แม้ในมุมมองของนักวิเคราะห์บางส่วนจะมองว่า ความโลภ หรือ Greed ของนักลงทุนเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยขับเคลื่อนตลาดให้คึกคัก แต่สำหรับ เดวิด โซโลมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของโกลด์แมน แซคส์ กลับออกโรงท้วงติงว่า ความโลภที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับตลาดวอลล์สตรีทเท่าไรนัก เพราะเสี่ยงทำให้เกิดการเก็งกำไรที่จุดชนวนภาวะฟองสบู่ในตลาดได้
โดยโซโลมอนกล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ในงานประชุม Bloomberg New Economy Forum ที่สิงคโปร์ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (17 พฤศจิกายน) ว่า จากประสบการณ์การทำงานในแวดวงการเงินการลงทุนมานานกว่า 40 ปี จะมีช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นอยู่ในสถานการณ์ที่ความโลภอยู่เหนือความกลัว ซึ่งช่วงเวลาที่ว่านี้มักจะกินเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะมีปัจจัยบางอย่างเข้ามาปรับสมดุลของตลาด ทำให้นักลงทุนมองเห็นภาพรวมของตลาดได้ลึกซึ้งขึ้น
ความกังวลว่าตลาดจะอยู่ในความโลภที่นำพาให้เกิดภาวะฟองสบู่ของซีอีโอโกลด์แมน แซคส์ มีขึ้นในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทพุ่งทะยานทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลายระลอก โดยมีหุ้นมีมและเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีที่ขยับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงเพราะกระแสที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ ขณะที่บริษัทที่ไม่มีผลกำไร เช่น ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Rivian และ Lucid มีมูลค่าสูงกว่าค่ายผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำรายใหญ่ของตลาด
นอกจากนี้ โซโลมอนยังวิตกอีกว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ‘จำนวนมหาศาล’ ที่เกิดจากบรรดาธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลกกำลังผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้น เช่นเดียวกับราคาสินทรัพย์ในตลาดอย่าง หุ้น
ขณะเดียวกัน โซโลมอนได้หยิบยกประวัติศาสตร์ในช่วงปี 1980 ที่เงินเฟ้อพุ่งสูงจนบีบให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในช่วงเวลานั้นต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งแม้ไม่ได้ทำให้เกิดภาวะช็อกหนัก แต่ก็ทำให้เกิดความผันผวนปั่นป่วนไม่น้อย โดยซีอีโอโกลด์แมน แซคส์ เตือนไม่ให้นักลงทุนเหลิงกับช่วงขาขึ้นของตลาดในขณะนี้มากจนเกินไป และให้มองการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในระยะยาวร่วมด้วย
สำหรับความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเมื่อวานนี้ (17 พฤศจิกายน) ขยับปรับตัวในกรอบแคบๆ ก่อนปิดตลาดในแดนลบ แม้จะมีรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในตลาดที่แข็งแกร่ง เนื่องจากความกังวลเรื่องภาวะเงินเฟ้อและห่วงโซ่อุปทาน ฉุดการลงทุนในตลาดโดยรวม
โดยดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ลดลง 211.17 จุด หรือ 0.58% ปิดที่ 35,931.05 จุด และลดลงจากสถิติสูงสุดตลาด 1.6% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลง 12.23 จุด หรือ 0.26% ปิดที่ 4,688.67 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 52.28 จุด หรือ 0.33% ปิดที่ 15,921.57 จุด
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองภาพรวมของตลาดตลอดทั้งสัปดาห์พบว่า ทิศทางของตลาดเคลื่อนไหวไปในทางบวก โดยที่ดัชนีทั้ง 3 ตลาดล้วนอยู่ในทิศทางขาขึ้น โดยได้แรงหนุนจากข่าวดีของรายงานยอดค้าปลีกที่เพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 1.4% บวกกับปัจจัยหนุนจากรายงานผลประกอบการที่ดีเกินคาดของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Target และ Walmart ที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคในสหรัฐฯ กลับมาใช้จ่ายมากขึ้น
กระนั้น ภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวพุ่งสูงที่สุดในรอบกว่า 30 ปี ก็กลายเป็นปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน และทำให้มีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ทำให้นักลงทุนส่วนหนึ่งเริ่มหันกลับมาพิจารณาหุ้นในกลุ่มมูลค่ามากขึ้น (Value Stocks) เห็นได้จากหุ้นในกลุ่มการเงินและพลังงานที่ปรับตัวลดลง สวนทางกับหุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่เทคโนโลยี อย่าง Microsoft, Apple และ Amazon ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1%
ด้านปัจจัยหนุนเงินเฟ้ออย่างราคาน้ำมัน เมื่อวานนี้ (17 พฤศจิกายน) ปรับตัวร่วงหนักจนแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสงวดส่งมอบเดือนธันวาคม ลดลง 2.40 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 78.36 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนมกราคม ลดลง 2.15 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 80.28 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ทั้งนี้ ปัจจัยฉุดราคาน้ำมันมาจากคำเตือนของทบวงพลังงานสากล (IEA) ว่าอุปทานพลังงานจะเข้าสู่ตลาดเพิ่มเติมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ท่ามกลางตัวเลขผู้ติดโรคโควิดที่เพิ่มจำนวนขึ้นในยุโรป เสี่ยงทำให้ปริมาณน้ำมันล้นตลาดได้
Suhail al-Mazrouei รัฐมนตรีพลังงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มโอเปก ออกโรงปกป้องมติของโอเปกและพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ที่ยังคงทำตามข้อตกลงเพิ่มกำลังผลิต 400,000 บาร์เรลต่อวันในทุกๆ เดือน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะอุปทานล้นตลาด พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบ อย่าวิตกจนเกินไป และขอให้เชื่อมั่นในการตัดสินใจที่มาจากการพิจารณาอย่างรอบคอบดีแล้วของโอเปก
อ้างอิง: