วันนี้ (16 พฤศจิกายน) พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Re-solution และผู้ริเริ่มในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. อภิปรายในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยกล่าวถึงเหตุผลของการสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนว่า ประเทศไทย ณ วันนี้เปรียบดั่งคนป่วยที่มีโรคหรือปัญหาทางสังคม, เศรษฐกิจรุมเร้าไม่น้อย เช่น โรคเศรษฐกิจอ่อนแอ, โรคความเหลื่อมล้ำเรื้อรัง และโรคประชาธิปไตยหลอกหลวง
โดยที่ผ่านมา บุคคลจากหลายฝ่ายพยายามเสนอทางออกหรือยารักษาโรคร้ายเหล่านี้ แต่ทุกครั้งกลับถูกปฏิเสธ เพราะร่างกายของประเทศนี้ถูกครอบงำโดยไวรัสที่ชื่อว่า ‘พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา’
พริษฐ์กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวไม่คิดว่าการทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง ไม่ใช่การรักษาที่ถูกทาง เพราะสิ่งที่น่ากลัวและอันตรายกว่านั้นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบอบประยุทธ์’ ซึ่งหมายถึงโครงสร้างที่ พล.อ. ประยุทธ์ ก่อสร้างขึ้นมาตลอดการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อรักษาผลประโยชน์อำนาจตลอด 7 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งสิ่งเดียวที่ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ยังคงอยู่ในอำนาจต่อได้ แม้ว่าจะบริหารอย่างย่ำแย่แค่ไหนก็คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560
รัฐธรรมนูญฉบับนี้คือสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นฉบับที่ถูกเขียนขึ้นมาโดยคนไม่กี่คน จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และไม่มีการเปิดรับฟังเสียงของประชาชนแต่อย่างใด
พร้อมกันนี้ พริษฐ์ได้กล่าวถึงข้อเสนอ 2 ข้อ กับเหตุผลที่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไว้ ดังนี้
- ยกเลิกระบบ ส.ว. เพราะหลักการดำเนินงานในปัจจุบันขาดความชอบธรรมในหลักประชาธิปไตยและขาดการยึดโยงกับประชาชน
- หยุดวงโคจรแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เหตุเพราะโลกยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยความผันผวน ไม่สอดคล้องหลักความเป็นจริง และมีแต่จะทำให้ประเทศไทยเสียผลโยชน์
ในช่วงท้าย พริษฐ์กล่าวย้ำว่า ข้อเสนอเหล่านี้ไม่ใช่ข้อเสนอที่สุดโต่ง แต่เป็นข้อเสนอที่เป็นปกติในประเทศที่เรียกว่า ประชาชาธิปไตย
“การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อโจมตีใครในฐานะตัวบุคคล เพียงแต่จำเป็นต้องรื้อระบบที่ไม่เป็นธรรมต่อสังคม ไม่ใช่การสนองฝ่ายซ้าย-ขวา แต่เราต้องการสร้างระบบที่เป็นกลางกับทุกความฝัน ระบบที่ทุกคนมีสิทธิและเสียงกำหนดอนาคตตัวเอง ระบบที่ไม่ว่าใครจะมีอำนาจมาก-น้อยแค่ไหนก็ต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นโดยรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระและเป็นกลาง”
“การอภิปรายของทุกท่านในที่แห่งนี้จะถูกจดจำและบันทึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ไม่ใช่ในฐานะการคัดค้านร่าง รธน. ของกลุ่ม Re-Solution แต่จะถูกจดจำในฐานะส่วนหนึ่งของการไม่ไว้วางใจประชาชนผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศนี้” พริษฐ์กล่าวในท้ายที่สุด