×

โจทย์สำคัญจาก SEC Capital Market Symposium 2021 ตลาดทุนไทยหลังโควิด ต้องเร่งสร้าง Ecosystem ใหม่รองรับ New Economy

โดย THE STANDARD TEAM
19.11.2021
  • LOADING...
SEC Capital Market Symposium 2021

HIGHLIGHTS

9 mins. read
  • โลกหลังโควิด เศรษฐกิจทั่วโลกจะฟื้นตัวในลักษณะ K-Shape สำหรับประเทศไทยนั้น TDRI มองว่าจะเห็นการฟื้นตัวในปี 2565
  • สำหรับตลาดทุนไทยหลังโควิดควรมี Ecosystem ที่เหมาะกับ New Economy ที่แท้จริง เพื่อช่วยพัฒนาตลาดทุนไทยไปต่อได้ และเป็นอีกหนึ่งกลไกความเหลื่อมล้ำ
  • ประเทศไทยกำลังเข้าถึงสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ แต่ประชากรส่วนมากขาดความพร้อมในการเกษียณ
  • Digital Asset เป็น Asset Class หลักในอนาคตของตลาดทุนทั่วโลก แต่ไม่สามารถทำหน้าที่สินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงได้สำหรับนักลงทุนบางกลุ่ม 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงานสัมมนาวิชาการ ‘SEC Capital Market Symposium 2021’ เพื่อสนับสนุนการต่อยอดงานวิจัยและส่งเสริมนวัตกรรมในตลาดทุน เสริมสร้างความร่วมมือในการทำวิจัยและเผยแพร่ผลงานด้านวิชาการที่เกี่ยวกับตลาดทุน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนำผลงานด้านวิชาการมาใช้ประกอบการกำหนดนโยบายด้านการกำกับและพัฒนาตลาดทุน นำไปสู่การดำเนินการตามนโยบายที่มีประสิทธิภาพ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ 

 

 

TDRI มองโลกหลังโควิด ความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้น 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘เศรษฐกิจไทยหลังโควิด’ โดยได้กล่าวถึงความท้าทายที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้เกิดโอกาสของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

 

ปัจจัยสำคัญของภาพตลาดทุนหลังโควิดคือภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งการจากการวิจัยของหลายสถาบันผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ได้สรุปตัวเลขการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ที่ระดับ 128% ซึ่งสูงมาก ตัวเลขนี้จึงบ่งชี้ได้ว่าสำหรับทุกประเทศทั่วโลกแล้วไม่สามารถทำให้โรคนี้หายไปได้ และยังมีโอกาสที่จะติดง่าย และเสียชีวิตง่ายอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีตัวอย่างนี้เกิดขึ้นเท่ากับรอบนี้ สถานการณ์ที่เลวร้ายสุดคือตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มและเสียชีวิตก็อาจจะไม่เกิดขึ้น โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าโควิดน่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนไข้หวัดใหญ่สเปนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 100 ปีก่อน 

 

สำหรับการหาคำตอบว่า เมื่อไรถึงจะเกิดโลกหลังโควิด หากดูจากอัตราการฉีดวัคซีนและอัตราการติดเชื้อ จะได้ข้อสรุปว่าแต่ละประเทศจะถึงจุดที่เรียกว่าโลกหลังโควิดไม่พร้อมกัน เพราะอัตราการฉีดไม่เท่ากัน สำหรับประเทศไทยนั้นถูกประเมินว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 2565 เนื่องจากประเทศไทยมีสัญญาณการฉีดวัคซีนที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ที่โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นของไทยในที่สุด นอกจากนี้ยังมียารักษาโรคเข้ามาด้วย 

 

สำหรับตลาดทุนไทยมองว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดัชนีราคาหุ้นไทย ยังเคลื่อนไหวเท่าเดิมไม่ขยับไปไหน ขณะที่ตลาดหุ้นเกาหลี ญี่ปุ่น เติบโต 30-40% ส่วนภาคธุรกิจที่เผชิญกับปัญหาโควิด ทั้งภาคท่องเที่ยว อสังหาฯ ภาคขนส่ง หลายกลุ่มธุรกิจควรได้ประโยชน์จากโควิด เช่น ธุรกิจจัดประชุมสัมมนาออนไลน์ สั่งอาหารออนไลน์ การทำงานที่บ้าน อุตสาหกรรมยา เครื่องมือแพทย์ 

 

ในส่วนของภาคท่องเที่ยว แม้ไทยจะเปิดประเทศ ยอมรับว่าการท่องเที่ยวคงไม่คึกคักเหมือนที่ผ่านมา เพราะยุโรปยังมีปัญหาการแพร่ระบาดอีกครั้ง การบริโภค การท่องเที่ยวจึงไม่คึกคักเหมือนที่ผ่านมา ขณะที่จีนยังไม่ปล่อยให้ประชาชนชนออกไปท่องเที่ยวนอกประเทศ เพราะยังต้องการควบคุมโควิดให้เป็นศูนย์ นักท่องเที่ยวจีนจึงเดินทางออกนอกประเทศน้อยมาก จึงทำให้การท่องเที่ยวของไทยต้องใช้เวลานับปี การบริโภค การเดินทาง จึงไม่ได้กลับมาฟื้นตัวมากนัก

 

 

เทคฯ สตาร์ทอัพหวังตลาดทุนไทยมี Ecosystem รองรับ New Economy 

สำหรับเวทีเสวนา เรื่อง ‘สร้างคุณค่างานวิจัย เสริมศักยภาพตลาดทุนไทยยุคดิจิทัล สู่ความยั่งยืน’ ซึ่งมี ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด​, ​ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, ​วิน พรหมแพทย์ ประธานสมาคม ซีเอฟเอ ไทยแลนด์​ และ ชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย ร่วมเสวนานั้น มีความเห็นตรงกันว่า ตลาดทุนไทยควรสร้าง Ecosystem ที่มีศักยภาพและเหมาะกับ New Economy 

 

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า เทคโนโลยีที่ทันสมัยได้เข้ามาทำให้ความแตกต่างของวัยมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยนักลงทุน New Gen จะมองหาตลาดทุนที่สนับสนุนการลงทุนแบบ Multiverse Mindset มากขึ้น ในส่วนของหน่วยงานกำกับดูแเลเองก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิด รูปแบบการทำงานที่เท่าทันความต้องการและพฤติกรรมนักลงทุนด้วยเช่นกัน 

 

โจทย์หลักของตลาดทุนไทยคือ ตอบความต้องการของ Old Gen และ New Gen ให้ทั่วถึง โดยโจทย์ของตลาด Old Gen คือทำอย่างไรที่จะดึงธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาสู่ตลาดทุนเพิ่มขึ้น เพื่อผลักดันและสนับสนุนให้ตลาดทุนไทยไปต่อได้ไกล และทำอย่างไรให้ SME ใช้ตลาดทุนมาสร้างการเติบโต  

 

ขณะที่ ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด กล่าวว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้น และทำให้เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นทุกภาคส่วน รวมถึงทำให้ความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้น เนื่องจากเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับผู้คนและการทำธุรกิจมากขึ้นก็ย่อมมีทั้งคนที่เข้าใจและเข้าถึง ซึ่งกลุ่มนี้จะฟื้นตัวได้เร็วกว่ากลุ่มที่ไม่เข้าใจและเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือการเร่งสร้าง Ecosystem ที่ดี ไม่ให้ตลาดทุนไทยตกขบวน 

 

ในการสร้าง Ecosystem ที่เหมาะสมนั้น การแข่งขันที่เสรีและเท่าเทียมจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ทำให้เกิด Ecosystem ตลาดทุนใหม่ที่เหมาะสมได้ ภายใต้เงื่อนไขที่การแข่งขันนั้นๆ มีกฎและระบบที่เป็นธรรมกับทุกคนและทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยเรื่องต้นทุนในการเข้าถึง Ecosystem โดย Ecosystem ที่ดีนั้นทุกคนต้องสามารถเข้าถึงได้ในต้นทุนที่ถูก 

 

