วันนี้ (17 พฤศจิกายน) ที่บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา กลุ่มตัวแทนนักดนตรี พร้อมผู้ประกอบการสถานบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้เข้ายื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐตรวจสอบและผลักดันการแก้ปัญหาและเปิดสถานบันเทิงกลางคืน รวมถึงมาตรการเยียวยารวม 5 ข้อ ต่อ ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร
เอกราช อุดมอำนวย ผู้ประกอบการร้านอาหาร ตัวแทนกลุ่มนักดนตรี ได้อ่านหนังสือที่ยื่นวันนี้ โดยเรียกร้องให้ กมธ.การเงินการคลังฯ ตรวจสอบตามที่รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีกำหนดควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดด้วยการจำกัดและสั่งปิดกิจการผับ บาร์ รวมเวลากว่า 15 เดือนภายใน 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อเจ้าของกิจการ ลูกจ้าง นักตนตรีอิสระ โดยเฉพาะกลุ่มนักคนตรีที่ไม่ได้มีฐานะมั่นคง หาเช้ากินค่ำ ซึ่งภาครัฐยังไม่มีแนวทางช่วยเหลือแบบเจาะจง จึงเรียกร้องผ่านช่องทางกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรถึงรัฐบาล 5 ข้อ ประกอบด้วย
- ยกเลิกการจำกัดเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้เป็นไปตามกฎหมายปกติ เนื่องจากเวลา 21.00 น. เป็นเวลาที่ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค ส่งผลต่อการพิจารณาจ้างงานศิลปินของผู้ประกอบการ
- ให้เปิดประเทศ เปิดกิจการตามลำดับเวลาที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไว้ต่อสาธารณะ หากทำไม่ได้ขอใช้ ส.ส. ใช้กลไกลรัฐสภา ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ กระทู้ และอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาโดยเร็ว
- ให้ ส.ส. กดดันภาครัฐในการช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจและศิลปินที่ตกงานอย่างเร่งด่วน และมาตรการที่ออกมาต้องไม่หว่านแหแบบที่ผ่านมา
- กดดันตรวจสอบให้รัฐบาลออกมาตรการให้สามารถเปิดกิจการได้โดยมีการควบคุมมาตรการป้องกันโรคเหมือนสถานที่อื่นๆ หรือเจาะจงพิเศษเพิ่มเติม พร้อมใช้กระบวนการรับฟังจากภาคธุรกิจด้วย
- หากข้อเรียกร้องทั้งหมดไม่สามารถดำเนินการได้ขอให้ ส.ส. หรือกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องหาหนทางตามกฎหมายฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลใดศาลหนึ่ง เพื่อเรียกร้องแทนกลุ่มศิลปินที่ได้รับผลกระทบด้วย
เอกราชระบุด้วยว่า กลุ่มศิลปินยังโดนข่มขู่จากรัฐบาลให้ดำเนินคดีแบบที่สุด กรณีฝ่าฝืนคำสั่งของ ศบค. และคำสั่งปิดผับบาร์กระทบต่อวิธีการเฉลิมฉลองในช่วงปีใหม่กลับมาไม่เปิดประชาชนย่อมจัดการเองในสถานที่ซึ่งไร้การควบคุม
ด้าน พลอย ศิลปินอิสระ ระบุว่า อยากให้ผู้มีอำนาจเลื่อนการเปิดสถานบริการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะผู้ประกอบการขาดรายได้มากกว่า 2 ปีแล้ว จำนวนมากต้องขายเครื่องมือประกอบอาชีพหรือเครื่องดนตรีประทังชีวิต ขณะที่ผู้มีอำนาจรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนให้ครบ จึงคิดว่าถ้าฉีดวัคซีนครบแล้วก็ควรเข้าใช้สถานบริการ สถานบันเทิงได้ โดยที่ผู้ประกอบการและพนักงานก็ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว แต่ทำไมยังเปิดสถานบริการไม่ได้ จึงอยากให้ผู้มีอำนาจนำข้อเรียกร้องทั้งหมดไปพิจารณาด้วย
“ถ้าจะปิดเราจริงๆ ไม่ให้เราทำงานที่เรารักจริงๆ มีมาตรการอะไรไหมที่จะเยียวยา เพราะการเล่นดนตรีก็เป็นอาชีพที่สุจริต”
ด้านศิริกัญญากล่าวว่า จริงๆ เมื่อนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนั้น ได้พูดถึงการเปิดผับ-บาร์ หรือสถานบริการในเวลากลางคืน วันที่ 1 ธันวาคมด้วย ซึ่งเป็นความหวังของผู้ประกอบการ แต่สุดท้ายก็กลับคำพูดที่เคยให้สัญญาไว้ ดังนั้นประการแรกตนจะติดตามทวงถามถึงเหตุผลและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจึงมีการปรับคำสัญญาที่เคยให้ไว้
จากนั้นจะมีการพูดคุยกับ ศบค. ในเรื่องการเยียวยา แต่ก็ไม่อยากให้ความหวังมาก เพราะเรียกร้องมาหลายครั้งแล้ว ศบค. ไม่เคยให้ความสนใจ มองข้ามกลุ่มผู้ประกอบอาชีพกลางคืนมาโดยตลอด
ทั้งนี้ ในส่วนพรรคก้าวไกลมีโครงการที่จะยื่นฟ้องศาลแพ่ง เรียกร้องค่าเสียหายผู้เกี่ยวข้อง หากทางกลุ่มศิลปินอิสระกลุ่มนี้มีความสนใจก็ขอให้มาร่วมกันในการฟ้องความผิดทางเเพ่งกับภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ที่ผิดพลาดและละเลยในการเยียวยาช่วยเหลือความเสียหายที่เกิดขึ้นตลอดมา