Star Wars อาจไม่ใช่เพียงแค่หนังอวกาศอย่างที่คิด หากแต่เป็นหนังที่มีส่วนคล้ายกับหนังโบราณคดีอย่าง Indiana Jones อยู่บ้างลองไปดูกัน
หนังอวกาศฮอลลีวูดหลายเรื่องมักมีนักโบราณคดีเป็นทีมลูกเรืออยู่เสมอ เพราะคนพวกนี้มีความสามารถพิเศษในการไขปริศนาเกี่ยวกับอารยธรรมต่างพิภพได้ หรือบางเรื่องก็รู้ภาษาโบราณที่ตายไปแล้วอย่างอียิปต์ (เช่น เรื่อง Stargate ทะลุคนทะลุจักรวาล ก็นับว่าพระเอกเป็นลูกเรืออวกาศแบบหนึ่ง) แน่นอนว่าในหนังระดับตำนานอย่างเรื่อง Star Wars จะพบว่าเหล่าเจไดหลายคนมีความรู้ด้านโบราณคดีเป็นพิเศษ บางคนเรียกพวกเขาว่าเป็น ‘Jedi Archaeologist’ คือนักโบราณคดีเจได
ต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ของ Star Wars เคยดูตอนเด็กๆ และมาดูตอนโตอีกนิดหน่อย แต่ด้วยสายตาแบบนักโบราณคดี ทำให้เวลาดูหนังเรื่องนี้ก็จะใส่ใจกับแง่มุมทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในหนังมาก (ซึ่งทำให้ดูหนังไม่สนุก)
คือถ้าลองสังเกตกันสักหน่อย นอกจาก Star Wars จะพูดถึงสงครามอวกาศในอนาคต การต่อสู้ระหว่างธรรมะกับอธรรม การแข่งขันกันทางอวกาศของมหาอำนาจ (สาธารณรัฐ = อเมริกา, เผด็จการ = โซเวียต) หรือสะท้อนให้เราเห็นอิทธิพลตะวันออก (ญี่ปุ่น) ในตะวันตกช่วงยุค 1970 ในช่วงยุคสงครามเย็น แล้ว หนังเรื่องนี้ยังสัมพันธ์กับกระแสการเติบโตของโบราณคดีที่แผ่ไปทั่วโลกในช่วงยุคสงครามเย็น ซึ่งถือเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการแผ่ขยายอำนาจของอเมริกาไปยังภูมิภาคต่างๆ
นักโบราณคดีเจได
เจไดไม่ใช่แค่อัศวินของสาธารณรัฐที่มีพลังสถิต เชี่ยวชาญการรบ และใช้ดาบเลเซอร์ฟันกันไปเท่านั้นนะครับ หากแต่ถูกฝึกสอนให้มีความรู้ด้านโบราณคดีไปพร้อมกันด้วย (พูดอีกแบบคือรบเป็นและมีความรู้ ไม่ใช่ทหารของบางประเทศ รบเป็นอย่างเดียวแต่ไม่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ดีพอ) ทำให้โดยหลักการ อัศวินเจไดมักจะสวมบทเป็นนักโบราณคดีไปด้วย
โดยพวกเขาจะทำงานให้กับสถาบันโบราณคดีเจได (Academy of Jedi Archaeology) ซึ่งระหว่างปฏิบัติหน้าที่ท่องไปในอวกาศกาแล็กซีต่างๆ นั้น จะต้องศึกษาประวัติศาสตร์ของกาแล็กซี ซากอารยธรรมและโบราณวัตถุต่างๆ เมื่อนักโบราณคดีเจไดพบโบราณวัตถุที่น่าสนใจ ก็จะเอาโบราณวัตถุและข้อมูลที่ได้นั้นมายังหน่วยการศึกษา (Educational Corps) เพื่อเอามาถอดรหัสและตีความข้อมูลด้วย
ความจริงแล้วนักโบราณคดีเจไดมีหลายคน เช่น Jocasta Nu เป็นนักโบราณคดีต่างดาวของพวกเจได โดยทำงานในหอจดหมายเหตุของเจได หรือ Corask Slen’da ที่เป็นถึงหัวหน้าสถาบันโบราณคดี Obroan Institute for Archaeology ทำหน้าที่ในการสำรวจอารยธรรมโบราณของดวงดาวต่างๆ เช่นเดียวกัน
ของวิเศษที่เป็นโบราณวัตถุของซิธ
ด้วยการทำงานโบราณคดีต่างดาว ทำให้มีแผนกพิเศษแยกลงไปเป็นแผนกงาน ‘โบราณคดีมนุษย์ต่างดาว’ (Xenoarchaeology Division) ซึ่งจะมีบทบาทกันมากๆ ในช่วงมหาสงครามซิธ (Great Sith War) เพราะต้องการค้นหาโบราณวัตถุของพวกซิธ (Ancient Sith Artifacts) หรือบางทีเรียกว่าเป็นสมบัติของพวกซิธ ผู้ครอบครองจะได้รับพลังพิเศษ เพื่อตัดหน้าและครอบครองขุมพลังวิเศษก่อนพวกซิธ
ของวิเศษที่ว่าทั้งหมดมี 5 อย่าง ประกอบด้วยสมุดเวทมนตร์ซิธ (Sith Spellbooks) เครื่องรางซิธ (Sith Amulets) กล่องโฮโลโครน (Sith Holocron) และสุดท้ายม้วนคัมภีร์ของพวกซิธ (Sith Scrolls) ซึ่งม้วนคัมภีร์พวกนี้มีอายุเก่าแก่มาก และจดบันทึกโดยลอร์ดซิธในสมัยโบราณ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรู้ ศิลปะ และประวัติศาสตร์
ของหลายอย่างความจริงแล้วเชื่อมโยงกับอารยธรรมอียิปต์โดยตรง ที่ชัดเจนสุดๆ เลยคือกล่องโฮโลโครน (Holocron) ซึ่งทำเป็นรูปทรงแบบพีระมิด คือ ทำเป็นรูปสามเหลี่ยม และมีลวดลายแบบอักษรเฮียโรกลิฟิกส์ (Hieroglyphs) ด้วย
ต้องเข้าใจว่าในช่วงก่อนหน้ายุคสงครามเย็นและสงครามโลกครั้งที่ 2 มีกระแสและการตั้งคำถามว่าพีระมิดสร้างโดยใคร สร้างโดยฟาโรห์ของอียิปต์ หรือจริงๆ สร้างโดยมนุษย์ต่างดาว เพราะว่าด้านหนึ่งคือพีระมิดและรวมถึงอารยธรรมอียิปต์ที่ยิ่งใหญ่และก้าวหน้าเรื่องความรู้มาก แต่อีกด้านหนึ่ง คงเป็นด้านลบ เพราะพวกชาวยุโรปก็ไม่เชื่อในศักยภาพของชนพื้นเมืองสักเท่าไร (คือเป็นปัญหาของ Eurocentrism) ทำให้คิดเกินจินตนาการไปว่าอารยธรรมพวกนี้สร้างโดยมนุษย์ต่างดาว
โบราณสถานตะวันออกในตะวันตก
ความจริงแล้ว ในกลุ่มของพวกซิธเองก็มีนักโบราณคดีเหมือนกัน เพราะทุกคนก็หวังจะครอบครองสมบัติและดวงดาว เช่น ในช่วงยุคสงครามกลางเมืองของเจได (Jedi Civil War) โดย Gal ได้สืบค้นสุสานโบราณในหุบเขาของลอร์ดแห่งความมืด (Valley of the Dark Lords) ซึ่งสุสานในหุบเขานี้เต็มไปด้วยประติมากรรม และสถาปัตยกรรมแบบอินเดียเหนือ บางภาพมีเจดีย์แบบบุโรพุทโธด้วยก็มี เช่น ภาพวาดในสุสาน Ajunta Pall ด้วย
จะว่าไปหุบเขาของลอร์ดแห่งความมืดก็คือการผสมกันกับหุบเขากษัตริย์แบบอียิปต์ เลยทำให้มีพีระมิดที่ปลายหุบเขา ส่วนสถาปัตยกรรมอียิปต์ผสมกับอินเดียเหนือที่เรียกว่า ‘ศิขร’ (แปลว่าภูเขา ทำเป็นอาคารยกสูงคล้ายกับปรางค์ไทย/เขมร) โดยมีประติมากรรมขนาดใหญ่ในหุบเขาแบบศิลปะอียิปต์ โดยมีรูปทรงของประติมากรรมแบบโกธิก
อารยธรรมมายาใน Star Wars
