TDRI เผยภาวะโลกร้อนกดดันเศรษฐกิจไทยให้หดตัวลง 43.6% ชี้ไทยควรเร่งเพิ่มความสามารถในการรับมือมาตรการใหม่ๆ ที่ทั่วโลกจะสร้างมากีดกันธุรกิจที่สร้างคาร์บอนสูง แนะรัฐและเอกชนร่วมมือใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวสร้างความยั่งยืน ขณะที่รัฐต้องเป็นตัวอย่างที่ดีสนับสนุนธุรกิจสีเขียว แก้กฎหมายปลดล็อกข้อจำกัด
ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการ TDRI กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ ‘กระบวนทัศน์ใหม่สู่การเติบโตสีเขียว’ จัดโดย TDRI ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่การฟื้นตัว แต่หากมองไปอนาคตเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ ยังถือว่าเป็นความเสี่ยงที่สร้างความกังวลให้กับไทยและประชาคมโลก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทางกายภาพ ทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง จะส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านนโยบายใหม่ๆ และกฎกติกาทางการค้าในหลายประเทศ
โดยมีการคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างมาก โดยหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 3.2 องศาเซลเซียส เศรษฐกิจไทยมีโอกาสหดตัวได้ถึง 43.6% ดังนั้น การรับมือปัญหาประเทศไทยควรเป็น Early Mover เพื่อสร้างโอกาสจากการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
“มีการยืนยันแล้วว่าสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปเป็นผลพวงมาจากการกระทำของมนุษย์ ผลกระทบที่เห็นชัดคือภาวะร้อนสุดขั้วและฝนตกหนัก ซึ่งทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ ปีที่ผ่านมาภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นจนต้องปิดเส้นทางคมนาคม มีการเสียชีวิต เป็นภัยที่ใกล้ตัวเราค่อนข้างมาก หากยังไม่ปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลง ยังดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหมือนเดิม การปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้น จะเกิดผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่อง มีการคาดการณ์ว่าในปี 2100 โลกอาจจะร้อนขึ้น 5 องศาเซลเซียส ประสิทธิภาพการทำงานกลางแจ้งจะลดลง ทำให้เกิดการเสียชีวิตจากความร้อนและโรคระบาด ซึ่งไทยติด 1 ใน10 ประเทศที่ภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ทั้งอุณหภูมิและน้ำท่วม” ชาริกากล่าว
ทั้งนี้ ในการประชุม COP26 ล่าสุดประเทศไทยประกาศเป้าหมายที่จะบรรลุ Net Zero GHG Emissions ในปี 2065 หรือ 44 ปีนับจากนี้ ภายใต้เงื่อนไขการได้รับการสนับสนุนทางการเงินเทคโนโลยี และการสร้างขีดความสามารถในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ชาริการะบุว่า หากไทยปรับตัวเร็ว นอกจากจะช่วยโลกแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มความสามารถการปรับตัวด้านการค้าต่างๆ เช่น มาตรการ CBAM ที่จะมีการปรับราคาของสินค้านำเข้าให้สะท้อนถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่แท้จริงในกระบวนการผลิตสินค้า ซึ่งจะกระทบผู้ส่งออกสินค้าไป EU ในบางภาคเศรษฐกิจ เช่น ซีเมนต์ อะลูมิเนียม เหล็ก เหล็กกล้า ปุ๋ย และถ่านหินที่ปล่อยคาร์บอนค่อนข้างมากจะต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น และในระยะกลางและระยะยาวอาจมีมาตรการที่คล้างคลึงกับมาตรการ CBAM มากขึ้นจากการที่หลายประเทศเริ่มทำ Net Zero Commitment
กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส TDRI กล่าวว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มผลิตภาพการผลิตรวม (TFP) ควรขยายตัว 0.5% ต่อปี เป็นเวลา 20 ปี ซึ่งจะทำได้ด้วยการสร้างมูลค่าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ผ่านการใช้นวัตกรรมและการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ปัจจัยการผลิต แต่การเพิ่ม TFP แบบเดิมจะเน้นใช้ทรัพยากรธรรมชาติฟุ่มเฟือย ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากมองไประยะยาว การขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบนี้อาจจะกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเท่านั้นและไม่ยั่งยืน ดังนั้น ทางออกคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี ด้วยแนวคิดของการเติบโตสีเขียว คือ ทำให้ธุรกิจเติบโตควบคู่ไปกับลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม สำหรับความท้าทายและก้าวต่อไปของธุรกิจสีเขียวนั้น ภาครัฐและเอกชน ประชาชน สามารถมีส่วนร่วมด้วยการกำหนดแนวทางขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกและธุรกิจสีเขียวร่วมกัน ขณะที่ภาครัฐควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้เอกชนและประชาชน เช่น การสนับสนุนโรงแรมสีเขียว การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่สนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือหากอยากเร่งเครื่องการเติบโตสีเขียวให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติได้ ภาครัฐควรปลดล็อกข้อจำกัดกฎระเบียบที่ไม่ยืดหยุ่น เช่น การปรับแก้กฎระเบียบให้เอื้อต่อการซื้อขายพลังงานแสงทิตย์มากขึ้น
นอกจากนี้ยังสามารถส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนและชุมชน ในการนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนการใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น เตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจสีเขียว รวมถึงการนำมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อสนับสนุนธุรกิจสีเขียว เช่น การจูงใจด้วยมาตรการลดภาษี หรือนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อน เพื่อให้ธุรกิจสนใจเข้าวงจรรักษ์สิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกัน ภาคการเงินจะมีบทบาทสำคัญมาก เพราะการนำเทคโนโลยีหรือการสร้างธุรกิจใหม่ต้องใช้เงินทุน หลายสถาบันการเงินเริ่มให้สินเชื่อสีเขียว ตราสารหนี้สีเขียว ซึ่งก็หวังว่าอนาคตภาครัฐจะสนับสนุนให้ต้นทุนเหล่านี้ลดลง เช่นเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ได้ปรับลดค่าใช้จ่ายในการยื่นไฟลิ่ง
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP