วันนี้ (16 พฤศจิกายน) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน หรือที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับ ‘รื้อระบอบประยุทธ์’ โดยกลุ่ม Re-Solution ซึ่งมี ปิยบุตร แสงกนกกุล และ พริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นผู้เสนอ และมีประชาชนลงชื่อเสนอร่างกฎหมายมากกว่า 1.3 แสนรายชื่อ ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พี่น้องประชาชนร่วมกันลงชื่อเข้ามารอบนี้มากกว่า 1 แสนคน เป็นข้อเสนอที่มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างเป็นระบบ มีหัวใจที่สำคัญที่สุดคือ การสถาปนาให้อำนาจของประชาชนเป็นอำนาจสูงสุด ผ่านการยกเลิกวุฒิสภา สร้างระบบสภาเดี่ยว, แก้ไขที่มาและอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระให้ยึดโยงกับอำนาจของประชาชน, สร้างกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะผู้ตรวจการกองทัพ คณะผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญ คณะผู้ตรวจการองค์กรอิสระ, เลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อปลดโซ่ตรวนอนาคตของประเทศ, และล้างมรดกรัฐประหาร หยุดวงจรอุบาทว์ขวางประชาธิปไตย
“ผมและสมาชิกพรรคก้าวไกลไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะไม่สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนฉบับนี้ เพราะนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปมปัญหาใจกลางของสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ซึ่งก็คือระบอบการเมืองที่อนุญาตให้มีประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเล็กๆ น้อยๆ เป็นไม้ประดับ ตราบเท่าที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ไปกระทบกับอำนาจของชนชั้นนำจารีต
“ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ คือระบอบการเมืองที่อนุญาตให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งบ้างเป็นครั้งเป็นคราว แต่จะไม่ยอมให้อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งต้องถูกกดเอาไว้ให้อยู่ใต้อำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน เมื่อประชาธิปไตยแบบไทยๆ เป็นแบบนี้ จึงไม่แปลกที่เราจะยังสามารถสอนกันในห้องเรียนอย่างไม่เคอะเขินได้ว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตลอดมา แม้ในยามที่บ้านเมืองถูกปกครองด้วยคณะรัฐประหาร แม้ในยามที่สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนถูกทำลายลง แม้ในยามที่กองทัพหรือสถาบันการเมืองที่ไม่ได้มาจากประชาชนมีอำนาจเหนือกว่ารัฐบาลพลเรือน หรือแม้แต่ในยามที่ประชาชนถูกยิงตายกลางเมืองโดยที่ไม่มีใครต้องรับผิด”
พิธาอภิปรายต่อว่า การรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญโดยกองทัพเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2490 ถือเป็นการตอบโต้การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร วุฒิสภาอย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้มาจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 สำหรับสังคมไทย วุฒิสภาจึงไม่ได้มีที่มาจากรากฐานทางประวัติศาสตร์อะไรเหมือนอังกฤษ หรือไม่ได้มีที่มาจากการความจำเป็นของรูปแบบรัฐเหมือนสหรัฐอเมริกา แต่วุฒิสภาของไทยเป็นสถาบันทางการเมืองที่คณะรัฐประหารกับกลุ่มชนชั้นนำจารีตออกแบบมาเพื่อกำกับควบคุมและกดทับอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง โดยหลอกเราในหนังสือเรียนว่าจำเป็นต้องมีวุฒิสภาเพื่อช่วยกลั่นกรองกฎหมาย หรือเพื่อสร้างกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ วุฒิสภาจึงเป็นป้อมปราการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ประชาชนและผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากประชาชนควรถอดรื้อออกไป
“พวกเราถูกฝังหัวมาโดยตลอดว่าปัญหาของการเมืองไทยนั้นเกิดขึ้นจาก ‘นักการเมือง’ ที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เวลาเราจะปฏิรูปการเมืองกัน จึงพุ่งเป้าไปแต่การจัดการกับสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาล ซึ่งได้อำนาจโดยตรงมาจากประชาชน ไม่ปฏิเสธว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งยังมีปัญหาต้องแก้ไขปรับปรุงอีกหลายอย่าง แต่ผมอยากจะบอกว่า นักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอันตรายยิ่งกว่า เครือข่ายนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ เป็นอภิสิทธิ์ชน ประชาชนตรวจสอบไม่ได้ แตะต้องไม่ได้ บางทีวิพากษ์วิจารณ์ก็ยังไม่ได้
“เครือข่ายอำนาจเหล่านี้ฝังตัวอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ อันศักดิ์สิทธิ์ อยู่เหนืออำนาจของประชาชน ไม่ว่าจะในนามความมั่นคงของชาติ ในนามตุลาการภิวัตน์ หรือในนามองค์กรอิสระที่อิสระอย่างสิ้นเชิงจากประชาชน ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่พวกเราควรต้องมาช่วยกันออกแบบระบบการเมืองกันใหม่ ให้อำนาจสูงสุดของประชาชนปรากฏเป็นจริงให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม มีระบบการแบ่งแยกอำนาจและการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจที่มีประสิทธิภาพและยึดโยงกับประชาชน ไม่เช่นนั้นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ร้าวลึกลงเรื่อยๆ ในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ จะไม่สามารถคลี่คลายลงไปได้”
พิธาอภิปรายต่อไปว่า อยากเตือนด้วยความหวังดีว่า เราไม่สามารถปล่อยให้สิ่งที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ฉุดรั้งและกัดกินสังคมไทยต่อไปได้อีกแล้ว เราเหลือเวลาอีกไม่มากนัก ที่จะต้องตั้งหลักกันใหม่ เพื่อช่วยกันพลิกฟื้นสังคมไทยให้พร้อมเผชิญหน้ากับโลกอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เต็มไปด้วยความท้าทายแบบใหม่ๆ
“เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมไม่สบายใจอย่างยิ่งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเข้าชื่อกันมาให้เราพิจารณาในวันนี้ เสนอให้ปฏิรูปที่มา อำนาจ และการตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญด้วย ผมจะไม่อภิปรายถึงเนื้อหาของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพียงอยากจะชี้ให้เห็นว่า ขณะที่เรากำลังพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องการแก้ปัญหาของระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ กันอยู่ คำวินิจฉัยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เหตุการณ์ผู้ชุมนุมถูกยิงด้วยกระสุนจริงเมื่อวานซืน ตลอดจนคำสั่งไม่ให้ประกันตัวคุณรุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) ผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 เมื่อวาน กลับสะท้อนให้เห็นอาการ ‘ลงแดง’ ของระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ
“ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ นี้กำลังมองเห็นประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนคนหนุ่มสาว ว่าเป็นศัตรูของชาติซึ่งจะต้องกำจัดให้สิ้นซาก แทนที่จะมองเห็นพวกเขาเป็นอนาคตของชาติ
“ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ นี้ กำลังทำลายโอกาสและพื้นที่ที่พวกเราสามารถจะแสวงหาฉันทามติร่วมกันได้อย่างสันติ แม้จะไม่ได้เห็นด้วยกันทั้งหมดทุกเรื่อง
“ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ กำลังผลักให้ความคิดและเสียงของประชาชนที่ชนชั้นนำจารีตไม่อยากเห็น ไม่อยากได้ยิน ไปเป็นขบวนการล้มล้างการปกครอง ไปเป็นคู่ขัดแย้งกับสถาบันพระมหากษัตริย์และกลุ่มผู้จงรักภักดี”
พิธาย้ำว่า สภาวะเช่นนี้อันตรายอย่างยิ่งกับสังคมไทย แต่ยังเชื่อว่ายังพอมีเวลาแก้ไขความผิดพลาดในอดีตได้ก่อนจะสายเกินการณ์ จึงอยากเชิญชวนให้เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรช่วยกันยืนยันอำนาจสูงสุดของประชาชน ด้วยการโหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน และอยากเชิญชวนให้ผู้จงรักภักดีตั้งสติเสียใหม่ หยุดผลักให้คนที่คิดเห็นต่างไปกลายเป็นขบวนการล้มล้างการปกครอง แล้วแสดงให้ประชาชนเห็นว่า สังคมไทยสามารถจะรักษาสิ่งที่พวกท่านรักและหวงแหนได้ โดยไม่ต้องทำลายอำนาจสูงสุดของประชาชน
“สังคมไทยยังสามารถจะรักษาสิ่งที่พวกท่านรักและหวงแหนได้ โดยไม่ต้องทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน สังคมไทยยังสามารถจะรักษาสิ่งที่พวกท่านรักและหวงแหนได้ โดยไม่ต้องเอาใครไปขังคุกแบบไม่มีชื่อไม่มีแป แสดงให้เห็นสิครับ แล้วสังคมไทยที่พวกเรารักจะไม่เดินไปสู่ทางตัน” พิธากล่าวทิ้งท้าย