นอกจากนี้ยังมีหลายตัวอย่างที่ปรากฏการณ์นำเสนอเรื่องราวของอารยธรรมโบราณในหนังมหากาพย์นี้ ตัวอย่างเช่น ใน Star Wars: Episode IV A New Hope คงจำกันได้ว่ามีฉากหนึ่งที่เป็นฉากของพีระมิดในอารยธรรมมายา ประเทศกัวเตมาลา ลุคและฮัน โซโล พร้อมด้วยลูกเรือได้นำยาน Millennium Falcon ลงจอดบนดาว Yavin 4 โบราณสถานที่อยู่ในฉากนี้ก็คือ Tikal หมายเลข 1, 2 และ 3 โดยถ้าต้องการเห็นฉากดังกล่าวเราต้องปีนขึ้นไปดูบนโบราณสถาน Tikal หมายเลข 4
สาเหตุที่ผู้กำกับเลือกใช้โบราณสถานของชาวมายาเป็นฉากหลังนั้น การ์เน็ต ฟาแกน (Garnet G. Fagan) นักโบราณคดีได้ให้ความเห็นว่า เพราะโบราณสถานของพวกมายานั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องดาราศาสตร์ ตัวอย่างเช่น การขุดค้นโบราณสถาน Uaxactun กลุ่ม E ได้พบว่าชาวมายาสร้างขึ้นเพื่อใช้สังเกตการณ์เหตุการณ์เกี่ยวกับดวงอาทิตย์
แต่ในขณะเดียวกัน ในช่วงสงครามเย็นนี้ก็เป็นช่วงที่นักโบราณคดีอเมริกันกำลังคลั่งไคล้อารยธรรมโบราณในเขตมายาอเมริกากลาง เช่น มายา แอซเท็ก อินคา กันอย่างมาก ใครหลายคนคงจำได้ว่ามีภาพสลักคนกำลังขี่พาหนะคล้ายยานอวกาศ (Maya Rocket man) ซึ่งสลักอยู่ที่ฝาโลงของกษัตริย์ K’inich Janaab Pakal I ทำให้มีการตีความไปว่าเป็นยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาวกันพักใหญ่ ไม่ว่าจะยังไงก็เลยทำให้เกิดจินตนาการเชื่อมโยงไปว่าอารยธรรมมายานั้นติดต่อกับมนุษย์ต่างดาว เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมหนังเรื่อง Star Wars จึงเลือกโบราณสถานของพวกมายามาเป็นฉากครับ
หาก Star Wars คือโลกจำลองของอาณานิคมตะวันตก นักโบราณคดีเจไดก็คือ นักวิชาการสมัยอาณานิคมใหม่ (Neo-Colonialism) ที่จะพยายามออกไปเรียนรู้ดินแดนต่างถิ่นด้วยความรู้ด้านโบราณคดี เพราะเชื่อกันมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมแล้วว่า การเข้าใจอดีตจะช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของคนในปัจจุบันและอ้างสิทธิความชอบธรรมเหนือดินแดนได้
ดังนั้น วิชาโบราณคดีจึงไม่ใช่ศาสตร์ของการศึกษาอดีตเท่านั้น แต่คือเครื่องมือของอาณานิคมใหม่แบบหนึ่งด้วยครับ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมวัฒนธรรมบ้านเชียงจึงถูกขุดค้นโดยนักโบราณคดีอเมริกัน เพราะส่วนหนึ่งเชื่อว่าการจะเข้าใจคนไทยได้ก็ต้องเข้าใจรากเหง้าทางวัฒนธรรมของประเทศนี้นั่นเอง
ไม่ว่าอย่างไร เชื่อสิว่า เมื่อมีการค้นพบร่องรอยของสิ่งมีชีวิตบนดาวอื่นในอนาคต นักโบราณคดีจะต้องเป็นหนึ่งในทีม และคงไม่ใช่นักโบราณคดีอย่างละครเรื่อง ศรีอโยธยา เป็นแน่
อ้างอิง:
- Fagan, Garnett G., editor. 2006. Archaeological Fantasies: How Pseudoarchaeology Misrepresents the Past and misleads the public. London and New York: Routledge.
- starwars.wikia.com/wiki/Jedi_archaeologist