นอกจากนี้ตลาดทุนไทยยังควรให้ความสำคัญกับ Digital Adoption โดยควรเร่งสร้างความเข้าใจแก่ภาคประชาชน หรือผู้ใช้งานบริการด้านดิจิทัลต่างๆ ให้มีความรู้เรื่องสิทธิพื้นฐานของตนเองอย่างลึกซึ้ง 

 

วิน พรหมแพทย์ ประธานสมาคม ซีเอฟเอ ไทยแลนด์​ กล่าวว่า ตลาดทุนไทยในยุคดิจิทัลนั้น เทรนต์ลงทุนที่กำลังมาแรงคือ ESG Investment Theme โดยสินทรัพย์ลงทุนแนว ESG น่าจะเป็นกลุ่มที่มี Fund Flow ไหลเข้าลงทุนมากที่สุด เฉลี่ยปีละ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันมีสินทรัพย์แนว ESG กว่า 35 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นสัดส่วนเกือบ 1/3 ของสินทรัพย์ลงทุนทั้งหมด โดย Bloomberg คาดว่า สินทรัพย์ ESG จะเพิ่มเป็น 50 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2568

 

โดยหนึ่งในปัจจัยที่หนุนการเติบโตของสินทรัพย์ลงทุนแนว ESG คือการถ่ายโอนความมั่งคั่งจากคนรุ่น Baby Boomer สู่รุ่น Millennials ซึ่งเป็น Gen ที่ใส่ใจ ESG มากที่สุด

 

สำหรับประเทศไทยนั้น นักลงทุนคนไทยก็ให้ความสนใจเช่นกัน โดย Morningstar รายงานว่า ในกลุ่ม Foreign Investment Fund (FIF) มีการลงทุนใน ESG Theme แล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 5% ของ FIF ทั้งหมด และโตจากปีก่อน 86%

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นข้อจำกัดของธุรกิจในตลาดทุน คือการขาดแคลนบุคลากรที่เข้าใจแนวคิดและหลักเกณฑ์เรื่อง ESG อย่างลึกซึ้ง

 

สำหรับข้อแนะนำสำหรับนักลงทุนทั่วไป คือให้ระวังเรื่อง Greenwash หมายถึงบริษัทอาจจะดูดีในมุม ESG แต่เปลือกนอก แต่ไส้ในมีปัญหา กรณีศึกษาที่ชัดเจนคือบริษัท VW ที่ขายรถกว่า 11 ล้านคัน โดยโฆษณาว่าเป็น Clean Diesel แต่แอบใส่ซอฟต์แวร์ที่ทำให้การวัดค่าไนโตรเจนออกไซด์ (Nitrogen Oxide) ต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 40 เท่า เมื่อถูกจับได้ราคาหุ้นร่วงไปเกือบ 50%

 

ขณะที่ ชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย กล่าวว่า Digital Asset ได้รับความสนใจจากตลาดทุนทั่วโลก และมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดถูกจัดเป็นหนึ่งใน Asset Class แล้ว ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาฟินเทคของไทยให้ขยายการเติบโต (Scale Up) โดยอาศัยการพัฒนาของตลาดทุนไทย 

 

ในการพัฒนาและสร้างการเติบโตให้กับฟินเทค ทางสมาคมฟิคเทคประเทศไทยให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่าย (Networking) โดยที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นประจำ ทั้งสำนักงาน ก.ล.ต. ของไทย หน่วยงานที่ดูแล Infrastructure และสมาคมฟินเทคในประเทศอื่น นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับ 3 Resources คือ คน ระบบ และเงินทุน และหากเชื่อมเครือข่ายและ Resources ได้ก็จะสามารถสร้าง Ecosystem ที่มีประสิทธิภาพได้ 

 

 

งานวิจัยพบนักเทรดคริปโตฯ ไทย ยังใช้อารมณ์ตัดสินใจลงทุน

ในงาน SEC Capital Market Symposium 2021 มีการนำเสนอผลงานวิจัยด้านตลาดทุนที่หลากหลายแง่มุม หนึ่งในผลงานวิจัยที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ งานวิจัยเรื่อง ‘Digital Assets in Thailand: Insights from transaction-level exchange data’ โดยแบ่งการศึกษาค้นคว้าเป็น 2 หัวข้อ คือ

 

  1. การวัดประสิทธิภาพของ Exchange โดย ผศ.ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ฐิติพงศ์ อมรธรรมนิยม ฝ่ายวิจัย สำนักงาน ก.ล.ต. 

  2. พฤติกรรม Disposition Effect โดย รศ.ดร.คณิสร์ แสงโชติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ พงศธร ปริญญาวุฒิชัย ฝ่ายวิจัย สำนักงาน ก.ล.ต.


ในหัวข้อแรกมุ่งหมายในการวัดประสิทธิภาพของ Exchange ใน 2 มิติหลัก ได้แก่ Bid-Ask Spread และ Price Discovery โดยในมิติ Bid-Ask Spread พบว่า Bid-Ask Spread ของ เหรียญ BTC และ ETH อยู่ที่ประมาณ 0.5-1.0% สำหรับ Exchange ในประเทศไทย ขณะที่ใน Exchange ต่างประเทศ Bid-Ask Spread จะอยู่ที่ 0.01 % ส่วน Bid-Ask Spread ในตลาดหุ้นไทยจะอยู่ที่ประมาณ 0.25% โดยนักลงทุนมักซื้อขายในเวลา 10.00-16.00 น. เป็นช่วงที่ Spread ต่ำที่สุด และพบว่ามูลค่าการซื้อขายที่สูงขึ้นจะช่วยลด Spread เฉพาะเหรียญที่มี Spread สูง

 

สำหรับมิติของ Price Discovery พบว่าออร์เดอร์ฝั่งซื้อ (Bids) มักจะตอบสนองได้รวดเร็วกว่าฝั่งขาย (Offers) และในการเกิด Shock ราคาจะใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงในการตอบสนองตามตลาดโลก รวมถึงค้นพบว่าผู้ซื้อขายในตลาดไทยมีพฤติกรรมค่อนข้าง Aggressive ในช่วงตลาดขึ้น (Bull Market)

 

ในหัวข้อที่ 2 มุ่งเน้นการศึกษาพฤติกรรม Disposition Effect หรือ DE ทั้งนี้ นิยามของ DE หมายถึง พฤติกรรมการลงทุนที่นักลงทุนเลือกที่จะขายเมื่อมีกำไร และยอมถือสินทรัพย์ที่ขาดทุนไว้ในพอร์ต ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงรับรู้การขาดทุนเป็นตัวเงินและหลีกเลี่ยงความรู้สึกเสียใจหรือเสียดายจากการเงินลงทุน 

 

จากการศึกษาและวิจัยพบว่า ผู้ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีมีพฤติกรรม Disposition Effect (DE) เหมือนกับผู้ลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ โดยพบว่าพฤติกรรม DE กระจุกตัวอยู่ในบัญชีผู้ลงทุนที่มีเงินในบัญชีในช่วง 5,000-100,000 บาท และยังเป็นกลุ่มที่ซื้อขายบ่อย เมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีเงินในบัญชี 1 ล้านบาทขึ้นไป

 

รวมถึงพบว่า ผู้ซื้อขายที่เข้ามาในช่วงตลาดขาลง (กลุ่มประสบการณ์น้อย) จะมีพฤติกรรม DE มากกว่ากลุ่มผู้ซื้อขายที่อยู่ตั้งแต่ช่วงตลาดขาขึ้น (กลุ่มประสบการณ์มาก) ขณะที่กลุ่มที่มีการซื้อขายที่ถี่กว่าจะมีลักษณะที่เป็น DE มากกว่ากลุ่มที่ซื้อขายที่จำนวนครั้งที่น้อยกว่า 

 

จากผลลัพธ์รายเหรียญแสดงให้เห็นว่ามีลักษณะที่เป็น Disposition Effect และในแต่ละประเภทของเหรียญที่มีการใช้งานและลักษณะโครงสร้างที่แตกต่างกันนั้นก็มีพฤติกรรมการซื้อขายที่แตกต่างกันด้วย อาจแสดงถึงจุดประสงค์การซื้อขายที่แตกต่างกัน

 

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ข้อสรุปว่า พฤติกรรม Disposition Effect ดังที่กล่าวในงานวิจัยน่าจะเอื้อต่อผู้ที่ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา หรือให้คำแนะนำการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

 

โดยงานวิจัยชิ้นนี้มี ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย รับหน้าที่วิจารณ์ผลงานวิจัย ซึ่งได้ฝากให้ทีมผู้วิจัยพิจารณาในแง่มุมอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากเรื่องราคาและเรื่องพฤติกรรมการแสดงออกทางอารมณ์ของผู้ลงทุน โดยเฉพาะในมิติด้านเทคโนโลยี ซึ่งมีศักยภาพต่อการพัฒนาประเทศได้อีกมหาศาล

 

 

อีกงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับตลาดคริปโตเคอร์เรนซีที่น่าสนใจคือ งานวิจัยเรื่อง ‘Bitcoin or Gold for a Diversifier? Tales of Pre- and During the COVID-19 Crisis​’ จัดทำโดย ยูสึเกะ คากินุมะ อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

 

งานวิจัยชิ้นนี้ได้ข้อค้นพบว่า สินทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น ตลาดหุ้นในอาเซียน ทองคำ รวมถึง Bitcoin มีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ทางด้านความเคลื่อนไหวราคาสินทรัพย์และการได้รับความสนใจจากนักลงทุน 

 

อย่างไรก็ตาม Bitcoin ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงให้กับนักลงทุนได้ ดังนั้นนักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยงควรถือทองคำในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญในพอร์ต (40-55%) 

 

 

‘คนไทย’ ยังไม่พร้อมเกษียณอย่างสมบูรณ์ 

งานวิจัยเรื่อง ‘Thailand Retirement Readiness Index: Development, Applications and Policy Usage​’ จัดทำโดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

งานวิจัยค้นพบว่า ทักษะการวางแผนทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่ควรเร่งเติมเต็มแก่สังคม เพื่อช่วยสร้างความพร้อมต่อการเกษียณอย่างมีประสิทธิภาพ และก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความพร้อมแตกต่างกันคือ การเข้าถึงข้อมูล ความรู้ และทักษะทางการเงิน โดยกลุ่มลูกจ้างและแรงงานเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีความพร้อมต่ำกว่ากลุ่มอื่น

 

ทั้งนี้ งานวิจัยมีข้อเสนอแนะให้มีการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ควรเกิดขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อยเมื่อเริ่มต้นทำงาน และความรู้ทางการเงินในแต่ละช่วงอายุควรมุ่งเน้นประเด็นแตกต่างกัน รวมถึงควรให้ความเข้าใจถึงความเสี่ยงทางสุขภาพที่ควรกระตุ้นให้เกิดการออมที่มากขึ้น

 

 

อีกหนึ่งผลงานวิจัยที่สอดรับการวางแผนและเตรียมความพร้อมทางการเงินคือ งานวิจัยเรื่อง ‘Skill Versus Luck: Do Actively Managed Equity Mutual Funds Benefit Investors in Thailand?​’ จัดทำโดย ​​จิรสิน ศิริประชัย นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

จากงานวิจัยชิ้นนี้ ผู้วิจัยมีคำแนะนำต่อนักลงทุนว่า การลงทุนแบบ Passive เป็นทางเลือกที่ดีกว่ากองทุนที่มีการจัดการ Active, กองทุน หรือ บลจ. ที่อยู่ภายใต้ธนาคารพาณิชย์มีค่าธรรมเนียมการจัดการที่ต่ำกว่า รวมทั้งมีการให้บริการผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือจากธนาคารพาณิชย์ที่ดีกว่า ขณะที่ผู้จัดการกองทุนทำงานได้ดีขึ้นในช่วงวิกฤตหรือช่วงที่ไม่แน่นอน 

 

และมีคำแนะนำต่อผู้จัดการกองทุน ว่าผู้จัดการกองทุนยังคงมีช่องทางในการปรับปรุงทั้งในการเลือกหุ้นและด้านจังหวะเวลาของตลาด 

 

ส่วนคำแนะนำต่อสำนักงาน ก.ล.ต. คือควรการปรับปรุงรูปแบบการให้ความรู้ทางการเงินแก่นักลงทุน โดยเฉพาะในเรื่องลักษณะของผลิตภัณฑ์ทางการเงินแต่ละประเภท ซึ่งปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น

 

 

‘ตลาดทุนไทย’ มีทักษะบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี 

จากวิกฤตโควิดที่กระทบไปทุกภาคส่วน รวมถึงตลาดทุนทั่วโลก จึงเป็นที่มาของงานวิจัยเรื่อง ‘แนวทางการติดตามความเสี่ยงของกองทุนรวมภายใต้บริบทของการลงทุนที่มีความเชื่อมโยง’ โดย ดร.พรพงศ์ ศักดาพัฒน์ และ พิศุทธิ์ บุญวัฒนสุนทร

 

โดยจากช่วงเหตุการณ์การระบาดของโควิดระลอกแรกนั้น พบว่าผู้ลงทุนมีการขายสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อถือเงินสด รวมถึงมีการไถ่ถอนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วโลกและไทย จนทำให้ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกมีความผันผวนสูง ซึ่งกองทุนต้องมีการเร่งขายตราสารที่ลงทุนในภาวะที่ตลาดมีความผันผวน ทำให้ราคาหน่วยลงทุนมีความผันผวนตามและเป็นเหตุให้ผู้ลงทุนมีความกังวลและไถ่ถอนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนถึงความเชื่อมโยงในการลงทุนที่ปัญหาเกิดจากภูมิภาคหนึ่งของโลกแต่สามารถส่งผ่านความเสี่ยงมายังส่วนอื่นของโลกได้อย่างรวดเร็ว  

 

ดังนั้นการติดตามและการบริหารความเสี่ยงในบริบทของการลงทุนที่มีความเชื่อมโยงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง และมีการดำเนินการในส่วนของธุรกิจจัดการลงทุนในด้านต่างๆ ดังนี้

 

  1. วิเคราะห์และพัฒนาแบบจำลองความเสี่ยงให้สามารถติดตามสถานการณ์ได้ใกล้ชิด และมีการแจ้งเตือนได้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุด  
  2. ปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมกับปัจจัยความเสี่ยงที่มีการเปลี่ยนแปลงไป  
  3. ยกระดับความร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจและหน่วยงานกำกับดูแลอื่นผ่านการจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อต่อยอดองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนมุมมองในการบริหารความเสี่ยงที่มีอยู่ในทุกภาคส่วน เพื่อให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่ากองทุนรวมจะเป็นเครื่องมือการลงทุนที่ดีและมีคุณภาพ

 

 

ขณะที่งานวิจัยเรื่อง ‘ปัจจัยที่กําหนดการเลือกใช้มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวทางบัญชีของบริษัทจดทะเบียนไทย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19’ โดย ดร.เดชอนันต์ บังกิโล อาจารย์ประจำสาขาวิชาการบัญชี สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ ดร.ตุลยา ตุลาดิลก อาจารย์ประจำสาขาวิชาการบัญชี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ข้อสรุปว่า บริษัทจดทะเบียน หรือ บจ. นั้นมีการพิจารณาความเสี่ยงทางการเงินขององค์กร และเลือกใช้มาตรการผ่อนปรนทางบัญชีอย่างเหมาะสม

 

โดยปัจจัยที่มีผลต่อการใช้มาตรการผ่อนปรนคือ ผลขาดทุน ขนาดบริษัท อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์มาตรการผ่อนปรน นอกจากนี้ยังพบว่า ผลขาดทุน อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ และอัตราส่วนมูลค่าทางบัญชีต่อมูลค่าตลาด เป็นปัจจัยที่มีผลต่อจำนวนมาตรการผ่อนปรนที่บริษัทใช้ ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูลในกลุ่มบริษัทที่เลือกใช้มาตรการผ่อนปรน

 

ผลที่พบแสดงให้เห็นว่า มาตรการที่ออกมานั้นบรรลุวัตถุประสงค์ เนื่องจากบริษัทที่เลือกใช้มาตรการผ่อนปรนนั้นเป็นบริษัทที่มีผลขาดทุน มีขนาดเล็ก และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ที่สูง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X