×

ปิยบุตร ยกเหตุควรเลิก ม.112 ชี้ปัญหาทั้งตัวบท-การบังคับใช้ วอนสังคมมองเหตุผลความจำเป็น

โดย THE STANDARD TEAM
03.11.2021
  • LOADING...
Piyabutr Saengkanokkul

วานนี้ (2 พฤศจิกายน) ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า จัดรายการพิเศษบนแอปพลิเคชัน Clubhouse และช่องทางเพจเฟซบุ๊กคณะก้าวหน้า ‘หมดเวลา 112 ถึงเวลาคืนอนาคตสังคมไทย’ วิเคราะห์ประเด็นปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จุดยืนของคณะก้าวหน้า และแนวทางการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การรณรงค์สนับสนุนกระบวนการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

 

ปิยบุตรเริ่มต้นด้วยการทบทวนปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยระบุว่า ส่วนตัวแล้วตนยืนยันว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต้องถูกยกเลิกไป เนื่องจากเป็นมาตราที่มีปัญหาทั้งในเรื่องของตัวบท การบังคับใช้ และอุดมการณ์เบื้องหลัง

 

ในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับตัวบท การอยู่ในหมวดของความมั่นคงในราชอาณาจักร ทำให้แนวทางการวินิจฉัยคดีเป็นเรื่องของการควบคุมอาชญากรรมมากกว่าการรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน นำไปสู่ทิศทางที่มักไม่ให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว หรือมีการเรียกหลักประกันชนิดที่สูงมาก

 

ประการถัดมา ในมาตรา 112 เขียนไว้ว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี

 

ประการต่อมา คือการไม่แยกฐานความผิดอย่างชัดเจน ระหว่างหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย ทั้งที่เป็นการกระทำที่ไม่เหมือนกัน แนวทางการใช้จึงปะปนกันไป

 

นอกจากนี้ มาตรา 112 ไม่มีเหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษ เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นการติชมโดยสุจริต หรือการพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่วิจารณ์นั้นเป็นความจริง

 

ปัญหาต่อมาคืออัตราโทษที่สูงถึง 3-15 ปี ซึ่งเป็นอัตราโทษที่สูงเกินไป แม้แต่เมื่อเทียบกับสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ลงโทษไม่เกิน 7 ปี และยังเป็นอัตราโทษหมิ่นประมาทที่สูงที่สุดในโลก ไม่มีที่ไหนสูงเท่านี้อีกแล้ว

 

ที่สำคัญคือการเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษได้ ประกอบกับแนวทางการปฏิบัติที่เจ้าหน้าที่มักไม่ยอมใช้ดุลพินิจ แต่เลือกที่จะสั่งฟ้องไว้ก่อน นำไปสู่การกลั่นแกล้งกันทั้งในทางส่วนตัวและในทางการเมือง รวมถึงยังมีประเด็นเรื่องการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกด้วย

 

ปัญหาประการสุดท้าย คือเรื่องของอุดมการณ์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยกำกับอยู่ ทำให้มีการใช้มาตรา 112 อย่างกว้างขวาง ผิดกับประเทศอื่นที่ไม่ถูกนำมาใช้ หรือหากนำมาใช้ก็มีเพียงโทษปรับเท่านั้น และมาตรา 112 ของประเทศไทยยังเป็นกฎหมายที่มีการตีความอย่างกว้างขวางจนไร้มาตรฐาน ขึ้นกับสถานการณ์ทางการเมืองมากกว่ากระบวนการยุติธรรมด้วย

 

“เราเห็นตัวอย่างกันอยู่บ่อยครั้ง การแสดงออกซึ่งไม่เข้ากรอบความผิดเลย แต่ศาลก็ตีความว่าเป็นความผิด ถ้าอุดมการณ์ที่ฝังรากลึกอยู่ในประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยจริง มาตรา 112 จะมีไว้แต่อาจจะไม่ใช้ก็ได้ มันอาจจะกลายเป็นกฎหมายที่นอนหลับอยู่เฉยๆ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็นคนพูดออกมาในที่สาธารณะเองว่าที่ผ่านมาไม่ใช้ 112 เพราะอะไร เรามองเป็นอื่นไปไม่ได้เลยว่าสุดท้ายแล้ว 112 จะถูกใช้หรือไม่ถูกใช้ขึ้นอยู่กับบริบททางการเมือง อย่างทุกวันนี้ สถิติการดำเนินคดี 112 เกิดขึ้นกว่า 150 กว่าคดีแล้ว นี่แสดงให้เห็นว่า 112 มันไม่ใช่ตัวบทกฎหมายแบบธรรมดา แต่มันจะถูกฟื้นชีวิตขึ้นมาเมื่อไรขึ้นอยู่กับบริบททางการเมืองด้วย” ปิยบุตรกล่าว

 

ปิยบุตรยังกล่าวต่อไปถึงเหตุผลที่ต้องมีการยกเลิกมาตรา 112 โดยระบุว่าในโลกสากลทุกวันนี้ ความผิดที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกเริ่มถูกถอดออกจากความผิดทางอาญาแล้ว เหลือเพียงการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่ง หรือเป็นเพียงโทษปรับทางอาญาเท่านั้น

 

ปิยบุตรระบุว่า ตามหลักปรัชญากฎหมาย การกำหนดโทษในทางอาญาล้วนต้องมีเหตุผลกำกับ และการลงโทษก็ต้องได้สัดส่วน เหตุผลของกฎหมายอาญาคือการรักษาความสงบเรียบร้อยและระเบียบของสังคม เช่น ต้องมีบทลงโทษทางอาญาในเรื่องของการฆ่า ขโมย ล่วงละเมิดทางเพศ เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยตรง

 

แต่สำหรับการหมิ่นประมาทนั้น ยกตัวอย่างตนที่ถูกหมิ่นประมาทเป็นประจำแต่ไม่ติดใจเอาความ รัฐย่อมไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่ควรมายุ่งเกี่ยวอะไรด้วย เพราะไม่ได้มีความกระทบกระเทือนต่อสังคม ผู้ถูกดูหมิ่นควรเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าเสียหายหรือไม่ และเป็นเพียงเรื่องทางแพ่งระหว่างบุคคลกับบุคคลไป

 

บุคคลที่ดำรงตำแหน่งสำคัญของประเทศก็เช่นกัน กระบวนการยุติธรรมบนโลกสมัยใหม่มีแนวโน้มไปในทิศทางว่า ยิ่งดำรงตำแหน่งสำคัญ โดยเฉพาะที่ใช้อำนาจรัฐ ยิ่งต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์และหมิ่นประมาทได้มากกว่าผู้อื่น

 

ปิยบุตรระบุว่า ดังนั้นเหตุผลที่ต้องคุ้มครองตำแหน่งสำคัญของประเทศจึงยิ่งลดน้อยถอยลงไป เรากำลังมาถึงยุคสมัยที่การหมิ่นประมาทไม่ได้ถูกนับเป็นโทษทางอาญาแล้ว แต่เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายต้องไปเรียกร้องเป็นค่าสินไหมทดแทนกันในทางแพ่งเอง

 

“การเอาคนไปขังคุกไม่ควรเกิดจากเพียงการแสดงออก การพูด การเขียน เขาไม่ได้ฆ่าใครตาย เขาไม่ได้เอาเงินใครไป เขาไม่ได้ขโมยของใคร เขาไม่ได้ทำให้สังคมเดือดร้อน เต็มที่ไม่พอใจก็ไปเรียกค่าเสียหายเขา การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของคนไม่ควรจะนำไปสู่การเข้าคุก เรายืนยันใช่ไหมว่าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย? สาระสำคัญที่สุดของประชาธิปไตยคือเสรีภาพในการแสดงออก” ปิยบุตรกล่าว

 

ปิยบุตรยังกล่าวต่อไปด้วยว่า หากเจาะจงไปที่กรณีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือประมุขของรัฐ ก็จะพบว่าหลายประเทศที่มีกษัตริย์มีความผิดฐานนี้แต่แทบไม่ได้เอามาใช้แล้ว หรือที่เอามาใช้ก็ลงโทษแค่ปรับเท่านั้น มีอยู่ประเทศเดียวที่มีปัญหามากหน่อยคือกรณีของสเปน แต่ก็ถูกศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปลงโทษหลายครั้งว่าละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ละเมิดอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนของยุโรป

 

“ดังนั้นทิศทางของโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์หรือประธานาธิบดี มันมีแต่แนวโน้มที่จะยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาท ถ้าไม่ยกเลิกก็ไม่ใช้ หรือถ้าใช้ก็แค่ปรับ เหลืออยู่ไม่กี่ประเทศที่เป็นปัญหา เช่นกรณีของสเปน โมร็อกโก และประเทศไทย แต่ผมยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นสเปนหรือโมร็อกโก เขาไม่ใช้การลงโทษแบบเดียวกับเรา ไม่ใช้การดำเนินคดีร้อยกว่าคดีอย่างประเทศไทยแน่นอน” ปิยบุตรกล่าว

 

ปิยบุตรยังกล่าวต่อไปถึงระดับการจัดการมาตรา 112 โดยระบุว่า ขณะนี้อาจแบ่งได้เป็น 3 แนวทาง คือ 

 

  1. การแก้ไขในตัวบท เช่น การแก้ไขให้ลดโทษ หรือแก้เพื่อเพิ่มเหตุยกเว้นความผิด เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ เป็นต้น

 

  1. กึ่งแก้กึ่งเลิก คือการไปเลิก 112 ทั้งมาตราก่อน แล้วจึงร่างกฎหมายฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ขึ้นมาใหม่

 

  1. การยกเลิกไปเลยอย่างที่มีการรณรงค์อยู่ในขณะนี้

 

ปิยบุตรกล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่กลุ่มราษฎรลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง เพื่อรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 ได้รับการตอบรับทั้งในด้านสนับสนุนและคัดค้าน ซึ่งต้องยอมรับว่าการผลักดันเรื่องที่ทั้งยากและใหญ่ขนาดนี้ ต้องใช้พลังของทุกส่วนในการเข้ามาผลักดันร่วมกันทั้งในและนอกสภา

 

จริงอยู่แม้กฎหมายให้ใช้เพียง 15,000 ชื่อ ก็สามารถเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาได้แล้ว แต่นั่นย่อมไม่เพียงพอ สิ่งที่ผู้รณรงค์ต้องการคือหลักแสนหรือหลักล้านเท่านั้น ที่จะพอมีแรงกดดันให้สภาต้องยอมรับได้

 

“การเข้าชื่อเป็นล้านจะช่วยทำให้เสียงของมหาชนถูกทำให้เป็นทางการ ทำให้มีพลังขึ้นมา ไม่ใช่กระจัดกระจายอยู่บนท้องถนน การรณรงค์รอบนี้จึงมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง ยิ่งมีมากเท่าไรเรายิ่งมีโอกาสชนะ ยิ่งน้อยโอกาสสำเร็จก็มีน้อย พยายามทำให้ฝ่ายที่ไม่อยากแตะต้อง 112 กลายเป็นคนส่วนน้อยของสังคมให้ได้ นี่คือการสร้างฉันทามติในสังคม” ปิยบุตรกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X