×

จุดยืนก้าวไกล ม.112 ชี้ไม่แก้ก็ถูกยกเลิก ยืนยันไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จี้ประธานสภาบรรจุวาระประชุมทันที

โดย THE STANDARD TEAM
03.11.2021
  • LOADING...
พรรคก้าวไกล

วันนี้ (3 พฤศจิกายน) ที่อาคารรัฐสภา ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ที่ยังค้างบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภา โดยกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 พรรคก้าวไกลเสนอชุดร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จำนวน 5 ฉบับ ต่อสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย 

 

  1. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ….  

 

  1. ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. …. 

 

  1. ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อสร้างกลไกคุ้มครองประชาชนจากการถูกฟ้อง ‘คดีปิดปาก’ หรือ Anti-SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) Laws  

 

  1. ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อเพิ่มบทลงโทษกรณีเจ้าพนักงานบิดเบือนกฎหมาย ทำให้สามารถเอาผิดเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมที่กระทำการบิดเบือนกฎหมายต่อประชาชนได้

 

  1. ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. .… ซึ่งเป็นการแก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาททั้งหมด ทั้งหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ดูหมิ่นศาล รวมทั้งความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ เพื่อประกันเสรีภาพในการแสดงออกโดยได้สัดส่วนกับการเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของประมุขของรัฐและบุคคลอื่น สอดคล้องกับหลักสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

 

ความคืบหน้าจนถึงวันนี้ ปรากฏว่ามีเพียงร่างกฎหมาย 4 ฉบับแรกเท่านั้นที่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ เพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับสุดท้าย ซึ่งมีการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยนั้น ถูกโต้แย้งโดยสำนักการประชุม สภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามลำดับ ว่ามีบทบัญญัติที่อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่ว่า ‘องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้’

 

ชัยธวัชระบุว่า สาระสำคัญในร่างกฎหมายที่มีการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลนั้น เป็นการย้ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 112 ออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ไปกำหนดเป็นลักษณะความผิดใหม่ คือ ‘ลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์’ เพื่อให้มีความเหมาะสม ทั้งในแง่ของโครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ การยกเว้นความผิด การยกเว้นโทษ และผู้ร้องทุกข์ เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลทั่วไปนำฐานความผิดนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กลั่นแกล้งผู้อื่น หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่มีการแก้ไขเพื่อเพิ่มให้มีบทยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ ที่ระบุว่า ‘ผู้ใดติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด’ และ ‘ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามมิให้พิสูจน์ ถ้าเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์ และการพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน’ ทางสำนักการประชุม สภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรโต้แย้งกลับมาว่าเป็นบทบัญญัติที่อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6

 

“กรณีนี้ พรรคก้าวไกลเคยทำหนังสือชี้แจงสำนักการประชุม สภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว และจะยื่นหนังสือต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและประธานสภาอีกครั้งในวันนี้ เพื่ออธิบายยืนยันว่า เมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญและกฎหมายของไทย ตลอดจนหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญแล้ว ร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลนั้น ไม่ได้มีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 แต่อย่างใด จึงขอให้ประธานสภานำร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ของพรรคก้าวไกลที่ยังตกค้างอยู่ เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น เพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมโดยเร็ว”

 

ทั้งนี้ ชัยธวัชย้ำว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ยื่นเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หากข้อความในร่างมีปัญหาประการใด ย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณา อภิปราย และตรวจสอบตามกระบวนการนิติบัญญัติปกติ

 

พรรคก้าวไกลขอย้ำว่า การจะธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ให้คงอยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถจะบรรลุได้ด้วยการใช้อำนาจกดบังคับ หรือใช้กฎหมายปราบปรามการแสดงออกของประชาชน แต่สถาบันการเมืองใดๆ ในสังคมสมัยใหม่ย่อมดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความชอบธรรมและความยินยอมพร้อมใจจากประชาชน

 

บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ว่า ‘องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้’ นั้น มิได้ดำรงอยู่อย่างอิสระโดยตัวเอง แต่ต้องยึดโยงกับหลักสำคัญที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดไม่ได้ (The King Can Do No Wrong) ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางทางการเมือง ไม่ทรงกระทำการใดในทางการเมืองและในการปกครองด้วยพระองค์เอง ซึ่งจะป้องกันให้องค์พระมหากษัตริย์ปลอดพ้นจากการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน

 

ดังนั้น หนทางที่พวกเราควรทำก่อนจะสายเกินการณ์ ก็คือ การแสวงหากุศโลบายที่สอดคล้องกับยุคสมัย เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนภายใต้ระบบนิติรัฐ ในทางตรงกันข้าม การตีความมาตรา 6 ตามรัฐธรรมนูญที่เกินเลยกว่าตัวบทและเจตนารมณ์ รวมถึงการมีกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีปัญหาทั้งในแง่เนื้อหาและในแง่ของการบังคับใช้ โดยขัดต่อระบบนิติรัฐและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างในปัจจุบันนี้ต่างหาก ที่จะกระทบต่อฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะขององค์พระมหากษัตริย์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้ผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112  ถึงเวลาแล้วที่ผู้มีอำนาจต้องคืนสิทธิในการประกันตัวให้แก่ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 รวมถึงคดีความมั่นคงอื่นๆ และใช้กลไกทางการเมืองในการยุติคดีการเมืองต่างๆ ไม่ควรมีใครต้องอยู่ในคุกเพราะการแสดงออกทางการเมือง ในที่สุดหากต้องนิรโทษกรรมคดีการเมืองเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมก็จำเป็นต้องทำ

 

“ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องตระหนักและเปิดพื้นที่ปลอดภัยในการทบทวนและแก้ไขมาตรา112 เพื่อหาข้อยุติที่แต่ละฝ่ายซึ่งมีความคิดทางการเมืองต่างกันพอจะรับกันได้ พรรคก้าวไกลหวังว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่สภาแล้ว จะได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆ ก่อนที่จะสายเกินการณ์ ไม่มีทางที่เราจะมีการเมืองที่มีเสถียรภาพมั่นคงได้ หากเรายังมีระบบกฎหมายที่ล้าหลัง ไม่เห็นคนเป็นคนเสมอหน้ากัน ไม่มีทางที่เราจะมีเศรษฐกิจสังคมที่เจริญก้าวหน้าและเป็นธรรมได้ หากเรายังอยู่ในรัฐโบราณที่ประชาชนไม่ใช่เจ้านาย ประชาชนไม่ใช่เจ้าของประเทศ” ชัยธวัชระบุ      

 

ในช่วงการตอบคำถามของสื่อมวลชนซึ่งถามถึงเหตุผลในการเสนอกฎหมายนี้ ชัยธวัชกล่าวว่า การตัดสินใจนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของพรรค เป็นเพราะสถานการณ์การเมืองนอกสภาที่มีวิกฤตความขัดแย้งทางความคิด รวมถึงมีการบังคับใช้มาตรา 112 มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นปัญหาทางการเมือง พื้นที่สภาผู้แทนราษฎรจึงไม่สามารถงดเว้นหรือไม่สนใจที่จะนำเรื่องนี้มาอภิปรายได้

 

“การเสนอร่างนี้จะทำให้ความตึงเครียดในสังคมลดลงได้ สามารถยืดหยุ่นหรือแก้ไขให้สอดคล้องสภาพความผิด หรือไม่ใช่ให้ใครก็ได้ไปแจ้งความก็ได้ที่ไหนก็ได้อย่างที่เป็นอย่างนี้ ถ้าทำสำเร็จ ปัญหาทางการเมืองที่เกิดจากมาตรา 112 จะลดลง และจะไม่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลได้เสนอร่างแก้ไขกฎหมายนี้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่กำลังจะถูกกลไกของสภาปฏิเสธโดยอ้างว่าขัดรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่นำเข้าสู่วาระการประชุมเพื่อพิจารณา แต่ดังที่เรากล่าวว่าความเห็นมาตรา 112 มีทั้งคนบอกที่ว่าให้ยกเลิกไปเลย ขณะเดียวกันบางคนก็ว่าไม่ควรยกเลิก หรือเสนอเพิ่มโทษเข้าไปอีก เราจึงเสนอในข้อเสนอตรงกลางที่เชื่อว่าจะสามารถคุยกันได้ และใช้เวทีสภาให้ดีที่สุด เพื่อคุยถึงความแตกต่างทางการเมือง แต่ถ้าสภาไม่เปิดให้คุยถึงปัญหาที่แหลมคม ก็จะไม่นำไปสู่แก้ไข และจะนำไปสู่การยกเลิกในอนาคต” ชัยธวัชกล่าวในที่สุด                 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X