ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีในประเทศไทยกำลังเพิ่มดีกรีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลัง ‘บิ๊กดีล’ ที่กลุ่มเอสซีบี เอ็กซ์ ทุ่มเงินกว่า 1.78 หมื่นล้านบาท ดันบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) เข้าถือหุ้นสัดส่วน 51% ใน บิทคับ ออนไลน์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
ขณะที่ก่อนหน้านี้เอง บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอีกหนึ่งราย เปิดระดมทุน Series B และก็ได้ ‘กรุงศรี ฟินโนเวต’ บริษัทในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยาเข้ามาร่วมลงทุนในรอบนี้ด้วยเช่นกัน กลายเป็นว่า ธนาคารพาณิชย์เริ่มกระโจนเข้าสู่ตลาดคริปโตฯ ชัดเจนมากขึ้น
ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งและกรรมการ บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ก่อนอื่นขอแสดงความยินดีกับทุกคนที่ได้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาเป็นผู้สนับสนุน ทำให้ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีกลายเป็นตลาดที่มีผู้เล่นรายใหญ่กระโดดเข้ามาเล่นอย่างจริงจัง ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ระบบนิเวศของคริปโตเคอร์เรนซีในไทยเติบโตไปอีกขั้น
“การที่รายใหญ่กระโดดเข้ามาเล่น แน่นอนว่าจะทำให้การยอมรับจากคนทั่วไปมีมากขึ้น และการพูดคุยกับฝ่ายกำกับดูแลก็จะง่ายขึ้นด้วย”
ส่วนคำถามที่ว่าเคสที่เกิดขึ้นจะทำให้ สตางค์ คอร์ปอเรชั่น เสียเปรียบในแง่การแข่งขันหรือไม่ เพราะปัจจุบันไม่ได้มีธนาคารพาณิชย์หรือผู้เล่นรายใหญ่ร่วมถือหุ้นในบริษัท โดยปรมินทร์กล่าวยอมรับว่า คงทำให้บริษัทต้องหันมาทบทวนกลยุทธ์ทางธุรกิจกันใหม่
“ผมยังไม่ได้มองว่าจะเสียเปรียบในเรื่องการแข่งขัน เพราะแบงก์ในตลาดบ้านเรามีหลายเจ้า แต่สตางค์จะไปทางนั้นเหมือนคนอื่นหรือไม่ เป็นอีกประเด็น”
อย่างไรก็ตาม ปรมินทร์กล่าวย้ำว่า เขาไม่สามารถให้ความเห็นในเรื่องนี้ได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องเป็นไดเร็กชันของบริษัทซึ่งยังมีผู้ถือหุ้นคนอื่นด้วย แต่ถ้าถามความเห็นส่วนตัว การมีธนาคารพาณิชย์ถือหุ้นหรือให้การสนับสนุนก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่เมื่อคู่แข่งขันของเรามีธนาคารพาณิชย์ให้การสนับสนุนกันหมดแล้ว ก็ทำให้เราต้องมาประเมินกันใหม่ เพราะเดิมไม่คิดว่าแต่ละบริษัทจะเปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาร่วมถือหุ้น เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เราก็ต้องมาปรับกระบวนท่ากันใหม่
สำหรับข้อเสียของการมีธนาคารพาณิชย์ถือหุ้นในมุมของปรมินทร์นั้น เขาบอกว่า ถ้าย้อนไปตั้งแต่ช่วงแรกของการเกิดสตาร์ทอัพ เราเกิดมาเพื่อดิสรัปธนาคารพาณิชย์ แต่ประเด็นนี้ก็เข้าใจได้ว่า เมื่อเวลาเปลี่ยนไปสถานการณ์ก็เปลี่ยนตาม ทำให้สตาร์ทอัพส่วนใหญ่ลืมสิ่งที่เคยพูดไว้ในช่วงต้น
“จริงๆ ก็เข้าใจได้ว่า เวลาเปลี่ยนสถานการณ์เปลี่ยน และแบงก์เองก็โดดเข้ามาเล่นเอง กลายเป็นว่าสตาร์ทอัพที่เคยบอกจะดิสรัปแบงก์ก็สู้ยาก ทำให้ต้องหันมาร่วมมือกัน ดังนั้นข้อเสียของการมีแบงก์มาถือหุ้นก็คือ มันไม่เป็นไปในแบบช่วงแรกที่เราเคยพูดกันไว้”
สำหรับข้อดี แน่นอนว่าทำให้ผู้ลงทุนที่ใช้บริการอยู่กับบริษัทมีความมั่นใจมากขึ้น เพราะถ้าเกิดความเสียหายใดๆ ขึ้นมา อย่างน้อยก็จะมีธนาคารพาณิชย์ซึ่งเปรียบเป็นเหมือนพี่ใหญ่ที่มีหน้าตักจำนวนมาก เข้ามารับผิดชอบความเสียหายตรงนั้น ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนเกิดความอุ่นใจ
ส่วนคำถามที่ว่าในช่วงที่ผ่านมามีธนาคารพาณิชย์มาพูดคุยขอร่วมลงทุนกับทาง สตางค์ด้วยหรือไม่ ปรมินทร์กล่าวว่า มีเป็นปกติ แม้แต่ดีลที่เพิ่งจบไปก็มีเข้ามาหารือกับทางบริษัทด้วยเช่นกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เวลาจะลงทุนใดๆ ก็คงต้องดูให้ครบ ลองพูดคุยกับทุกแห่งก่อน แต่ในเวลานั้นเรามองว่ายังไม่มีความจำเป็นหรือต้องรีบเร่งใดๆ
“เชื่อว่าธุรกิจนี้ยังไปได้เรื่อยๆ ยิ่งแบงก์เข้ามาเล่นในตลาดนี้ด้วย ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าตลาดน่าจะเติบโตได้อีกมาก”
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP