ท่ามกลางตลาดน้ำดื่มวิตามินที่ดุเดือดจากผู้เล่นหน้าใหม่ที่บุกเข้าสู่ตลาดอยู่เรื่อยๆ และคาดว่าจะมีมูลค่า 5,000 ล้านบาทในปี 2565 ‘ทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทล’ ก็ขอเป็นอีกรายที่อยากแบ่งก้อนเค้กชิ้นนี้ด้วยการส่ง ‘True Vitamin Water’ เข้าชิงชัย
ดร.ปพนธ์ รัตนชัยกานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจอาหาร และคอฟฟี่ เฮาส์ บริษัท ทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทล จำกัด และบริษัท เบคเฮาส์ จำกัด ระบุว่า จริงๆ แล้วสนใจที่จะทำเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริงก์ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน แต่ด้วยตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ยังไม่พร้อมจึงไม่ได้เข็นสินค้าออกมา
แต่หลังจากในปี 2563 ตลาดน้ำดื่มวิตามินที่มีมูลค่าราว 3,000 ล้านบาท เติบโตมากกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าราว 1,200 ล้านบาท ทำให้ทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทล สนใจตลาดนี้อีกครั้ง จึงใช้เวลา 1 ปีครึ่งในการพัฒนาสินค้าจนออกมาเป็น True Vitamin Water น้ำผสมวิตามินและแร่ธาตุซึ่งวางตัวเองอยู่ในเซกเมนต์ที่เป็นทั้งเครื่องดื่มชูกำลังและน้ำดื่มวิตามิน
“ก่อนจะออกมาเป็น True Vitamin Water เราได้ศึกษาจากฐานลูกค้าทรู 30 ล้านคน ซึ่งเราได้แบ่งออกมาเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กีฬา, ความงาม, ท่องเที่ยว, เกมเมอร์ และสตาร์ทอัพ ในที่สุดเราจึงทำออกมาเป็นเครื่องดื่มที่ให้ทั้งความสดชื่นและสุขภาพไปในตัว”
เบื้องต้น True Vitamin Water มี 2 กลิ่น คือกลิ่นเอ็กโซติกฟรุต และกลิ่นส้ม ราคา 25 บาท มีการดึง ‘มิก้า ชูนวลศรี’ ผู้เล่นกองหลังของสโมสรฟุตบอล ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด มาสวมบทบาทในฐานะพรีเซนเตอร์ โดยจะเริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายนเป็นต้นไป ที่ 7-Eleven และทรูคอฟฟี่ ซึ่งได้มีการตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 3 เดือนจะมียอดขาย 3 ล้านขวด
สำหรับ ‘ทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทล’ ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ 15 ปีก่อน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้าง Consumer Experience โดยดึง ดร.ปพนธ์ ซึ่งมีประสบการณ์ในค่ายรถยนต์มาก่อนมาเป็นผู้ดูแล
“แต่ก่อนเวลาไปศูนย์รถยนต์มักจะมีการเสิร์ฟกาแฟฟรีเพื่อสร้างประสบการณ์ให้แก่ลูกค้า ซึ่งหากไม่นับน้ำมัน ‘กาแฟ’ จะเป็นน้ำลำดับ 2 ของโลกที่คนจะนึกถึง แต่สำหรับทรูที่มีลูกค้ารวมวันละ 2 ล้านคนทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะนั่นหมายถึงต้นทุนจำนวนมาก เลยเป็นที่มาของการเปิดทรูคอฟฟี่ขึ้นมาเพื่อเสริม Consumer Experience ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทรูคอฟฟี่ที่มี 100 สาขาในวันนี้กว่า 70% จะอยู่ในร้านทรูช็อป”
ปัจจุบันนอกจากรายได้หลักที่มาจากทรูคอฟฟี่แล้ว ภายใต้ ทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทล ยังมีรายได้ขาที่ 2 จากกลุ่ม FMCG ซึ่งประเดิมด้วย TrueCoffee Cup ที่เริ่มขายตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ปัจจุบันมียอดขาย 3 ล้านแก้ว และคาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้จะมียอดขาย 4 ล้านแก้ว ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่ง 25% ในกาแฟกระป๋องราคา 30 บาทใน 7-Eleven ส่วน True Vitamin Water เป็นสินค้าชิ้นที่ 2 ในกลุ่มนี้
การขยายธุรกิจทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทลให้เป็นมากกว่าร้านกาแฟ เป็นการปูทางไปสู่การ IPO ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปี 2568 โดย ดร.ปพนธ์ระบุว่า จะใช้เวลา 3 ปี (ปี 2565-2567) ในการแต่งตัว ผ่านการขยายธุรกิจ โดยในกลุ่ม FMCG นั้นจะมีการออกสินค้าใหม่ปีละ 2 SKU ที่เป็นทั้งอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งหนึ่งในแผนที่วางไว้คือการออกสินค้าในกลุ่ม Plant-based
ส่วนทรูคอฟฟี่ในช่วงต่อจากนี้จะยังไม่มีการขยายสาขามากนัก จะเน้นดูทำเลที่เหมาะสมถึงจะเปิด แต่อย่างไรก็ตามภายใต้ทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทล ยังมี PAUL ร้านอาหารและเบเกอรีสไตล์ฝรั่งเศส ซึ่งได้มาสเตอร์แฟรนไชส์ในไทย จีน และ CLMV ปัจจุบันมีในไทย 8 สาขา และมีขยายไปที่เวียดนามแล้ว เฟสต่อไปจะขยายไปที่จีน จะเริ่มในปี 2565 ซึ่งจะเปิดให้ได้ 50 สาขา และขยายเป็น 500 สาขาภายในอีก 5 ปี
ในแง่ของรายได้แต่เดิมนั้นปี 2564 ตั้งเป้าไว้ที่ 500 ล้านบาท แต่ด้วยการล็อกดาวน์ทำให้คาดว่ารายได้จะลดลงจากที่วางไว้ 20% เหลือราว 400 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 125 ล้านบาทมาจากกลุ่ม FMCG ที่เหลือมาจากทรูคอฟฟี่ ส่วนในปี 2568 ที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์คาดว่าจะมีรายได้ 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ทรูคอฟฟี่ 40%, FMCG 40% ที่เหลือ 20% จะมาจากเดลิเวอรี