×

ศาลฎีกานักการเมือง นัดอ่านคำพิพากษา คดี ‘ปารีณา’ ฝ่าฝืนจริยธรรม 7 เม.ย. 65 มีมติเสียงข้างมาก ห้ามนั่ง กมธ. งบฯ 65 หลังถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

โดย THE STANDARD TEAM
09.11.2021
  • LOADING...
ปารีณา ไกรคุปต์

วันนี้ (9 พฤศจิกายน) ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีครั้งแรก และตรวจพยานหลักฐานในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ฐานฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี 

 

โดยวันนี้ศาลได้ให้ทั้ง 2 ฝ่ายยื่นรายชื่อพยาน และกำหนดวันนัดไต่สวนพยานของฝั่ง ป.ป.ช. ทั้งสิ้น 12 ปาก ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และพยานของปารีณาจำนวน 10 ปากในช่วงเดือนมีนาคม 2565 และกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 7 เมษายน 2565 เวลา 10.30 น. 

 

สำหรับการพิจารณาคดีนัดแรกวันนี้ ศาลฎีกาได้พิจารณาคำร้องเพิ่มเติมอีก 2 คำร้อง โดยคำร้องแรกเป็นคำร้องที่ ป.ป.ช. ยื่นขอให้ศาลพิจารณาว่า หลังจากศาลฎีการับคดีนี้ไว้พิจารณา และสั่งให้ปารีณาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 แต่ปารีณายังคงไปทำหน้าที่ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของสภาผู้แทนราษฎร กรณีดังกล่าวถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลหรือไม่

 

ศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร การทำหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ดังนั้นเมื่อปารีณาได้รับคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมาธิการได้ 

 

นอกจากนี้ ศาลได้พิจารณาคำร้องที่ปารีณาขอให้ศาลพิจารณาว่า กระบวนการยื่นคำร้องของ ป.ป.ช. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ กรณีที่ ป.ป.ช. ไต่สวนคดีจริยธรรมร้ายแรงจากข้อกล่าวหาบุกรุกที่ป่าสงวน โดยไม่ผ่านการวินิจฉัยของคณะกรรมการจริยธรรม สภาผู้แทนราษฎร ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้ตัดอำนาจ ป.ป.ช. ในการไต่สวนความผิดทางจริยธรรมเองได้ กรณีนี้จึงไม่ขัดรัฐธรรมนูญ จึงไม่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงมีคำพิพากษายกคำร้อง

 

ขณะที่ ทิวา การกระสัง ทนายความของปารีณากล่าวภายหลังการพิจารณาว่า กรณีที่ศาลพิพากษาว่าปารีณาไม่อาจปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการได้นั้น ถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ ทำให้หลังจากนี้ ส.ส. ที่อยู่ระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่ จะไม่สามารถทำหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญได้ 

 

แต่กรณีนี้ศาลไม่ได้ชี้ว่าเป็นประเด็นที่มีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ที่ผ่านมาหรือไม่ ดังนั้น ยังถือว่าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณที่ผ่านมา เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนจะต้องคืนเบี้ยประชุมแก่สภาผู้แทนราษฎรหรือไม่นั้น เรื่องนี้ศาลไม่ได้ระบุไว้ แต่เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการพิจารณา เพื่อให้มีผลผูกพันรัฐสภาต่อไป เนื่องจากการเข้าปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการของปารีณา เป็นไปตามมติของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นบรรทัดฐานเดียวกับกรณีของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณ ปี 2564 ทั้งที่อยู่ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว เนื่องจากการเสนอชื่อดังกล่าว เป็นการแสดงชื่อตามสัดส่วนโควตาคนนอก เช่นเดียวกับกรณีของปารีณา 

 

ดังนั้น กรณีนี้จึงไม่ส่งผลทำให้งบประมาณรายจ่ายปี 2565 ต้องเป็นโมฆะ เป็นเพียงแค่การสร้างบรรทัดฐานใหม่เท่านั้น แต่หากมีข้อสงสัยในประเด็นนี้ ควรจะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดเพื่อความชัดเจน เพราะคำวินิจฉัยของศาลฎีกาไม่ได้ผูกพันทุกองค์กร รวมถึงรัฐสภา

 

ขณะที่ปารีณายืนยันว่าเคารพการตัดสินใจของศาล ส่วนจะส่งผลต่อการลงพื้นที่ในช่วงนี้หรือไม่ ยืนยันว่าไม่กังวล เพราะระหว่างที่ตนหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ยังลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X