทยอยปรับปรุงค่าเอฟทีตามค่าจริงในรอบต่อๆ ไป

 

อย่างไรก็ตาม กกพ. ยังคงติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยยังคาดหวังว่าสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและราคาเชื้อเพลิงยังมีโอกาสปรับตัวลดลงได้บ้างหลังจากผ่านพ้นฤดูหนาว ซึ่งมีปริมาณความต้องการการใช้ก๊าซธรรมชาติสูง และกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันจะสามารถบริหารจัดการความสมดุลของอุปสงค์และอุปทานน้ำมันในตลาดให้ดีขึ้นได้

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X