วันนี้ (17 พฤศจิกายน) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เขียนข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha’ ระบุว่า พี่น้องประชาชนที่รักครับ เมื่อวานนี้ (16 พฤศจิกายน) เป็นอีกวันที่ผมรู้สึกยินดีที่ได้มาลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่ภาคใต้ โดยได้สัมผัสถึงความพร้อมอย่างเต็มที่ของพี่น้องประชาชนในการต้อนรับผู้ที่มาเยือน เพื่อเดินหน้าประเทศแบบ New Normal ทั้งนี้ ภายหลังการเปิดประเทศตามนโยบายรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นมา มีผู้ที่เดินทางเข้าประเทศแล้ว 54,939 คน ในจำนวนนี้พบว่าติดเชื้อโควิดเพียง 65 คน หรือ 0.12% ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนที่น้อย และสามารถบริหารจัดการได้ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อส่วนรวม
สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 6 จังหวัด พร้อมด้วยผู้แทนภาคเอกชนนั้น ถือว่าเกิดผลสำเร็จในหลายประการ เช่น
- การอนุญาตให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลน เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยแก่ชุมชน เนื้อที่รวม 4,105 ไร่ ใน 21 จังหวัด โดยมีพื้นที่ภาคใต้ 12 จังหวัด เพื่อลดความขัดแย้งในเรื่องการบุกรุกครอบครองผืนป่าชายเลน แล้วเพิ่มการส่งเสริมพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าชายเลนต่อไป
- การผลักดันโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี จำนวน 7 โครงการ วงเงิน 494 กว่าล้านบาท ได้แก่
- โครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล
- โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์ฟื้นฟูพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก จังหวัดตรัง
- โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และสิ่งแวดล้อม จังหวัดระนอง
- โครงการ Phuket Health Sandbox จังหวัดภูเก็ต
- โครงการศูนย์กลางการท่องเที่ยวและนันทนาการชายฝั่งแห่งเมืองพังงา จังหวัดพังงา (The Park Khaolak)
- โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือโดยสาร-ท่องเที่ยวปากคลองจิหลาด จังหวัดกระบี่
- โครงการพัฒนาแหล่งสปาวารีบำบัดน้ำพุร้อนคลองท่อมเมืองสปา จังหวัดกระบี่
ซึ่งทั้ง 7 โครงการนี้ จะช่วยสร้างความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในจังหวัดภาคใต้ตามนโยบายเปิดประเทศ
- การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการงานเมกะอีเวนต์ รวม 3 รายการ ได้แก่ งาน Expo2028 Phuket-Thailand ในปี 2571 เพื่อผลักดันบทบาทของประเทศไทยและภูเก็ตให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) และเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก, มหกรรมพืชสวนโลก 2 ครั้ง ที่จังหวัดอุดรธานี ในปี 2569 และจังหวัดนครราชสีมา ในปี 2572 เพื่อแสดงศักยภาพในการวิจัย พัฒนา และเทคโนโลยี ด้านพืชสวนแบบครบวงจรของไทย ให้เป็นที่ประจักษ์ระดับโลก และต่อยอดเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และศูนย์กลางนวัตกรรมด้านการเกษตร ในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง (GMS) ที่สามารถต่อยอดสู่เศรษฐกิจ BCG Model ทั้งนี้ หากประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพเมกะอีเวนต์ทั้ง 3 งาน ประเมินได้ว่าจะสามารถสร้างการจ้างงาน 230,442 คน สร้างเงินสะพัดในประเทศรวม 100,173 ล้านบาท เก็บภาษีเข้ารัฐ 20,641 ล้านบาท และผลักดันการเติบโตให้ GDP ได้ 68,520 ล้านบาท
นอกจากนี้ ครม. ยังได้เห็นชอบให้เสนอแหล่งมรดกทางธรรมชาติ พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา และภูเก็ต ประกอบด้วย 6 พื้นที่อุทยาน และ 1 พื้นที่ป่าชายเลน พื้นที่รวมกว่า 2,908 ตารางกิโลเมตร ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ซึ่งล้วนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงอนุรักษ์ที่สำคัญ ที่นอกจากสร้างรายได้หล่อเลี้ยงชาวชุมชนแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หายาก เช่น ชะนีมือขาว ค้างคาวแม่ไก่เกาะ กระเบนราหู วาฬหัวทุย โลมา เต่ามะเฟือง เต่าหญ้า ที่นับวันจะลดลงไปมาก ดังนั้น เราต้องรักษาระบบนิเวศเหล่านี้ไว้ให้ดี เพื่ออนุรักษ์สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไว้ให้ลูกหลานไทยได้ภาคภูมิใจต่อไป
ผมเชื่อว่าในการลงมาประชุม ครม. สัญจร ที่ภาคใต้ในครั้งนี้ จะเป็นการส่งสัญญาณต่อทั้งพี่น้องชาวไทยในประเทศ รวมถึงทั่วโลก ว่าประเทศไทยเราพร้อมที่จะกลับมาเดินทางและเปิดรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจอีกครั้ง ภายใต้การควบคุมโรคที่เหมาะสม และประเทศไทยพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ เพื่อพลิกโฉมประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การเกษตร สิ่งแวดล้อม นวัตกรรม โลจิสติกส์ การคมนาคมขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานในทุกภูมิภาคของประเทศ ผมขอให้พวกเราทุกคนมาร่วมมือช่วยกัน ทำให้เป้าหมายนี้เป็นจริงโดยเร็ว เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องชาวไทยทุกคนครับ
อ้างอิง: